Hot Topic!

คดีทุจริตคลองด่าน คนร่วมโกงต้องถูกลงโทษด้วย

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 16,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ - -

 

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิต อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีทุจริตโครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ


ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องจำเลยทุกคน โดยเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยทั้งจำและปรับ


คดีนี้เป็นความผิดเรื่องการฉ้อโกงการซื้อที่ดิน ที่เป็นที่ตั้งโครงการ และฉ้อโกง สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ฟ้องนักการเมือง บริษัทเอกชน และกรรมการบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้สร้างโครงการเมื่อ พ.ศ. 2540 


โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ถูกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงการ จากเดิมที่เป็นโครงการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ แยกเป็นสองพื้นที่ คือที่บางปู กับที่พระประแดง ถูกรวบให้มาอยู่ที่เดียวกันที่คลองด่าน สมุทรปราการ ซึ่งนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น รวบรวมที่ดินออกโฉนดทับที่สาธารณะรวมทั้งสิ้น 1,900 ไร่ นำมาขายให้โครงการไร่ละ 1.1 ล้านบาท จากต้นทุนเพียงไร่ละ 1 แสนบาท


ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกนายวัฒนากับจำเลยอีก 10 คน ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทที่ร่วมสร้างโครงการคนละ 3-6 ปี แต่ในวันที่อ่านคำพิพากษา มีจำเลยมาศาลเพียง 5 คน อีก 6 คน รวมทั้งนายวัฒนาไม่มาศาล จึงถูกออกหมายจับ 


จำเลย 5 คนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว คือ นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งถูกจำคุก 6 ปี นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัท ประยูรวิศว์-การช่าง นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัท กรุงธน เอนยิเนียร์ นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ และนางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 4 คนนี้ถูกจำคุกคนละ 3 ปี 


อีก 6 คนที่หนีคดี นอกจากนายวัฒนาแล้ว ได้แก่ นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัท สี่แสงการโยธา ซึ่งอ้างว่าป่วย ขอเลื่อนฟังคำพิพากษา แต่ศาลเห็นว่า มีพฤติกรรมประวิงเวลา นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ นายชยณัฐ โอสถานุคราะห์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ และนายกว๊อกวา โอเยง ชาวฮ่องกง 


บริษัทที่มีชื่อเป็นจำเลยข้างต้น และกรรมการของบริษัทต้องรับโทษจำคุก ล้วนเป็นบริษัทที่ร่วมกันประมูลสัญญาก่อสร้างโครงการในนาม กลุ่มร่วมค้า NVPSKG ยกเว้น N คือ นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ ที่ถอนตัวออกไปหลังจากชนะการประมูลไม่นาน ที่เหลือคือ บริษัทก่อสร้างที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง ที่เข้าสู่อำนาจผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง 


คดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียมีอยู่ด้วยกัน 3 คดี จบไปแล้ว 2 คดีคือ คดีนี้ และคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลพิพากษาให้จำคุกนายวัฒนา 10 ปี เมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งนายวัฒนาหนีคดีออกนอกประเทศตั้งแต่ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา จนถึงบัดนี้ที่มีโทษจำคุกในคดีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 ปี 


คดีที่ 3 ซึ่งยังไม่สิ้นสุด คือ คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา นักวิชาการกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นข้าราชการผู้รับผิดชอบโครงการ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 จำคุกจำเลยทั้ง 3 คน คนละ 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา คดีนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้ง 3 ได้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 2 ล้านบาท 


นอกจากคดีอาญาแล้ว ยังมีคดีทางแพ่งเกี่ยวเนื่องกับค่าก่อสร้างโครงการ ซึ่งก่อนที่จะถูกระงับโครงการเมื่อ พ.ศ. 2546 การก่อสร้างเกือบจะเสร็จแล้ว มีการจ่ายค่างวดให้กับบริษัทคู่สัญญาไปแล้ว 54 งวด จากทั้งหมด 58 งวด คิดเป็นเงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท


เมื่อโครงการถูกระงับไป เอกชนผู้ก่อสร้าง คือ NVPSKG เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างอยู่อีก 2 งวดพร้อมดอกเบี้ย คิดเป็นเงินประมาณ 9 พันล้านบาท กลายเป็นข้อพิพาทที่ถูกนำเข้าสู่ระบบอนุญาโตตุลาการ


อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า แม้โครงการจะถูกระงับแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังต้องจ่ายค่างวดที่ค้างอยู่ เป็นที่มาของคำว่า “ค่าโง่คลองด่าน” เพราะโครงการสร้างแล้วไม่ได้ใช้ แต่รัฐต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้าง ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ชำระค่าก่อสร้างที่ค้างรวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่บริษัททั้ง 6 รวมเป็นเงิน 9,000 ล้านบาท 


อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง และกรมควบคุมมลพิษ ได้ขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ เพราะมี “หลักฐานใหม่” คือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาทั้ง 3 คดี ที่ชี้ว่า มีการทุจริตซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เพราะโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน 


ปัจจุบันคดีค่าโง่คลองด่านอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 


นอกจากนี้ ยังมีคดีที่คณะกรรมการฟอกเงิน สั่งอายัดทรัพย์ของทั้ง 6 บริษัทเพื่อติดตามเงินค่าก่อสร้างเกือบ 20,000 ล้านบาท ที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายไปก่อนโครงการจะถูกระงับ โดยอ้างคำพิพากษาคดีอาญาเช่นกันว่า เป็นโครงการที่ได้มาโดยมิชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุด ที่ตัดสินว่า บริษัททั้ง 6 ที่ร่วมกันเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิดร่วมทุจริตฉ้อโกงในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน น่าจะมีผลต่อการพิจารณาคดีทางแพ่ง เพื่อทวงคืนเงินค่าก่อสร้างเกือบสองหมื่นล้านบาท ที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายไปแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกานี้ เป็นบรรทัดฐาน และอุทธาหรณ์เป็นความรู้ใหม่ให้ธุรกิจเอกชนที่ร่วมมือกับนักการเมือง ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวงรู้ว่า ถ้าถูกจับได้จะต้องรับผิดตามกฎหมายร่วมกัน ไม่ใช่มีแต่นักการเมือง ข้าราชการเท่านั้นที่ต้องถูกดำเนินคดีเหมือนในอดีต

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw