Hot Topic!

โมเดลปราบคอร์รัปชัน ต้องแก้จากล่างขึ้นบน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 14,2017

 - - สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ - -

 

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

 

ได้มีโอกาสไปฟังเสวนาวิชาการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชัน 6 ก.ย. 2560 ภายใต้หัวข้อ "รัฐบาลใหม่ ! คอร์รัปชันเก่า ?" ซึ่งจัดโดยองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

          มีข้อมูลของ "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการวิจัยด้าน การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ได้สรุปสถานการณ์คอร์รัปชัน ของประเทศไทยในวันนี้ให้รับฟัง ซึ่ง น่ากังวล และเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะ ตัวเลขจากผลสำรวจเรื่องคอร์รัปชัน ต่าง ๆ นั้นไม่ได้ลดลงเลย ภายใต้รัฐบาลชุด ปัจจุบัน !

 

          โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ในโลก หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ระดับการคอร์รัปชัน มักไม่ได้สูงตามไปด้วย

 

          แต่ข้อมูลปี 2559 พบว่า แม้ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง แต่ คะแนน "ภาพลักษณ์การมีคอร์รัปชัน"กลับสูง ! เกินกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน

 

          แถมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดอันดับ "ดัชนี ภาพลักษณ์การมีคอร์รัปชันของประเทศไทย" หรือคะแนน CPI ไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก หากดูแนวโน้มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คะแนน CPI ของไทยดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่มา "ลดลง" ในปีล่าสุด เมื่อเทียบปี 2558 ที่ไทยได้ 38 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ

 

          หากพิจารณาในรายละเอียดของคะแนน CPI ที่ลดลงเหลือ 35 คะแนน จะพบว่า มาจาก Global Insight Country Risk Rating (GI) หรือ "กลุ่มการดำเนินธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ" ที่ได้คะแนนต่ำลงมาก โดยคะแนนกลุ่มนี้วัดความเสี่ยง จาก "การนำเข้า การส่งออก การทำ สัญญากับรัฐ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ"

 

          อีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันประเมินทัศนคติและความคิดเห็นต่อการทุจริตและคอร์รัปชันในสังคมไทย พบว่า ภาพรวมคนไทยตระหนักถึงปัญหา คอร์รัปชันมากขึ้น จากปี 2553 ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนเห็นเรื่องคอร์รัปชัน เป็นเรื่องใกล้ตัวเพียง 62% แต่ล่าสุดเห็นว่า "คอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัว"ถึง 95%

 

          ในขณะที่คะแนน CPI ของไทยกลับลดลง ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ในเรื่อง "การผูกติดกับกลไกภาครัฐ"

 

          ดร.เดือนเด่นบอกว่า ที่ผ่านมารัฐเน้นเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันจาก "บนลงล่าง" มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมามากมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหน่วยงานองค์กรอิสระ แต่ไม่เคยคิดว่าวิธีการที่ดีกว่าอาจจะให้ "ประชาชนทั้งหมดมีส่วนร่วม" ในการปราบปรามคอร์รัปชัน

 

          มีประเด็นสำคัญมาก 2 เรื่องที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ คือ 1.เรื่องการเปิดเผย ข้อมูล อย่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารมีปัญหามาก ว่ายังไม่มีการปฏิบัติใช้เต็มที่ ทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับข้อมูล ถ้าประชาชนได้รับข้อมูล จะสามารถช่วยตรวจสอบได้ 2.การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในกระบวนการทางนโยบาย กระบวนการออกกฎหมาย กระบวนการตัดสินใจทางนโยบายต่าง ๆ ตอนนี้ ส่วนมากไปเกี่ยวเฉพาะฝ่ายการเงิน และข้าราชการประจำ ส่วนภาคประชาชน ภาคเอกชน องค์กรเอกชนต่าง ๆ ยังไม่มีบทบาทเข้าไปร่วมเท่าที่ควร

 

          ดังนั้น จึงคิดว่าโมเดลการปราบปรามคอร์รัปชันในอนาคตจะ "ต้องเปลี่ยนการแก้ปัญหาจากบนลงล่าง" โดยเน้นหน่วยงานของรัฐ "เป็นล่างขึ้นบน" เน้นภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม !

 

          "ที่ผ่านมารัฐเน้นเรื่องบนลงล่าง โดยตั้งองค์กรอิสระมากมายขึ้นมาตรวจสอบ แต่องค์กรเหล่านี้สุดท้ายมี ข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำงานเหมือนกับ ในระบบราชการ คือ อุ้ยอ้าย ไม่คล่องตัว ที่จะไปจับขโมยได้ ยังติดขบวนการรัฐ แล้วทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ การประสานงานกันไม่ค่อยมี

 

          เรื่องที่สอง รัฐออกกฎหมายขึ้นมาจำนวนมาก แล้วกฎหมายเหล่านั้นมักให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง ในการอนุมัติหรือการพิจารณาอนุญาต หรือให้ข้อยกเว้น

 

          เมื่อปราบคอร์รับชั่นไม่ได้ ก็สร้างองค์กรใหม่ ๆ ในการทุจริตคอร์รัปชัน ออกมาอย่างต่อเนื่อง จากการ "ออกกฎหมายจำนวนมาก" โดยไม่ดูว่ากฎหมายเหล่านี้มีกระบวนการใน "การถ่วงดุล คานอำนาจ" กันอย่างไร มีกระบวนการที่โปร่งใสในการใช้อำนาจดุลพินิจอย่างไร

 

          นอกจากนี้ ดร.เดือนเด่นยังบอก ต่อไปว่า หากเราจะคาดหวังให้รัฐบาลใหม่จะมาปราบคอร์รัปชันได้ คิดว่าคงยาก เราควรจะคาดหวังจากประชาชนมากกว่า ว่าเราจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมา "กดดัน" ให้ภาครัฐทำอะไร

 

          การต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผล ต้องทำกันแบบเครือข่าย ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อ ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าเกิดการเคลื่อนด้วยกัน แรงกดดันต่อรัฐจะมีมาก ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย

 

          ดังนั้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอีก 1 ปี และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พวกเราจะช่วยกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดบทเรียนซ้ำซาก ได้นักการเมือง แบบยุคเก่า ๆ เข้ามากอบโกย ผลประโยชน์ส่วนตัว โกงกินชาติบ้านเมือง !

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO