Hot Topic!

ยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหน้าที่และความรับผิดชอบ

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 09,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส : โดย สารส้ม

 

เกิดประเด็นร้อนแรงในวงการผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรหน่วยงานของรัฐ

 

หลังประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอีกหลายองค์กรของรัฐ ทยอยลาออกจากการเป็นกรรมการ เนื่องจากต้องแจ้งและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

 

ส่วนในแวดวงสาธารณสุข ก็มีข่าวว่า กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) 4 ราย จะยื่นขอลาออกจากตำแหน่ง

 

1. เรื่องเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินในขณะนี้ มี 2 ระดับ ได้แก่ระดับแรก "ยื่น" คือ ยื่นรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.

 

ระดับต่อมา "เปิดเผย" คือ รายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.นั้น จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย

 

ในกฎหมายเดิม และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉบับเดิม กำหนดแค่เพียงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. เท่านั้น ที่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ในกฎหมาย-ประกาศฉบับใหม่ เพิ่มเติมตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ, ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินที่ยื่นให้สาธารณชน รับทราบด้วย

 

โดย "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ตามที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

 

2. "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" จึงครอบคลุมหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระจำนวนมาก

 

บางส่วน จากเดิมแค่ "ยื่น" แต่ตอนนี้ต้อง "เปิดเผย" บัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน

 

ยกตัวอย่างหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา

 

กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

 

ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ ผู้จัดการกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนยุติธรรม กองทุนสงเคราะห์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

 

ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สังกัดของรัฐ นายกสภา กรรมการสภา อธิการบดี รวม 40 แห่ง

 

ผู้บริหารองค์การมหาชน ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คุรุสภา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากร ทางการศึกษา (สกสค.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม สำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ประธานกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ กสทช. ประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

 

ประธานกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ฯลฯ

 

3. ขอสนับสนุนความคิดเห็นของคุณเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการ ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา ที่ว่า "เปิดบัญชีทรัพย์สิน : อย่ากลัวการส่องไฟ"โดยแจกแจงความเห็นสนับสนุนการให้ยื่นและเปิดเผยเป็นข้อๆ ว่า "

 

1. การกำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่ควรทำมานานแล้ว และป.ป.ช. ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2561 ที่ระบุให้ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

2.ผู้ออกมาเคลื่อนไหวในเชิงไม่เห็นด้วยและเตรียมขอลาออกจาก กรรมการเพื่อไม่ต้องการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เป็นนายกและกรรมการ สภามหาวิทยาลัยบางแห่ง ถือเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ในอดีตบางคนเป็นกรรมการฯหลายแห่งวนเวียนไปตามวาระจากแห่งนี้ไปแห่งนั้น (คนดี คนเก่งมีน้อย?) มีรายได้ตอบแทนจากงบประมาณของรัฐหรือไม่

3.รู้หรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีข่าว กรรมการมหาวิทยาลัยบางคนเป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัย เป็นพ่อค้า ผู้รับเหมา มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอาบริษัทของตนเองมาเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยนับสิบสัญญามูลค่านับ พันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีข่าวบริษัทของผู้บริหารบางแห่งเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยด้วย?

4.ประชาคมในองค์กรหรือสถาบันอุดมศึกษา ควรจะมีสิทธิรู้และหรือตรวจสอบทรัพย์สิน ความโปร่งใสของผู้บริหารและผู้กำกับ (ซึ่งมักจะเป็นพวกเดียวกัน?) หรือไม่?

5.นอกจากตำแหน่ง อธิการบดี และรองอธิการฯ ควรกำหนดให้ "คณบดี" สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทุกแห่งยื่นและเปิดเผยบัญชีฯของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะด้วยหรือไม่?

6.สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบันหลายคนได้รับ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยของรัฐต้องยื่นและเปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน บางคนรวยเงียบๆ มีทรัพย์สินนับร้อยล้านบาท ไม่เห็นท่าน เหล่านั้นมีปฏิกิริยาอย่างไรที่ต้องเปิดเผยทรัพย์สิน

7.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงบางคนแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ชอบการทุจริตทุกรูปแบบ ต้องปฏิรูปประเทศทุกด้าน สนับสนุนให้เปิดเผย บัญชีทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แต่พอกฎหมายในเชิงป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กระทบต่อตนเองกลับใช้อีกตรรกะหนึ่งในการอธิบายคัดค้าน ทำให้เห็นว่าภายใต้หลักการเดียวกันใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง (เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่น) ได้ แต่กำลังจะใช้กับคน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้?"

 

4. ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่สะดวกจะยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยตามกฎหมายใหม่ ก็ไม่ควรจะไปว่ากล่าวท่านเหล่านั้น หรือเพ่งเล็งในทางเสียๆ หายๆ ถ่ายเดียว เพราะการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้น แม้จะสุจริต แต่ก็มีภาระต้นทุนการดำเนินการและมีโอกาสจะผิดพลาดโดยสุจริตก็เป็นไปได้ ซึ่งมีผลผูกพันในทางกฎหมาย อาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งบางคนอาจจะไม่พร้อม โดยเหตุที่เข้ามารับตำแหน่งก่อนหน้านี้ ก็เพราะต้องการจะทำงานเพื่อส่วนรวมเหมือนงานอาสาสมัคร แต่เมื่อแก้ไขกติกาใหม่ ค่อยเห็นว่าไม่สะดวกที่จะทำงานต่อไปแล้ว ก็จึงลาออก แบบนี้ จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรจะไปต่อว่าให้เสียหาย

 

ควรให้เวลาในการลาออกไปเสีย แล้วรีบสรรหาคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติและความพร้อมทำงานในตำแหน่งเหล่านั้น ทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายใหม่

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw