Hot Topic!

ปราบคอร์รัปชัน 'ถอยหลังลงคลอง'

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 21,2017

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

วรากรณ์ สามโกเศศ

         

ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้อง เชื่อว่าเรากำลังจะมีกฎหมาย ปราบคอร์รัปชันที่อ่อนแอ ลงกว่าเก่าท่ามกลางปัญหา คอร์รัปชันที่รุนแรง และความพยายามที่จะ กำจัดจากรัฐบาล

         

ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ได้ผ่าน วาระแรกโดยที่ประชุม สนช. ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคือการพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2 ภายใน 58 วัน จากนั้นก็พิจารณาวาระที่สามโดยที่ประชุม สนช.และออกมาเป็นกฎหมาย

         

สิ่งที่น่าตกใจว่าจะทำให้การปราบปราม คอร์รัปชันอ่อนแอลงอย่างยิ่งก็คือมาตรา 104 ของร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับใหม่ที่ว่า

         

"เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูล โดยสรุปเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินและที่ตั้งของทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว ข้อมูลโดยสรุป ดังกล่าวต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทาง ทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่จำเป็น หรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด"

         

มาตรานี้แตกต่างจากมาตรา 35 วรรคสองของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ที่บัญญัติว่าบัญชีเอกสารทรัพย์สินของ เหล่าบุคคลข้างต้นให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ต่อสาธารณชนโดยละเอียด

         

ร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับใหม่จึงเปลี่ยน จากการเปิดเผยรายการทรัพย์สินของ บุคคลสาธารณะเหล่านี้ "อย่างละเอียด" มาเป็น "โดยสรุป"  ซึ่งจะทำให้แทบไม่เห็น อะไรเลย การเปิดเผย "อย่างละเอียด" จะช่วยทำให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถร่วมตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอดีตได้นำไปสู่การดำเนินคดีคอร์รัปชันหลายคดี

         

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเข้าดำรงตำแหน่ง ยื่นอีกครั้งเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และอีกครั้ง เมื่อพ้นเวลา 1 ปี การเห็นข้อมูลเช่นนี้โดยสาธารณชนจะเป็นการป้องกันให้บุคคล เหล่านี้ไม่กล้าคิดร้ายต่อชาติ และสามารถ ปราบปรามคอร์รัปชันได้ดีขึ้นเพราะจะเห็น การเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน ยิ่งรายละเอียดปรากฏต่อตาประชาชนมากเท่าใดก็ยิ่งตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น

         

ยุคปัจจุบันของโลกคือยุคOpen Data ประเทศต่างๆ ที่ปราบคอร์รัปชันได้ผลก็ใช้ วิธีการสร้างความโปร่งใสเช่นว่านี้ เพราะความโปร่งใสคือดาบที่คม ความมืดดำมัวๆ คือปุ๋ยของมะเร็งร้าย

         

รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการเรื่อง Open Data มาไกลแล้ว โดยให้เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้งบประมาณของรัฐ ทั้งหมด (ดูแอพพลิเคชั่น "ภาษีไปไหน") ซึ่งเป็นการกระทำเยี่ยงสากล การเปลี่ยนมาเป็น เปิดเผย "โดยสรุป" คือการไม่สนับสนุนนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันของชาติ

         

ผู้สนับสนุนมี 2 ข้ออ้างเพื่อการเปลี่ยนแปลง (1) "การเปิดเผย" อย่างละเอียดเป็นการไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้ยื่น บัญชีทรัพย์สินเหล่านี้ (2) รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียง "เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและ หนี้สิน" เท่านั้น หากให้เปิดเผยโดยละเอียด จะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560

         

ข้ออ้างแรก มองข้ามความจริงที่ว่า บุคคลเหล่านี้คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มิได้ถูกบังคับ ให้มาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจล้นฟ้า (ไม่มีกลุ่มบุคคลใดที่สามารถเพิ่มเงินเดือน เพิ่มอำนาจ ให้นกเป็นไม้ บัญญัติให้สาหร่าย เป็นปลา ฯลฯ ได้เหมือนบุคคลเหล่านี้) ดังนั้นการสูญเสียบางสิ่งเพื่อทำให้บ้านเมืองมีกฎกติกาที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สมควร มันไม่ใช่ เรื่องของบุคคลหากเป็นเรื่องของหลักการ การเสียสิทธิส่วนบุคคลไปบ้างเพื่อสิ่งที่ ยิ่งใหญ่กว่า เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เหมือนที่ เขากระทำกันในประเทศที่ดีอื่นๆ ทั่วโลก

         

ข้ออ้างที่สอง ขอลอกข้อความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาให้อ่านเพื่อจะได้ตัดสินว่าการ "เปิดเผยโดยละเอียด" นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

         

มาตรา 234 ...คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่ และอำนาจดังต่อไปนี้ ...(3) กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส  และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการ ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคล ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต

         

...ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) (2) และ (3)  ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทาง ที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม..."

         

เห็นได้ชัดว่าการ "เปิดเผยโดยละเอียด" นั้นทำได้และไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้การปราบปรามคอร์รัปชัน เดินไปข้างหน้าก็ต้องเขียนลงไปในร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ให้เป็นไปอย่างที่เคย เป็นมา กล่าวคือ "เปิดเผยโดยละเอียด" มิใช่ "เปิดเผยเพียงข้อมูลโดยสรุป"

         

ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของ ปชช. ที่กำลังอยู่ในวาระ 2 ว่า ต่อนี้ไป จะมีการเปลี่ยนแปลงการเปิดเผยข้อมูล ทรัพย์สินของบุคคลผู้มีความสำคัญยิ่ง ต่อประเทศโดยไม่เป็นไปอย่างละเอียด อย่างที่เคยเป็นมา

         

ผมมั่นใจว่าถ้ารู้จะมีคนจำนวนมาก ไม่พอใจเพราะตระหนักดีว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแบบถอยหลังลงคลองโดยแท้

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw