ประเด็นร้อน

ขมวด 11 คดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ ยังไม่ถึงไหน-วัดฝีมือองค์กรตรวจสอบไทย?

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 20,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก อิศรา - -

 

“…ต้องไม่ลืมว่า บางคดีใกล้หมดอายุความแล้ว หากไม่เร่งรีบดำเนินการ อาจทำให้คดีขาดอายุความและไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดรายใดได้ เหมือนกับหลายคดีที่ ป.ป.ช. ปล่อยปละละเลยจนทำให้คดีหมดอายุความไปแล้วก่อนหน้านี้ นับเป็นเรื่องที่ ‘วัดฝีมือ’ องค์กรอิสระปราบโกงเบอร์หนึ่งอย่าง ป.ป.ช. ว่า จะ ‘ล่าตัว’ ผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ ?...” 


นับตั้งแต่เริ่ม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา คดีทุจริตเกี่ยวกับการติดสินบน ‘ข้ามชาติ’ กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) เปิดเผยข้อมูลการเปรียบเทียบปรับ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย


เฉพาะประเทศไทย มีคดีทุจริต-สินบนข้ามชาตินับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เท่าที่มีการเปิดเผยประมาณ 7 คดี และหากนับรวมในช่วงต้นปี 2560 ที่หน่วยงานต่างประเทศออกมาเปิดเผยข้อมูลคดีสินบนข้ามชาติล็อตใหม่อีกประมาณ 4 คดี


รวมทั้งสิ้นประมาณ 11 คดี


ไล่เรียงมาตั้งแต่ ติดสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์-จัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบิน-อุตสาหกรรมพลังงาน-ภาษีสุรา-เวชภัณฑ์ยา-ใบยาสูบ จนมาถึงกล้องซีซีทีวีเลยทีเดียว ! 


ร้อนถึงหน่วยงานปราบโกงหลักอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกับตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวมข้อมูลเรื่องนี้โดยเฉพาะ !


เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยมีประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนราชการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ตลอดจนเร่งรัดติดตามและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


(อ่านประกอบ : ป.ป.ช ตั้งคณะ กก.เร่งรัดคดีสินบนข้ามชาติ-สั่งลุยหาข้อมูลกรณีไบโอ-ราด)


สำนักข่าวอิศรา รวบรวมให้ทราบกันอีกครั้งชัด ๆ ดังนี้


หนึ่ง คดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ 60 ล้านบาท


ต้นปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน สองนักธุรกิจสหรัฐฯ ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. โดยปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน กักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลล่าร์ (ราว 8 ล้านบาท) 


ส่วนในไทย สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงนางจุฑามาศ และบุตรสาว ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับกรณีดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลจากเอฟบีไอ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พร้อมกับเส้นทางการเงินของนางจุฑามาศ ที่นำไปฝากต่างประเทศ จนในช่วงปี 2554 คณะกรรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ และบุตรสาว เรียกรับสินบนจาก สามี-ภรรยานักธุรกิจสหรัฐฯประมาณ 1.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 60 ล้านบาท) แต่คดียังมีข้อไม่สมบูรณ์จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และฝ่ายอัยการ กระทั่งปลายปี 2557 จึงสรุปผลและส่งเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาลอาญา โดยศาลนัดไต่สวนนัดแรกไปแล้วช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา นอกจากนี้นางจุฑามาศ ยังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติด้วย หากพบว่าผิดจริง จะถูกยื่นฟ้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไป


(อ่านประกอบ : “อดีตผู้ว่าฯ ททท.”ลุ้นอีก! ป.ป.ช.ลุยสอบรวยผิดปกติปมรับสินบน 60 ล., อสส.นำ“อดีตผู้ว่าฯ ททท.-บุตร”ฟ้องศาลอาญา ปมรับเงิน 60 ล.จัดเทศกาลหนัง, อสส.สั่งฟ้อง! “อดีตผู้ว่าฯ ททท.”ปมเรียกรับเงิน 60 ล.จัดงานเทศกาลหนัง, คณะทำงานร่วมฯส่งหลักฐานจากสหรัฐเพิ่ม!ชงอสส.ฟ้อง"จุฑามาศ"รับสินบน 60 ล., คณะทำงานร่วมฯสอบ 3 ปีชง อสส. ฟ้องอดีตผู้ว่าฯททท.รับสินบน 60 ล.)


สอง คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนเอื้อประโยชน์บริษัททำเหมืองแร่ข้ามชาติ


ประมาณปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในไทยด้วย


ต่อมา มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในคดีนี้ ล่าสุด มีการเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 13 ราย เข้าไปพัวพันกับการกล่าวหาว่า ได้รับเงินสินบนจากบริษัทข้ามชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการขุดเหมืองแร่ทองคำ


เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา พร้อมเปิดเผยชื่อบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนให้สินบนด้วย คือ กลุ่มบริษัท คิงส์เกต


โดยข้อกล่าวหาดังกล่าว ระบุว่า ระทำความผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามนัยมาตรา 66 และมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ 

ขณะที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัททำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัท คิงส์เกตฯ ถือหุ้นใหญ่สุดร้อยละ 48% 


(อ่านประกอบ : ‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่, ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ)


สาม คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนจากเอกชนข้ามชาติ เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจสอบระเบิด (CTX) ในสนามบินสุวรรณภูมิ


คดีนี้เกิดขึ้นช่วงปี 2548 (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 2) โดยสื่อไทยเปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) ตรวจพบการติดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐของบริษัท อินวิชั่น หรือ InVision สัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งประกอบธุรกิจออกแบบ และผลิตระบบการตรวจสอบวัตถุระเบิดเพื่อติดตั้งในท่าอากาศยาน ถูกกล่าวหาว่า มีการติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ ส่วนในไทยพบว่า มีความพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย แต่ยังไม่ทันทำเสร็จ ถูกสื่อมวลชนสหรัฐฯขุดคุ้ยขึ้นมาเสียก่อน


โดยการจัดซื้อ CTX เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลนายทักษิณ (ทักษิณ 1) จากบริษัท อินวิชั่น โดยเจ้าของเรื่อง บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทร่วมทุน ITO (บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ, บริษัท ทาเคนากะฯ, บริษัท โอบายาชิฯ) ให้จัดสร้างสนามบินแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จครอบคลุมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปี 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดซื้อ


ทั้งนี้ในขั้นตอนการสอบสวนบริษัท อินวิชั่น ยอมรับว่า รู้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวแทนจำหน่ายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใน 3 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน เพื่อให้จัดซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบวัตถุระเบิดของบริษัท และนำไปติดตั้งประจำท่าอากาศยานต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ โดยในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ ได้มีการจ่ายเงินสินบนแล้ว ส่วนประเทศไทยพบว่ามีความพยายามที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ทันจะจ่าย ก็ถูกตรวจพบเสียก่อน


ในผลการสอบสวน บริษัท อินวิชั่น ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่นายวี ซุคกี ตัวแทนจำหน่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีความตั้งใจจะใช้เงินซึ่งเกิดจากส่วนต่างของราคา ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย แต่ขณะที่มีการเตรียมควบรวมกิจการ การสอบสวนดังกล่าวอยู่ในช่วงที่การจ่ายเงินสินบนยังไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้กับใคร เป็นจำนวนเท่าไร แต่การเตรียมการเหล่านี้ ทางการสหรัฐฯ ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากบริษัท อินวิชั่น รู้เห็น แต่ไม่มีการคัดค้าน


โดยบริษัท อินวิชั่น ยอมสารภาพความผิดทั้งหมด และต้องยอมจ่ายเงินค่าปรับกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ ในคดีที่ถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ฟ้อง และต้องยอมจ่ายค่ายอมความอีก 800,000 ดอลลาร์ ในอีกคดีที่ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฟ้อง เพื่อแลกกับการยุติคดี (อ่านประกอบ : http://thaipublica.org/2012/09/ctx-1/)


ต่อมาภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปไต่สวนด้วย ก่อนจะส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอยู่ 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ กรณีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม รวมถึงข้าราชการระดับสูงใน บทม. และบริษัทเอกชนรวม 25 ราย จัดซื้อเครื่องในราคาแพงเกินจริง และ บทม. เป็นนายหน้าในการจัดซื้อเครื่อง CTX และกรณีข้าราชการระดับสูงใน บทม. พัวพันกับการรับประโยชน์หรือรับสินบนจากบริษัทนายหน้าขายเครื่อง CTX ดังกล่าว ระหว่างเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ


โดยเมื่อปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับสำนวนการไต่สวนมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำทีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ตั้งแต่ช่วงปี 2549 มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีกล่าวหา นายทักษิณ นายสุริยะ กับพวกรวม 25 ราย ในฐานจัดซื้อเครื่องแพงเกินจริง และ บทม. เป็นนายหน้าซื้อเครื่อง CTX และกรณีกล่าวหาข้าราชการระดับสูงใน บทม. พัวพันกับการรับประโยชน์หรือรับสินบนจากบริษัทนายหน้าขายเครื่อง CTX ดังกล่าว ระหว่างเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก ทั้งหมดแล้ว


สี่ กรณีเอกชนผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย


เมื่อประมาณปี 2554 เอสอีซี เผยแพร่รายงานระบุว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น สก็อตช์วิสกี้ยี่ห้อ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ และ ‘วินเซอร์’ ยอมจ่ายค่าปรับกว่า 492 ล้านบาท ในข้อหาจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ รวมถึงไทยผ่านบริษัท DT (Diageo Moet Hennessy Thailand) เป็นเงินกว่า 5.9 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 18 ล้านบาท) ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง เม.ย. 2547-ก.ค. 2551 เดือนละ 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/เดือน รวม 49 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยดังกล่าว เคยนั่งเก้าอี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย


จากการสืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี พบว่า ในช่วงปี 2547-2548 (สำนักข่าวอิศรา : รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 และ 2) นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และกระทรวงการคลัง มีแนวคิดปรับปรุงภาษีสุรา และภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยมีการปรับโครงสร้างภาษีสุราใหม่ และมีการเก็บอัตราภาษีสุราตามดีกรีด้วย 


ขณะเดียวกันกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอย่างน้อย 2 สำนวน โดยสำนวนแรกมีอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทยคนแรก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เป็นผู้ถูกกล่าวหา อีกสำนวนหนึ่งมีการกล่าวหาข้าราชการการเมือง แต่ไม่ระบุรายชื่อ


นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีเลี่ยงภาษี โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปดำเนินการเมื่อปี 2554 อย่างไรก็ดีกรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องภาษี มีมติให้ดิอาจิโอฯจ่ายค่าปรับประมาณ 3 พันล้านบาท ทว่าดิอาจิโอฯ ทำหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีนี้ โดยขอจ่ายเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า ดิอาจิโอฯ ได้จ่ายเงินในส่วนนี้แล้วหรือไม่


(อ่านประกอบ : ‘ทักษิณ’คิด‘ทนง’ทำ!ปรับภาษีเหล้าปี47-48 เทียบข้อมูลก.ล.ต.สหรัฐฯคดีสินบนดิอาจิโอ, เปิดหนังสือ‘ลับมาก’ก.คลังปี’48-ครม. แม้วอนุมัติ ปรับปรุงภาษีสุรา ช่วงคดีดิอาจิโอ, เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?, พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ)


ห้า คดีบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ถูกกล่าวหาทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันประเทศอินโดนีเซียไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง 


กรณีนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวหาว่า ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ บริหารการลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย 5 โครงการ ของบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยไม่คุ้มค่า และอาจเกิดความเสียหายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถูกคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. และบอร์ด ปตท.สผ. ให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเรียบร้อยแล้ว 


อย่างไรก็ดีประเด็นที่ควรโฟกัสในเรื่องนี้ตามผลสอบสวนของ ปตท. คือ กรณีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริงอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI 

โดยในส่วนโครงการ PT.Az Zhara พบว่า ในการจัดทำนายหน้าจัดหาที่ดิน มีการตกลงกันว่าในราคาหุ้น 550 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ผู้ขายจะได้ส่วนแบ่ง 327.25 เหรียญสหรัฐ ส่วน KSL ได้รับส่วนแบ่ง 222.75 เหรียญสหรัฐ


โดยเป็นที่น่าสังเกตคือ ค่านายหน้าที่ทำความตกลงกัน เป็นเงิน 222.75 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ดินที่ผู้ขายได้รับเพียง 327.25 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เป็นอัตราที่สูงมาก (ประมาณ 40%) จึงไม่น่าจะเป็นรูปแบบของสัญญานายหน้าอันเป็นลักษณะปกติทางการค้าแต่อย่างใด


ส่วนโครงการ PT.KPI มีการพบว่า ในการกำหนดให้ PT.KPI จ่ายเงินค่าที่ปรึกษากับพวกค่านายหน้าขายที่ดิน เป็นเงินประมาณ 19 ล้านเหรียญ ตามสัญญา Consultancy Service Agreement ไว้ด้วย ซึ่งจากพยานหลักฐานการชำระเงินให้แก่ KSL (บริษัทจัดซื้อที่ดินที่ PTTGE จ้าง) ที่ Mr.Burhan (ผู้ขายที่ดินที่ PTTGE ซื้อ) นำมาแสดงมีความสอดคล้องกับการจ่ายเงินของ PTTGE


โดยมูลค่าที่ปรึกษา/นายหน้า เป็นเงิน 325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ดินในราคา 1,325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่สูง (ประมาณ 25%) จึงไม่น่าจะเป็นรูปแบบของสัญญาที่ปรึกษา/นายหน้า อันเป็นลักษณะปกติทางการค้าแต่อย่างใด


ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนยกชุด มีการเชิญผู้บริหารระดับสูงจาก ปตท. และผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหลายรายแล้ว และเตรียมประสานกับหน่วยงานตรวจสอบด้านการทุจริตจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขอข้อมูล และเชิญบุคคลจากประเทศอินโดนีเซียมาให้ถ้อยคำด้วย


(อ่านประกอบ : เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มฯ แกะรอยจ่ายค่านายหน้าซื้อที่แพง 25-40%, (INFO) ไทม์ไลน์ปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ ส่ง ป.ป.ช.สอบ-เด้ง‘นิพิฐ’พ้น ปตท.สผ.)


หก คดีการจัดซื้อ GT200 


กรณีนี้มีการกล่าวหาร้องเรียนตั้งแต่ในช่วงปี 2550 ว่า เครื่อง GT200 ดังกล่าว ใช้งานไม่ได้จริง กระทั่งมีการพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ ท่ามกลางการตอบโต้จากบุคลากรในกองทัพว่า เครื่องดังกล่าวสามารถใช้งานได้ กระทั่งช่วงปี 2557 ศาลอังกฤษพิพากษาจำคุก ตัวแทนเอกชนที่จัดจำหน่ายเครื่อง GT200 เนื่องจากเห็นว่า เครื่องดังกล่าวใช้งานไม่ได้จริง เป็นการหลอกหลวงเพื่อขายของเท่านั้น และรัฐบาลได้เลิกซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ จำนวนหลายสิบสำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ หน่วยงานความมั่นคง ผู้บริหารหน่วยงานในกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ปรากฏชื่อ ‘บิ๊กกองทัพ’ แต่อย่างใด


จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นับตั้งแต่ปี 2550-2552 มีอย่างน้อย 10 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่อง GT200 รวม 848 เครื่อง วงเงินกว่า 767 ล้านบาท ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองค์รักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สภ.จ.ชัยนาท กรมศุลกากร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว และ อบจ.สมุทรปราการ


(อ่านประกอบ : INFO: ข้อมูลหน่วยงานรัฐจัดซื้อจีทีฯ 767 ล.-ผลสอบ สตง.มัดลวงโลก?)


เจ็ด คดีเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนซื้อใบยาสูบจากเอกชนสหรัฐฯ ระหว่างปี 2543-2547


กรณีนี้เอสอีซี และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จับกุมดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกับบริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป และบริษัท อลิอันซ์ วัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบของไทย โดยบริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป ร่วมมือกับเอกชนอีก 3 แห่ง ติดสินบนประมาณ 8 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 25.7 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายยาสูบมูลค่าราว 11.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 369 ล้านบาท) ส่วนบริษัท อลิอันซ์ วันฯ ได้ร่วมมือด้วยติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบไทยประมาณ 1.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 38 ล้านบาท) เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายมูลค่า 18.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 587 ล้านบาท) รวมแล้วมีการรับเงินสินบนประมาณ 64 ล้านบาท


กระทั่งเมื่อปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงงานยาสูบ พัวพันรับสินบนสั่งซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐฯ ช่วงปี 2543-2547 โดยประสานขอข้อมูลจากอัยการของเมืองวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ แล้ว


ความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เมื่อปี 2558 อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานบุคคล


ทั้งนี้สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในการจัดซื้อใบยาสูบจากสหรัฐฯของโรงงานยาสูบ ระหว่างปี 2543-2547 พบว่า มีการขนส่งใบยาสูบจากประเทศสหรัฐฯถึงไทย อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ไม่ทราบมูลค่า


แปด คดีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดซื้อเครื่องยนต์ 


สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) เปิดเผยว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอกชนผู้ผลิตเครื่องยนต์ระดับโลก ให้การยอมรับว่า ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทย วงเงินประมาณ 1.2 พันล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง ได้แก่ 2534-2535 2535-2540 และ 2547-2548 เพื่อให้การบินไทยจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ T-800 


โดยในช่วงปี 2534-2535 คณะรัฐมนตรี (ขณะนั้น) อนุมัติตามแผนวิสาหกิจการบินไทยจัดซื้อเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่งรวม 8 ลำ เพื่อนำมาประจำการในการบินไทย ซึ่งตรงกับสำนวนสอบของเอสเอฟโอ ที่ระบุว่า การบินไทยขณะนั้นได้จัดซื้อเครื่องบิน 380 ที่นั่ง รวม 8 ลำ เพื่อนำมาติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ T-800 โดยช่วงนี้มีการจ่ายสินบนประมาณ 18.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 663 ล้านบาท)


ปี 2535-2540 โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายสินบนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้การบินไทยจัดซื้ออีก ต่อมาการบินไทยทำแผนวิสาหกิจจัดซื้อเครื่องบินอีก 6 ลำ ซึ่งตรงกับสำนวนเอสเอฟโอ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.คมนาคม รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้อนุมัติตามแผนการบินไทย อย่างไรก็ดีรัฐบาลนายบรรหาได้ยุบสภา กระทั่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีชุดนั้นได้อนุมัติตามแผนที่ รมว.คลัง เสนอ โดยช่วงนี้มีการจ่ายสินบนประมาณ 10.38 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 336 ล้านบาท)


ปี 2547-2548 โรลส์-รอยซ์ ได้มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ปี 2539 แต่เริ่มดำเนินการจริงประมาณปี 2547 โดยการบินไทยเตรียมจัดซื้อเครื่องบิน B777 และเครื่องยนต์ T-800 โดยข้อมูลเอสเอฟโอ ระบุว่า มีการนัดกินข้าวกันระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่การบินไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการรายหนึ่ง กระทั่งปี 2548-2549 การบินไทย มีการจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800 และอะไหล่สำรอง โดยช่วงนี้มีการจ่ายสินบนประมาณ 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 254 ล้านบาท)


อย่างไรก็ดีตามสำนวนเอสเอฟโอ ไม่ได้ระบุรายชื่อบุคคลที่ได้รับสินบนแต่อย่างใด


(อ่านประกอบ : โชว์ชัดๆ 'INFO' ไทม์ไลน์คดีสินบน 'โรลส์รอยซ์-การบินไทย' 3 ยุค 1.2 พันล้าน)


เก้า คดีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 


กรณีนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และเอสอีซี พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาทในช่วงปี 2546-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ


ตามสำนวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และเอสอีซี พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ และบริษัทลูกอย่าง PRESI และพนักงาน ได้แก่ ผู้บริหาร 1 ราย พนักงาน 3 ราย และบุคลากรไม่ระบุตำแหน่งอีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนให้กับบริษัทนายหน้า รวมถึงบริษัทให้คำปรึกษาทางการค้าในการเซ็นสัญญา ภายใต้ข้อตกลงว่า บริษัทนายหน้า จะสนับสนุนบริษัท PRESI ให้ได้ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ.


โดยในกรณีการติดสินบนดังกล่าวนั้น พนักงานของโรลส์-รอยซ์ และบริษัท PRESI ได้แก่ ผู้บริหาร 1ราย พนักงาน 3 ราย และบุคลากรไม่ระบุตำแหน่งจำนวนหนึ่งได้จัดเตรียม และวางแผนเพิ่มคอมมิสชั่นให้กับที่ปรึกษาบริษัท โรลส์-รอยซ์ เช่นเดียวกับที่ทำกับนายหน้า 4 ซึ่งเมื่อได้รับเงินดังกล่าวแล้วนั้น ที่ปรึกษาบริษัทส่งต่อเงินสินบนไปยังพนักงานฝ่ายต่างประเทศของ ปตท. และ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในสัญญาโครงการนี้


กระทั่ง ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีนี้ โดยครบกำหนดกรอบเวลา 30 วันไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีคนผิด


(อ่านประกอบ : ครบเดือนยังไม่ได้คนผิด! ปตท.เรียก จนท.แจงคดีสินบนโรลส์รอยซ์-หนุน ป.ป.ช.เต็มที่, เปิดเอกสารสินบน โรลส์รอยซ์-ปตท. 385 ล. สูงสุด 7.5% ระบุ 'ท่านกลัวถูกเปิดโปง', ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า)



สิบ บริษัท ไบโอ-ราด จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐไทย เอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยา

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานว่า บริษัท Bio-Rad ยอมเสียค่าปรับเพื่อไม่ต้องรับโทษในคดีอาญาและแพ่ง วงเงิน 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยผ่านทางบริษัท Diamed Thailand เป็นเงินกว่า 7 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ราว 24 ล้านบาท) ระหว่างปี 2008-2010 (พ.ศ.2550-2553)


รายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัท Bio-Rad ขายอุปกรณ์ตรวจค่าต่าง ๆ ในโลหิตผ่านบริษัท Daimed Thailand ซึ่งขายต่อให้ตัวกลางก่อนถึงโรงพยาบาลรัฐ โดยตัวกลางรับส่วนต่าง 13% เก็บไว้เอง 4% และจ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ 9% โดยระหว่าง พ.ศ.2550-2553 บริษัท Diamed Thailand ได้จ่ายค่านายหน้าทั้งหมด 708,608 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านบาท) ขณะที่บริษัททำเงินจากการค้าครั้งนี้ถึง 5.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายให้นายหน้าไม่ได้ถูกระบุรวมไปกับบัญชีการทำการค้าระหว่างประเทศ


ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งการให้แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว


(อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร!เปิดชื่อผู้บริหาร'ไดอเมด' ปี50-53 ช่วงเกิดเหตุกรณีคดีจ่ายสินบน24ล., ยธ.สหรัฐฯปรับ บ.ยาระดับโลก 55 ล. USD-พบจ่ายสินบน จนท.ไทย 24 ล.ปี’50-53, เปิดตัว‘ไดอเมด-ไบโอราด'คู่ค้ารัฐ159ล.!ก่อนบ.แม่ถูกปรับคดีจ่ายสินบน 24 ล., เผยโฉมที่ตั้ง'บ.ลูกไบโอ-ราด'ก่อนบ.แม่ถูกปรับคดีจ่ายสินบน-ผู้บริหารติดประชุมยังไม่แจง)


สิบเอ็ด บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล จ่ายสินบนให้กับที่ปรึกษารายหนึ่งเพื่อให้ได้งานโครงการสนามบิน และติดตั้งกล้องวีดีโอวงจรปิดรัฐสภา


กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล สัญชาติสหรัฐฯ ติดสินบนผ่านบริษัทลูกในประเทศไทย ผ่าน ‘ที่ปรึกษา’ รายหนึ่ง ประมาณ 292,286 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 12 ล้านบาท) ในโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้บริษัทลูกในไทยได้กำไรจากโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ กทม. เป็นเงิน 879,258 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 35 ล้านบาท) นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับ ‘ที่ปรึกษา’ อีกรายหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการติดตั้งกล้องซีซีทีวีในรัฐสภาด้วย


สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีบริษัทลูกในไทยชื่อ พบว่า บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด หรือ TYCO INTERNATIONAL (THAILAND) CO.,LTDต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด 


เบื้องต้นพบว่า บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เป็นคู่สัญญาจัดซื้อกล้องซีซีทีวีและโสตทัศนอุปกรณ์กับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และเมืองพัทยา เกือบ 28 สัญญา รวมเป็น 182 ล้านบาท 


โดยเป็นคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วงปี 2544-2553 จำนวน 13 โครงการ วงเงินประมาณ 100.5 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคู่สัญญาจัดซื้อกล้อง CCTV 2 โครงการ วงเงินประมาณ 56.3 ล้านบาท 


ขณะเดียวกันเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรฯ กับ เมืองพัทยา วงเงิน 25.6 ล้านบาท (เลขที่สัญญา 185/2547) รวมถึง เป็นคู่สัญญาจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ช่วงปี 2543-2550 จำนวน 14 สัญญา รวม 56,715,147 บาท และเป็นคู่สัญญาจัดซื้อกล้อง CCTV อุปกรณ์บำรุงรักษากับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในช่วงปี 2544-2548 อีก 8 สัญญา วงเงิน 25,370,802 ล้านบาทอีกด้วย


สำหรับกรณีสินบน CCTV ของรัฐสภา นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ 


อย่างไรก็ดีตัวแทนบริษัท ทาคาชิโฮ ไฟร์ ซิเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จำกัด) ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันนักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้ซื้อกิจการจากนักลงทุนกลุ่มเดิมซึ่งเป็นชาวต่างชาติเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันมีชาวญี่ปุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหาร ฉะนั้นจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้บริหารชุดเดิม ส่วนการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐนั้นบริษัทฯมีหลายส่วนที่รับผิดชอบจึงไม่ทราบข้อมูล และไม่ทราบเรื่องราวที่ผ่านมาหลายปี


(อ่านประกอบ : เปิดเครือข่าย ‘Tyco’ จากสหรัฐ-ไทย ถือหุ้นไขว้นัว กวาดจัดซื้อ 18 แห่ง 375.4 ล., งบการเงิน บ.Tyco คู่สัญญา CCTV รัฐสภา จ่ายค่านายหน้า 27 ล., ใช้ข้อมูล‘อิศรา’ขยายผล!พล.อ.อ.วีรวิท ยันสอบ ‘สินบนCCTV' คาด 2 สัปดาห์จบ, ไม่ใช่แค่ CCTV รัฐสภา!พบ ‘TYCO’ คู่สัญญา ทอท.-เมืองพัทยา 82.3 ล. กทพ.ด้วย, เปิดตัว บ.กล้อง CCTV รัฐสภา ฟัน 100 ล. ก่อน‘พรเพชร’ตั้ง กก.สอบ ปมสินบน?)


ทั้งหมดคือ 11 คดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ เท่าที่มีการเปิดเผยออกมาอยู่ในขณะนี้ โดยมีอย่างน้อย 1 คดี นั่นคือคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด CTX ที่ ป.ป.ช. ตีตกไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือหน่วยงานต้นสังกัด เช่น การบินไทย และ ปตท.


อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมว่า บางคดีใกล้หมดอายุความแล้ว หากไม่เร่งรีบดำเนินการ อาจทำให้คดีขาดอายุความและไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดรายใดได้ เหมือนกับหลายคดีที่ ป.ป.ช. ปล่อยปละละเลยจนทำให้คดีหมดอายุความไปแล้วก่อนหน้านี้ 


นับเป็นเรื่องที่ ‘วัดฝีมือ’ องค์กรอิสระปราบโกงเบอร์หนึ่งอย่าง ป.ป.ช. ว่า จะ ‘ล่าตัว’ ผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ ?

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw