Hot Topic!

ภาคประชาสังคมชี้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการมือถือทำผู้บริโภคและรัฐเสียประโยชน์ แนะออกคำสั่งแก้ไขด่วน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 20,2019


เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2562 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง  “ม.44 อุ้มมือถือ:ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า?”  ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอารืไอ)


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง 7 เรื่องที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่งมาตรา 44 ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ดังนี้

 

1.การยืดหนี้การประมูล 4G เป็นการยกผลประโยชน์หมื่นล้านบาทให้แก่ผู้ประกอบการ 3 ราย เพราะไม่มีการคิดดอกเบี้ย ทำให้เงินที่รัฐควรจะได้กลับไม่ได้วันนี้ แล้วยังเป็นการเสียโอกาสทางการเงิน  การที่กสทช.พยายามอธิบายว่าการยืดหนี้ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงแต่ยังคงได้เงินเท่าเดิม จึงไม่จริง  ถ้าเอาดอกเบี้ยมาคำนวณจะพบว่าเงินที่รัฐควรจะได้หายไป แต่เงินที่เอกชนได้จะเพิ่มขึ้น โดยทรูเพิ่มขึ้นมา 8,780 ล้านบาท เอไอเอส 8,380 ล้านบาท และดีแทค 2,580 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 19,740 ล้านบาท


2. บังคับทำ 5G คือการให้อภิสิทธิ์ครองตลาดต่อ สิ่งที่กสทช.บอกว่ารัฐบาลบังคับให้เอกชนทำ 5G นั้นจริง ๆ แล้วเป็นการให้อภิสิทธิ์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย เพราะจะมีสิทธิได้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปให้บริการ 5G โดยไม่ต้องไปแข่งประมูลเลย ตลาดก็จะมีผู้ให้บริการ 3 รายเท่าเดิม  ไม่มีรายใหม่เกิดขึ้นมา เหมือนว่าเอกชนได้ซื้อคลื่น 5G เพื่อผูกขาดตลาดโทรคมนาคมในราคาที่ถูกมาก อีกทั้งไม่มีหลักประกันใดๆว่าผู้ประกอบการจะชำระมูลค่าคลื่นจริง เพราะยังขึ้นอยู่กับปัจจับต่างๆ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของ เลขากสทช. คำสั่งคสช. ให้อำนาจมากมาย เสมือนให้ “เช็คเปล่า” แก่ เลขากสทช.


3.ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ อภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีผู้ถือหุ้นใหญ่ในประเทศสิงคโปร์, นอร์เวย์ และจีน จึงเป็นคำถามว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปอุ้มมหาเศรษฐีไทย และนักลงทุนต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด

4.บริการ 5G เป็นบริการแห่งอนาคต ไม่ต้องรีบร้อนทำ แม้แต่ผู้บริหารเอไอเอสยังบอกว่าเอไอเอสพร้อมแต่5G ยังไม่รีบ ที่ไม่รีบเพราะยังไม่เห็นว่ามีบริการอะไรจะออกมา จึงมีคำถามว่าที่เลขาธิการกสทช.บอกว่าเอา5G ออกมาแล้วจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ มันคือความฝันใช่หรือไม่ ยิ่งถ้าไปดูความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์ 5G ในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่มีใครผลิตอุปกรณ์ 5G ในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์เลย ถ้าได้คลื่นไปแล้วจะทำยังไงต่อ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบด้วยซ้ำ รออีก 2-3 ปี ไม่ช้าแน่นอน


5.การใช้คำสั่ง ม.44 เป็นการขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ และยังอาศัยวันที่ 11 เม.ย. ในการออกคำสั่งซึ่งเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวทำให้ไม่ตกเป็นข่าวมากนัก เพราะถ้าอยู่ๆ รัฐไปยกประโยชน์ให้เอกชนยืดหนี้โดยไม่มีเหตุผลคงต้องเป็นความผิด แต่การใช้มาตรา 44 ทำให้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดได้ 


6.อำนาจดุลพินิจมาก ยิ่งเสี่ยงทุจริตมาก การมอบอำนาจในการกำหนดสาระสำคัญในการปฏิบัติตามคำสั่งให้แก่เลขาธิการ กสทช. โดยปราศจากหลักการที่กำกับการปฏิบัติหน้าที่อันเหมาะสม ผลจึงเป็นการให้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางมากแก่เลขาธิการ กสทช. ว่า จะตีมูลค่าความถี่อย่างไร ระยะเวลาในการชำระจะยืดได้เท่าไรก็ได้ 


7.ผู้เสียหายครั้งนี้คือประเทศและประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเป็นผู้เสียภาษี และในฐานะผู้บริโภคคือเสียโอกาสในการได้รับบริการจากผู้ประกอบการรายใหม่ ในส่วนประเทศ ม.44 ทำให้การกำกับดูแลการโทรคมนาคมในประเทศย้อนกลับไปอยู่ในยุคสัมปทานซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการคาดการณ์ และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างเจ้าสัวผู้มีอิทธิพลต่อไป และทำให้ประเทศไทยห่างไกลไปจากประเทศพัฒนาแล้วเพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลที่บกพร่องอย่างร้ายแรง


“สิ่งที่คสช.ควรทำ คือ ออกมาตรา 44 แก้ไขทบทวนข้อบกพร่องในการดำเนินการครั้งนี้ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชน ผมอยากเห็นคนไทยตระหนัก รู้เท่าทันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐและนายทุน เหมือนสโลแกนที่ว่า คนไทยตื่นรู้ สู้โกง ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ รณรงค์” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว


คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่ง มาตรา 44 ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เพราะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการฝ่ายเดียว ไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเลย อีกทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการถูกถ่ายโอนมาที่ผู้บริโภคด้วย เมื่อผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ได้คลื่น 5G ไปก็ถือเป็นการปิดตลาดไปโดยปริยาย ซึ่งมีการเปิดเผยจากกสทช. ก่อนหน้านี้บอกว่ารัฐจะได้เงินเพิ่มจากกรณีนี้ 40% ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอะไรแต่อย่างใด ซึ่งความเหมาะสมในการทำ 5G ควรทำหลังปี 2020 


“ผู้ประกอบการได้โชคในการขยายเวลา ทำให้ต้นทุนที่ต้องเป็นของบริษัท ถูกผลักมาที่ผู้บริโภค จาก 5 ปี กลายเป็น 10 ปี และยังได้คลื่น 5G ราคาถูก เมื่อเทียบกับ 4G เดิม ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันเลย ขณะที่ 5G ยังไม่มีโครงข่ายและไม่มีอะไรรองรับ  ก็เสมือนการหลอกผู้บริโภค ” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว


คุณบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

คุณบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวสนับสนุนให้ คสช. ออกมาตรา 44 มาแก้ไขคำสั่งเดิม และควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินการแทน เพราะการออกมาช่วยเหลือแต่นายทุนอย่างเดียว โดยผลักภาระทั้งหมดให้ประชาชน ด้วยการยืดหนี้และปลอดดอกเบี้ย โดยในมาตรา 44 ไม่ได้ระบุถึงเลยว่า การดำเนินการดังกล่าว ผู้ใช้บริการมือถือได้รับประโยชน์อย่างไร คือ ไม่มีการพูดถึงภาคประชาชนเลย 


"ช่วงนี้เลือกตั้งเรียบร้อยและกำลังประกาศตั้งรัฐบาล ต้องมีความละอายบ้าง คลื่นที่ประมูลกันเป็นของประเทศชาติไม่ใช่ของรัฐบาล เพราะฉะนั้นควรจะจัดสรรอย่างเป็นธรรม และไม่ใช่เรื่องที่นายกฯ จะต้องไปอุ้มเศรษฐี ซึ่งอาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังจากเรื่องนี้ก็อาจเป็นไปได้ ” นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าว


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า  ม.44 ที่ออกมา มีธรรมาภิบาลหรือไม่ และการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินนั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องและซื่อสัตย์หรือไม่ ซึ่งการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ย่อมมีความคาดหวังว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึง กสทช. และรัฐบาล ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมถูกครอบงำ หรือเป็นเครื่องมือให้กับใคร ซึ่งในคำสั่ง คสช. ระบุว่า ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สุจริต ไม่มีความสามารถชำระเงิน ถือเป็นประเด็นใหญ่ต้องจับตาต่อไปว่า  จากนี้ไปจะมีผู้ประกอบการที่สุจริตและไม่มีความสามารถในการชำระเงินจริงหรือไม่


ทั้งนี้ ดร.มานะ ยังได้เปิดเผยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ที่ระบุผลประกอบการ 4 ปีสุดท้าย โดยพบว่า เอไอเอส มีกำไรสะสม 1.295 แสนล้านบาท มีรายได้รวมกัน 2.79 แสนล้านบาท และกำลังจะมีจ่ายปันผลเป็นเงิน 9.8 พันล้านบาท และยังพบว่า ที่ผ่านมาไม่มีการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสาธารณชนเลยว่า มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่มักให้ข้อมูลเสมอว่า บริษัทมีฐานะมั่นคง ผลประกอบการดี ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2558-2561 มีรายได้เพิ่มขึ้น 9.38% ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการต้องตั้งคำถามต่อไป


ทรู มีกำไรสะสม 10,954 ล้านบาท กำไรต่อปี สูงสุดในปี 2561 จำนวน 7,034 ล้านบาท มีรายได้ขั้นต้น 165,363 ล้านบาท และในปี 2559 มีการระดมทุนเพื่อเพิ่มการลงทุน 4G จำนวน 61,426 ล้านบาท และบริษัทได้แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกิจการดี ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องจนชำระหนี้แก่ กสทช.ไม่ได้


ดีแทค กำไรสะสม 5,725 ล้านบาท มีรายได้ขั้นต้นเกณฑ์เฉลี่ย 2-3 หมื่นล้านบาท/ปี รวมกันราวกว่า 1 แสนล้านบาท และไม่เคยให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผู้ร่วมลงทุนว่า จ่ายเงินให้แก่ กสทช.ไม่ได้


“หากเทียบกับประชาชนแล้วถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนถูกคิดดอกเบี้ย ที่ผ่านมาเคยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารต้องติดคุกเรื่องการแก้ไขสัญญาต่างๆมาแล้ว แต่การแก้ปัญหานี้เป็นการเลี่ยงปัญหาคอร์รัปชัน เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการทำสัญญาโทรคมนาคม และกติกาทางนิติรัฐต่างๆ สิ่งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ส่วนราคาที่กำหนดไม่รู้ว่าคิดราคาเทียบจากอะไร และน่าจะต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวปิดท้าย

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw