ประเด็นร้อน

รฟม.เซ็นข้อตกลงคุณธรรม รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ต้องโปร่งใส ไร้ทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 22,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ - -

 

รฟม.ลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการที่ 2 ยันความโปร่งใส เป็นธรรม ไร้การทุจริตคอร์รัปชัน 


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยมีนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นสักขีพยาน ระหว่าง รฟม. กับผู้สังเกตการณ์ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งนับเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โครงการที่ 2 โดย รฟม.ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นครั้งแรกในปี 2559


ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่เห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและเกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ และมอบให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการหรือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบเฝ้าระวังเพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ของ รฟม.ถือว่าเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการจัดจ้างในมูลค่าสูงและมีผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์สาธารณะ


การนำระบบข้อตกลงคุณธรรมฯ มาใช้ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของ รฟม.ในการที่จะดำเนินงานโครงการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีแผนกำหนดจะเปิดให้บริการภายในปี 2567

 

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม คือจะมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างและร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ โดยหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการและผู้สังเกตการณ์ลงนามในข้อตกลงร่วมกันก่อน เพื่อให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่การร่างขอบเขตของงาน (TOR) และเมื่อมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างก็ให้ผู้เข้าร่วมเสนอราคาลงนามในข้อตกลงคุณธรรมต่อไป

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw