เสวนา

งานเสวนา''ร่วมเขียนกฏหมายต้านโกง ให้ถูกใจคนไทย''

โดย ACT โพสเมื่อ May 09,2017

คนไทยตื่นตัวร่วมร่างกฎหมายต้านโกงเป็นแห่งแรกของโลก 


2 หัวเรือใหญ่ ป.ป.ท. และ ACT จับมือดันคนไทยตื่นตัวร่วมร่างกฎหมายให้คนโกงเลิกได้ใจ เอาผิดจับคนโกงทุกทาง 

การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 63 และเปิดโอกาสให้ประชาชน
ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางมาตรการและกลไกที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมาย ที่จะเรียกว่าเป็น “กฎหมายรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยประชาชน” อย่างแท้จริง

- - กรุงเทพมหานคร 2 พฤษภาคม 2560 - -  
ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 
จัดงานเสวนาเรื่อง “ร่วมเขียนกฏหมายต้านโกง ให้ถูกใจคนไทย” เรื่อง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ม. 63 
นายอนุสิษฐ คุณากร ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กล่าวว่า การทุจริตถูกยอมรับว่ามีความสำคัญจนได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม ในการป้องกัน ตรวจสอบ และป้องปรามได้ จำเป็นต้องมีประเด็นที่จะช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยป้องกันการทุจริต
เป็นสำคัญ เช่น การได้มาซึ่ง สภาวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง ศาลร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน การพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชน
ในการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น 

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมถึงสิทธิของประชาชน ที่สามารถรวมตัวกันจำนวน 15 คน ขึ้นไป เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองปกป้องจากภาครัฐ กรณีมีการชี้เบาะแสการทุจริต 
รวมถึงการจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เป็นต้น 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  กล่าวว่า เดิมมีความเชื่อว่าจะเล่นงานคนโกง ต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็งมีเจ้าหน้าที่เยอะๆ 
มีกฎหมายแรงๆ ลงโทษหนักๆ ถึงขั้นประหารชีวิต ถึงจะกำจัดการโกงคนโกงได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมา การโกงมันซึมลึกทุกพื้นที่ ต่อให้มีกฎหมายที่เข้มแข็งมากแค่ไหน ก็ยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่ได้ 

ดร.มานะ ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมภาคประชาชนถึงขาดความเข็มแข็งในการต่อต้านคอร์รัปชัน นั่นเพราะถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ และ 
ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย กลัว หรืออาจถูกอุ้ม เพื่อปิดปากจนเลิกลาในที่สุด จึงเป็นแนวคิดของกฎหมายป้องกันการ “ปิดปาก” Anti-SLAPP Law  นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่สามารถสืบค้นได้ละเอียดและลึก ในการที่จะสืบเสาะหาความจริงในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใจสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองประชาชนในกรณีของการชี้เบาะแส เป็นต้น
ต่อมาได้มีการจัดกลุ่ม “ร่วมเขียนกฎหมายต้านโกง” เพื่อรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เกี่ยวกับ “ร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเครือข่ายสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและนักธุรกิจ 2. กลุ่มนักวิชาการ 3. กลุ่มเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล และ 4. กลุ่ม ศปท.และหน่วยงานภาครัฐ  จากการทำประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุป 4 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ควรมีองค์ประกอบและสัดส่วนของผู้ที่จะมาร่วมทำงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความสมดุลกัน และ ประชาชนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่รัฐ
2. การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน  มีคู่มือที่ให้นักเรียน ข้าราชการใหม่ ปลูกฝังความคิดเรื่องธรรมภิบาลความหมายของประชาน ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้  
กรณีการชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายต้องมีฤทธ์เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทอย่างจริงจัง และเปิดกว้างให้สามารถตรวจสอบร้องเรียนและติดตามผลได้
3. มาตรการการคุ้มครองและช่วยเหลือ กรณีผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เอกชน ผู้บังคับบัญชาได้ย้ายไปที่อื่น ควรได้อยู่ในระดับเดียวกันและค่าตอบแทนเท่ากัน พร้อมการคุ้มครองปกป้องพยานอย่างเข้มแข็ง เต็มที่ ในทุกช่องทาง 
4. กองทุนรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ควรกำหนดวัตถุประสงค์ และ การบริหารจัดการกองทุนให้ชัดเจน งบประมาณควรมาจากภาษีประชาชน ไม่ผ่านระบบสภา ฯ โดยมีทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาดูแลในสัดส่วนที่เท่ากัน และ ควรให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถนำเงินในกองทุนไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
สรุป การร่างกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นเครื่องมือของประชาชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะกำหนดชัดเจนเท่านี้อีกแล้ว 

วันนี้คือวันเริ่มต้นในการเห็นเครื่องมือของประชาชนในอนาคตที่จะสู้กับการทุจริต เพราะการทุจริตนี้ครอบงำรัฐบาล ครอบงำกลไกของรัฐในทุกระดับจนทำให้เกิดการสูญเสียที่มาจากอำนาจมืด 

ดังนั้นเครื่องมือตัวนี้จะเป็นกฎหมายเป็นตัวคุ้มครองป้องกันประชาชนอย่างแท้จริง