Hot Topic!

ข้อครหาจัดซื้อยุทโธปกรณ์

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 12,2017

- - สำนักข่าว เดลินิวส์ วันที่ 12/07/60 - -
          
กว่า 3 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศแทนนักการเมือง มิอาจปฏิเสธว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยงบประมาณจำนวนมากครบทั้ง 3 เหล่าทัพ "บกเรือ-อากาศ" และทุกครั้งผู้นำรัฐบาล ผู้นำเหล่าทัพต่างประสานเสียงยืนยันความโปร่งใสและความจำเป็นที่ต้องเสริมเขี้ยวเล็บ ขณะที่นักการเมืองก็มัก "เก็บแต้ม" สร้างคะแนนนิยมกับประชาชน ระบุหากนำงบมาช่วยเหลือประชาชนแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะเหมาะสมกว่า
          
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กองทัพบกได้จัดซื้อรถถังจากจีน 2 ครั้ง มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย ประมาณ 5,000 ล้านบาท กองทัพเรือจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ประมาณ 4,000 ล้านบาท และล่าสุดจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3.6 หมื่นล้านบาท และกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นจากสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 16 ลำ โดยได้จัดซื้อระยะแรกไปแล้ว 4 ลำ และครั้งนี้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี จัดซื้อระยะที่สอง 8 ลำ วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาท คงเหลือระยะที่สาม (สุดท้าย) คาดว่าจะขออนุมัติจัดซื้อราวปี 2561 ทั้งนี้ทุกเหล่าทัพต่างย้ำมาตลอดว่างบจัดซื้อเป็นของเหล่าทัพที่บริหารจัดการเอง มิได้ขอเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งฟังดูดี มีความรับผิดชอบ แต่แท้จริงแล้วที่มาของเงินส่วนหนึ่งก็มาจากภาษีของประชาชนนั่นเอง
          
ยอมรับว่า การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของ กองทัพเป็นสิ่งจำเป็นและพึงกระทำเพื่อเฝ้าระวัง ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ มิใช่เพื่อก่อสงครามใช้อาวุธรุกรานประหัตประหารทำลายล้างกัน ปัจจุบันรูปแบบสงครามได้เปลี่ยนเป็นการต่อสู้ครอบงำทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนมากกว่า หากกล่าวถึงในมุมมิติความมั่นคงของชาติแล้ว เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและเข้าใจได้ แต่ทุกครั้งที่มีการจัดซื้อจัดหาครั้งใด ก็มักหลีกหนีไม่พ้นเรื่องความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่นว่าอาจมีการทุจริตประพฤติมิชอบ เงินทอน ค่านายหน้า ค่าคอมมิสชั่น หรือผลประโยชน์ต่างตอบแทน แทบทุกครา
          
จึงเป็นโอกาสและความท้าทาย หาก คสช.รัฐบาล และกองทัพ จะปรับตัว มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างพัฒนาการใหม่ ระบบตรวจสอบ มีหลักประกันความโปร่งใสและความคุ้มค่า ให้งานความมั่นคงเกิดประสิทธิภาพ เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนและของชาติ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและกาลเวลา ซึ่งมิใช่เพื่อคนรุ่นเรา แต่เพื่อคนรุ่นหลัง ทั้งต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (10) ว่า บุคคลมีหน้าที่ "ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ".