Hot Topic!

ระบบ'อุปถัมภ์' ใหญ่กว่า 'ธรรมาภิบาล'

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 14,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

ดูเหมือนขณะนี้สังคมกำลังเรียกร้องการมี "คุณธรรม" หรือ ที่มักใช้คำว่า "ธรรมาภิบาล"  ของหลายบุคคลที่ตกเป็นข่าวร้อน ไม่ว่าจะเป็นกรณี แหวนเพชร นาฬิกาข้อมือหรู ที่ครอบครองโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้แจ้งบัญชีไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้พล.อ.ประวิตร จะออกมา ระบุว่า ที่ไม่แจ้งบัญชีต่อป.ป.ช.เพราะเป็นทรัพย์สินที่ยืมเพื่อนมา เพื่อนบางคนเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ยากต่อการติดตามข้อเท็จจริง

 

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศ ยังได้เผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างเป็น นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงความเห็นส่วนตัว กับนักเรียนและนักธุรกิจไทย ที่อังกฤษ กรณีนาฬิกาหรู โดยย้ำถึงการแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งระบุว่า "ถ้าเป็นตัวเองแค่เรือนแรกก็ลาออกแล้ว สวนทางกับ"ท่าที"ของพล.อ.ประวิตร

 

ที่ผ่านมา ยังมีเรื่องร้อน กรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ถือหุ้นใหญ่ประธานบริหารและกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัทรับเหมาเบอร์ 1 ของไทย และพวก ที่ถูกแจ้งหลายข้อกล่าวหา ฐานล่าสัตว์ป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนอีกมาก ตามมา ด้วยกระแส "กดดัน" ให้เขาแสดงธรรมาภิบาล หรือ บรรษัทภิบาล (บรรษัท + อภิบาล) ด้วยการ "ลาออก" จากการเป็นผู้บริหารองค์กร ทว่าจนถึงขณะนี้เจ้าตัวหายเงียบเข้ากลีบเมฆ  บ้างก็ว่าหนีไปเมียนมา เรียบร้อยแล้ว

 

แม้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของอิตาเลียนไทย ในหมวดจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ หัวข้อเกี่ยวกับผู้บริหารต่อสังคม ส่วนรวม ระบุไว้ ข้อหนึ่งว่า ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันยังได้กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัย โดยเริ่มตั้งแต่ ตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดเบี้ยเลี้ยง ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจให้ออกจากงาน โดยขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิดนั้น หรืออาจถูกลงโทษตามกฎหมายแล้วแต่กรณี

 

อีกกรณีที่มีการพูดถึงธรรมาภิบาลในอาชีพ เมื่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ออกมายอมรับว่า ได้ยืมเงินจำนวน 300 ล้านบาท จากเสี่ยกำพล หรือนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์-อาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท โดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเงินที่ได้รับผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆที่อาชีพตำรวจคือ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอาชีพที่เป็นเส้นขนาน ไม่น่าจะโคจรมา เอื้อประโยชน์กับธุรกิจสีเทา ถึงขั้นหยิบยืมเงินนับร้อยล้านบาท ท้ายที่สุด แม้พล.ต.อ.สมยศ จะออกมาแสดงความเห็น แต่ยังเลือกที่จะใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว

 

ทั้งนี้ แม้ว่าบุคคลที่ตกเป็นข่าว จะไม่มีผู้ใดแสดงจิตวิญญาณ(Spirit) ความรับผิดชอบต่อสังคม(แม้จะอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา) ตามที่หลายคนคาดหวัง จนเลิกคาดหวังไปแล้ว กับอาการ "เลี่ยงบาลี" หรือ "ขบถด้วยความเงียบ" พ้นจากนี้สิ่งที่สังคมจะพึ่งคาดหวัง คือการทำงานของ "องค์กรกำกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องยึดมั่นในธรรมาภิบาล ขององค์กร ทำความจริงให้ปรากฏ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เช่นนั้นแล้ว สังคมไทยคงเสื่อมถอยเป็นแน่แท้ เพราะแม้แต่ผู้ที่สังคมนับหน้าถือตา ก็ยังไม่อยู่ในกฎ  กติกา มารยาท สะท้อน"ระบบอุปถัมภ์"ในสังคมไทยที่หยั่งรากลึก อย่าได้ถามหา"ธรรมาภิบาล"

 

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw