Hot Topic!

คู่มือป้องกันการให้สินบน

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 29,2017

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ได้เห็นชอบประกาศใช้ "คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม สำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ" ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558) เพื่อให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลทั้งไทยและต่างประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิดทางอาญาได้ระมัดระวัง พร้อมกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากลในการประกอบธุรกิจ

คู่มือดังกล่าวได้แนะนำแนวทางหลักการพื้นฐาน 8 มาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม

เริ่มตั้งแต่

1) ระดับบริหารสูงสุดต้องมีเจตนารมณ์ กำหนดนโยบายต่อต้านการให้สินบนอย่างชัดเจน
2) มีวิธีประเมินความเสี่ยง โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในกับลักษณะธุรกิจของตน
3) ค่าอำนวยความสะดวก ของขวัญ ค่ารับรองที่เป็นค่าใช้จ่ายสุ่มเสี่ยง ต้องมีระเบียบและแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน
4) การดำเนินมาตรการป้องกันการให้สินบนนอกจากใช้กับบุคลากรของตนแล้ว ยังอาจปรับใช้กับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจด้วย
5) การมีระบบบัญชีที่ดี ถูกต้อง โปร่งใสและมีการตรวจสอบที่เป็นอิสระจะช่วยป้องกันการปกปิดค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ได้
6) การบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีกระบวนการจัดการในทุกขั้นตอนจะช่วยป้องกันการให้สินบน
7) การสนับสนุนการรายงานการกระทำความผิดและมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสจะช่วยสนับสนุน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดความร่วมมือเมื่อพบเหตุน่าสงสัย และ 8) ต้องมีการทบทวน ตรวจสอบและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ เพราะความเสี่ยงอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทว่า ในมาตรการที่ 3 ถูกมองว่านำของใต้โต๊ะให้มาอยู่บนโต๊ะ ง่ายต่อการตรวจสอบ อีกทั้งอาจเกิดกรณี "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" จึงควรกำหนดผลตอบแทนที่เป็นมาตรฐานกลาง มิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ

"งานป้องกัน" ของ ป.ป.ช. เป็นภารกิจที่ต่างกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทำหน้าที่ "จับผิด" ดังนั้น การออกคู่มือแนะแนวทางปฏิบัติ หากภาคเอกชนและผู้ประกอบการตื่นรู้ ให้ความสำคัญ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก็เชื่อว่าจะเกิดความโปร่งใสและความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม อีกทั้งระวางโทษจำคุกและปรับคดีสินบน ควรเพิ่มระดับความเข้มข้นและมาตรการลงโทษทางสังคม เพื่อให้บุคคล นิติบุคคลทั้งใหญ่-กลาง-เล็ก "ได้ไม่คุ้มเสีย" เสี่ยงทำผิดเพื่อประโยชน์จากการได้มาของธุรกิจนั้น.

--สำนักข่าว เดลินิวส์ วันที่ 29 มีนาคม 2560 --