เสวนา

เสวนาเกาะติดกรณีสินบนโรลส์ รอยซ์ ภาคบทลงโทษ

โดย act โพสเมื่อ Feb 18,2017

 ภาครัฐและหน่วยงานตรวจสอบรับลูก “ต้านคอร์รัปชัน” ย้ำสามประสาน โปร่งใส สำนึกสังคมและก.ม.

 

อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เลขากลต. และผอ.สคร. ประสานเสียงในเวทีขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ภาคบทลงโทษ หวังสังคมและสื่อร่วมจับตา เพื่อจับคนโกงการบินไทย และปตท.ให้ได้ ย้ำภาครัฐต้องเดินหน้าผลักดันก.ม.ปราบโกง เพื่อดูแลและป้องกันการจ่ายและรับสินบน ทั้งในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ที่คลุมเครือไม่รู้ใครเป็นเจ้าของ เรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และสถาบันกรรมการบริษัทไทย กระทุ้งบริษัทเอกชนระดมสมองดูแลภายในองค์กรป้องกันการจ่ายสินบนแย่งเค้กโครงการรัฐที่มีมูลค่าสูง ด้านอุปทูตอังกฤษ ยกตัวอย่าง นายกรัฐมนตรีอังกฤษถือปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องเดินหน้าจริงจัง แนะลดจำนวนหน่วยงานปราบโกงให้มีอำนาจและฉับไว มีแผนแม่บท และ action plan ที่ทำได้จริง ขณะที่ต้องมีช่องทางกระตุ้นให้เอกชนชี้หากทำให้หน่วยราชการร่วมมือกันจะได้ผลดี  

 

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดการเสวนา “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนใน การบินไทย ปตท. และประเทศไทย กรณีสินบน Rolls Royce ภาคบทลงโทษ” โดยมี

1.ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

2.Ms. Margaret Tongue อุปทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย

3.นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ

4.ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นวิทยากร

โดยมี ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดำเนินรายการ

 

นายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า กรณีสินบนโรลสรอยซ์เป็นคดีตัวอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย หนุนให้เกิดมาตรการการป้องกันต่างๆ จำเป็นต้องยกระดับการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบัน และก.ม.ใหม่ คือ ผลักดันพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้เกิดผลโดยเร็ว ภาครัฐต้องมีบทลงโทษและรวดเร็ว ให้เกิดความกลัวและไม่กล้าที่จะทำผิด และส่งเสริมการทำงานสอดประสานในภาครัฐและในระดับสากล

 

ศจ. วิชา มหาคุณ กล่าวสนับสนุน ACT ที่ “กัดติด” เรื่องฉาวนี้เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบไปเหมือนในอดีต และดีใจที่สังคม และสื่อให้ความสนใจติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง อดีตกรรมการปปช.ยอมรับว่าการหาข้อมูลเพื่อสอบข้อเท็จจริงคดีสินบนข้ามชาติสำหรับประเทศไทยทำได้ลำบาก เพราะต้องใช้เงินมหาศาลในเข้าถึงข้อมูลลับ เช่น คดีนี้ทางอังกฤษใช้เงินเป็นร้อยล้านบาททำงานร่วมกับทนายความเอกชน แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถนำเงินงบประมาณมาใช้ได้ คณะกรรมการสอบสวนต้องใช้ความพยายามอย่างมากและพึ่งพาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับต่างประเทศผ่านพรบ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา ซึ่งสนง.อัยการสูงสุดเป็นเจ้าภาพ เป็นต้น เขายอมรับคดีสินบนข้ามชาติของหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้นฝ่ายไทยไม่มีโอกาสได้รู้ระแคะระคายเลยจนกว่าทางต่างประเทศจะเริ่มสอบสวน

ศจ. วิชา มหาคุณเสริมว่า คดีคอร์รัปชันเป็นคดีอาญามีอายุความถึง 20 ปี โทษสูงสุดถึงประหาร แต่ในความเป็นจริงไม่เคยโดนประหาร แต่การที่มีโทษสูงสุดถึงประหารในก.ม.ไทยเป็นเรื่องที่ความอ่อนไหวที่บางประเทศจะไม่ส่งข้อมูลเรื่องสินบนข้ามชาติให้ ศจ. วิชา ย้ำว่าข้าราชการที่มีความผิด สามารถไล่ออกย้อนหลัง เรียกคืนเงินเดือน เอาทรัพย์คืนได้ เพราะไม่มีอายุความ ส่วนกรณีก่อนหน้าเรื่องการบินไทย สินบนโรสลอยด์ ก็สามารถไต่สวนได้

นางสาว Margaret Tongue อุปทูตอังกฤษ กล่าวว่าสังคมต้องตระหนักถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศที่เกิดจากคอร์รัปชัน นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมองปัญหาคอร์รัปชันเป็นประเด็นเร่งด่วนของชาติ และให้ความสำคัญในการผลักดันและแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อังกฤษใช้กลยุทธ์ 4P เพื่อติดตาม ป้องปราม ป้องกัน และเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดหลังคดีขึ้นสู่ศาล เช่น การคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล การทำงานผ่านกลไกก.ม.คอร์รัปชันฉบับใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้หน่วยราชการทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมา มีเว็ปไซท์ต้านคอร์รับชัน มีข้อมูลทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจำเป็นต่อการเข้าใจสถานการณ์และการขุดคุ้ยข้อมูล Big Data และได้ชี้แจงว่า โดยหลักการแล้ว อังกฤษไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตในทุกคดีไม่ว่าจะในประเทศใด ขณะที่ผู้ทำผิดที่อังกฤษจะถูกจำคุก 7-10 ปี และยังมีบทลงโทษบริษัท หรือองค์กร หรือบริษัทลูกที่ไม่มี หรือไม่ใช่มาตรการในการจ่ายสินบน

 

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการกลต. กล่าวว่า การให้หรือรับสินบนข้ามชาติมักเกิดกับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งสังคมให้ความเชื่อถือ แต่พอเกิดซ้ำๆ รัฐบาลกลับไม่มีการดำเนินการรับมืออย่างจริงจัง และแนะให้บังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง คือ มีองค์กรปราบโกง แต่ในความเป็นจริงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกๆฝ่ายจึงจะสัมฤทธิผล ต้องปลุกสำนึกให้คนในองค์กรมีคุณธรรม กล้าเปิดโปงคนทำผิดในองค์กร แต่ที่เราเจอในปัจจบัน คือ ไม่กล้า ไม่ยอมพูด ไม่ยอมให้ข้อมูล และต้องใช้กลยุทธ์ Marketing Force ใช้กลไกตลาดผลักดันผู้ถือหุ้น และสาธารณชนบีบให้บริษัท หน่วยงาน องค์กร ต้องเปิดเผยข้อมูลของโครงการต่างๆ อย่างโปร่งใสให้มากที่สุด

 

ดร.เอกนิติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การโกงในรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องน่าหนักใจที่ต้องจัดการ เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีผลประโยชน์เป็นเงินมูลค่ามหาศาล มีการเปลี่ยนบอร์ดตามรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ดูแล นักการเมืองต่างมองรัฐวิสาหกิจเป็นขนมหวาน ประกอบกับหน่วยงานเหล่านี้ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้นไม่ชัดเจน มีกระทรวงเจ้าสังกัด กระทรวงที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นบ.จดทะเบียนด้วย แม้มีผู้ตรวจสอบ ก็ได้ผลที่ไม่ดีมากนัก เหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดการฉ้อโกงได้ง่าย ส่วนมาตรการที่จะมาป้องปรามนั้นต้องสร้างความชัดเจนในการคัดเลือกแต่งตั้งกรรมการ หรือผู้นำองค์กรต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมตรวจสอบได้ คล้ายกับกรณีการคัดเลือกผู้ว่าแบงก์ชาติที่ผ่านมา ตอนนี้ รัฐบาลคสช. ตั้งซูเปอร์บอร์ด ดึงการบริหารนโยบายมาส่วนกลาง มีนายกคุมเองทั้งหมด มีนโยบายสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ดูแลเชิงลึกสอดส่องได้ง่ายขึ้น สกรีนก่อนถ่ายส่งคำสั่งไปให้แก่กระทวงเจ้าสังกัดดำเนินนโยบายต่อไป จะช่วยป้องกันการโกงได้อีกทางหนึ่ง

โดยในงานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาและตั้งคำถามเป็นจำนวนมาก