ประเด็นร้อน

คลื่นสินบน

โดย act โพสเมื่อ Feb 15,2017

  คดีสินบนโรลส์ รอยซ์ กับการบินไทย และ ปตท. ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่คดีสินบนอื่นๆก็เริ่มทยอยถูกเปิดโปงออกมา เพิ่มอีก 5 คดี

 

1.       สินบนสายเคเบิล

 เอเจนซี - บริษัท เจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายเคเบิลและสายไฟฟ้าในรัฐเคนตักกี ยอมจ่ายค่าปรับให้แก่ทางการสหรัฐฯ กว่า 75 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนคดีจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ เช่น แองโกลา บังกลาเทศ จีน อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายป้องกันการคอร์รัปชันในต่างประเทศ (FCPA) ของสหรัฐฯ 
       

      เลสลี อาร์. แคลด์เวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แผนกคดีอาชญากรรม แถลงเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ว่า “เจเนอรัล เคเบิล ได้จ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายในประเทศ โดยผู้บริหารระดับสูงก็มีส่วนรู้เห็น จนทำกำไรได้มากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก... อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ยอมเปิดเผยการกระทำอันมิชอบให้รัฐบาลทราบ ตลอดจนให้ความร่วมมือและแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะร่วมมือกับอัยการและพนักงานสอบสวน และยังสะท้อนเจตนารมณ์ของเราที่จะธำรงไว้ซึ่งความโปร่งใส”
       
       ข้อตกลงยุติคดีความให้รายละเอียดไว้ว่า พนักงานและผู้บริหารระดับสูงของ เจเนอรัล เคเบิล บางคน รวมถึง “ผู้บริหาร A” (ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในบริษัท Phelps Dodge International (Thailand) Ltd. หรือ PDTL) รับรู้ว่าสาขาของบริษัทในต่างประเทศมีการว่าจ้างกลุ่มบุคคลที่ 3 และผู้กระจายสินค้าให้จ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในบางประเทศ เพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ 
       
       เจเนอรัล เคเบิล ซึ่งทำธุรกิจในบังกลาเทศ อินโดนีเซีย และไทยผ่านทาง PDTL ได้ใช้วิธีติดสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างปี 2010-2014 ยกตัวอย่างกรณีที่ PDTL ได้จ่ายเงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์แก่บริษัทรับส่งสินค้าในอินโดนีเซีย 2 แห่ง ทั้งๆ ที่ทราบว่าเงินส่วนหนึ่งจะถูกนำไปจ่ายในทางที่ผิดกฎหมาย
  

       แผนจ่ายเงินใต้โต๊ะนี้ยังถูกเจรจาผ่านอีเมลอย่างเปิดเผย ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2555 (ค.ศ. 2012) พนักงานขายคนหนึ่งในบังกลาเทศได้ส่งอีเมลถึงผู้บริหาร A โดยแจ้งว่าเงินส่วนหนึ่งที่บริษัทสาขาในไทยจ่ายให้แก่ตน “จะถูกแบ่งให้แก่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจฝ่ายลูกค้า, เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวง และผู้บริหารระดับสูงบางคนที่ร่วมประมูล” ต่อมาในเดือน พ.ค.ปี 2013 ผู้บริหาร A ก็ได้อนุมัติจ่ายเงิน 43,700 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่พนักงานขายคนดังกล่าว
       
       PDTL ยังได้จ่ายเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้กระจายสินค้าในไทยรายหนึ่งในช่วงปี 2012-2013 โดยทราบดีว่าเงินบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในทางทุจริตเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐวิสาหกิจไทย 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
       
       ในช่วงปี 2011 ผู้บริหาร A ได้แสดงความกังวลต่อผู้บริหารระดับสูงของ เจเนอรัล เคเบิล ซึ่งกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศว่า ค่าคอมมิชชันที่จ่ายให้แก่ผู้กระจายสินค้าในไทยกำลังถูกใช้ไปในทางมิชอบ แต่ถึงกระนั้น เจเนอรัล เคเบิล ก็ไม่ได้ตรวจสอบระบบควบคุมบัญชีภายในบริษัทเพื่อยับยั้งการทุจริต และการจ่ายสินบนลักษณะนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป
       
       เงินราว 13 ล้านดอลลาร์ที่บริษัทสาขาของ เจเนอรัล เคเบิล จ่ายเป็นค่าคอมมิสชันให้แก่กลุ่มบุคคลที่ 3 และผู้กระจายสินค้า และถูกนำไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐด้วยนั้น ช่วยให้บริษัททำกำไรสุทธิถึง 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
       เจเนอรัล เคเบิล ได้ทำข้อตกลงยุติคดีความกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โดยยอมจ่ายค่าปรับรวมทั้งสิ้น 20,469,694.80 ดอลลาร์ พร้อมสัญญาว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับพนักงานสอบสวนและอัยการ
       
       สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (SEC) ยังได้มีคำสั่ง cease and desist (ห้ามมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป) ไปยัง เจเนอรัล เคเบิล ซึ่งบริษัทยินยอมที่จะชดใช้เงินให้ SEC เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด (disgorgement) จำนวน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมกับวงเงิน 20 ล้านดอลลาร์ที่กล่าวไปข้างต้น ค่าปรับทั้งหมดที่ เจเนอรัล เคเบิล ต้องจ่ายเพื่อยุติคดีนี้จึงอยู่ที่ราวๆ 75.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

 2.สินบนสุราข้ามชาติ

เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยแพร่การดำเนินคดีกับ "บริษัท ดิอาจีโอ บีแอลซี" ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสุรารายใหญ่ของอังกฤษ แต่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พบว่า บริษัท ดิอาจิโอ ได้ละเมิดกฎหมายเอฟพีซีเอของสหรัฐฯ ด้วยการติดสินบนหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย

การติดสินบนในประเทศไทยเกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงกลางปี 2552 ผ่านตัวแทนจำหน่ายสุราในประเทศไทย โดยจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองหนึ่ง และเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 24 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายตรง 49 ครั้งให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐบาล เป็นผู้อำนวยการ เพื่อแลกกับการล็อบบี้เจ้าหน้าที่ในคดีความด้านภาษี และศุลกากรมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนนี้ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในสมัยนั้น

 

3.สินบนระบบรักษาความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังสั่งลงโทษ บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทผู้ขายระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นมูลค่ากว่า 26.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,072 ล้านบาท จากข้อหาละเมิดกฎหมายเอฟซีพีเอ โดยพบว่ามีการติดสินบนในประเทศไทยด้วย โดยเกิดขึ้นระหว่างปี 2547-2548 โดยเป็นการติดสินบนผ่านบริษัทลูกในประเทศไทยซึ่ง "ไทโค " ถือหุ้นอยู่ 49% ซึ่งจ่ายเงินให้กับที่ปรึกษารายหนึ่ง มูลค่า 292,286 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยเกือบ 12 ล้านบาท ในโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นค่าที่ปรึกษา ทำให้บริษัทลูกในประเทศไทยได้กำไรจากโครงการนี้ เป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 35 ล้านบาท
และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บริษัทลูกของไทโคในไทย ยังจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับ "ที่ปรึกษาคนหนึ่ง" เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการติดตั้งกล้องวิดิโอวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในรัฐสภาไทยด้วย จากการจ่ายสินบนเหล่านี้ ทำให้ "เอดีที ประเทศไทย" ได้รับกำไรจากโครงการต่าง ๆ เป็นมูลค่าราว 473,262 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19 ล้านบาท

 

4.สินบนซีซีทีวีรัฐสภา


ประธานกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสินบน cctv เผย พบโครงการปี 2548 ไม่อยู่ในแผนงาน จ่อขอข้อมูลการจ่ายสินบนจากสหรัฐ

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสินบนกล้องวงจรปิดรัฐสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบ พบว่า การติดตั้งกล้องวงจรปิดในปี 2548 ไม่ได้อยู่ในแผนงานแต่เป็นการใช้งบประมาณของปลายปี 2547 ผูกพันข้ามปี 2548-2549 ซึ่งเป็นความประสงค์ของประธานรัฐสภาในขณะนั้นที่ต้องการให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้กรรมาธิการเพื่อถ่ายทอดการประชุม ส่วนโครงการในปี 2552 ดำเนินการตามแผนงานประจำปี

พลอากาศเอก วีรวิท ยังเปิดเผยอีกว่า ในรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ชี้ว่ามีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในไทยจำนวน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับผู้แทน ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ง. เพื่อขอทราบเจ้าหน้าที่ที่รับเงินจากสหรัฐ ฯ เพราะทางสภาไม่สามารถขอข้อมูลโดยตรงจากสหรัฐ ฯ ได้ พร้อมกันนี้จะประสานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อขอดูความเคลื่อนไหวทางการเงินผ่านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ต่อไป

ทั้งนี้ในปี 2547 นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา และ ในปี 2548 นายโภคิน พลกุล เป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้น

 

5.สินบนเครื่องมือแพทย์

 

บริษัท เครื่องมือแพทย์ สหรัฐฯ สารภาพ จ่ายสินบนให้ไทย ช่วงปี 2550-2553 ราว 24 ล้านบาท

กระทรวงยุติธรรม ของประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 บริษัท Bio-Rad ยอมรับข้อเสนอจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาและแพ่ง ในคดีจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศรวมถึง รัสเซีย เวียตนาม และไทย

รายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัท Bio-Rad ขายอุปกรณ์ตรวจค่าต่าง ๆ ในโลหิต ผ่านบริษัท Daimed Thailand ซึ่งขายต่อให้ตัวกลางก่อนถึงโรงพยาบาลรัฐ โดยตัวกลางรับส่วนต่าง 13% เก็บไว้เอง 4% และจ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ 9%

ระหว่างปี 2007-ต้นปี 2010 (พ.ศ.2550-2553) บริษัท Diamed Thailand ได้จ่ายค่านายหน้าทั้งหมด 708,608 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านบาท) ขณะที่บริษัททำเงินจากการค้าครั้งนี้ถึง 5.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายให้นายหน้าไม่ได้ถูกระบุรวมไปกับบัญชีการทำการค้าระหว่างประเทศ

 

ข่าวเพิ่มเติม

http://www.thairath.co.th/content/855502

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9600000007344

http://www.posttoday.com/politic/477318

 

ขอขอบคุณ  : ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 goo.gl/pSr5Uz

ขอขอบคุณภาพ

: tnews.teenee.com

 

: manageronline

: Tnews