ประเด็นร้อน

สปีดต่ำ! ตามล่าคนโกงจำนำข้าว 3แสนกว่าล้านจะได้คืนสักบาทไหม?

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 06,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการ - -

 

สุดอืดขึ้นชื่อแทบไม่ขยับกับการตามล่าคนโกงในโครงการจำนำข้าว กระทั่งรัฐบาล คสช. กระชับอำนาจขันนอตบีบอัดลงไปตามลำดับชั้น ล่าสุดจึงเพิ่งมีข่าว องค์การคลังสินค้า (อคส.) เดินหน้าทวงค่าเสียหายผิดสัญญาจำนำข้าวส่งโนติสถึง เจ้าของโกดัง-คลังสินค้า- เซอร์เวเยอร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ก็สั่งจัดการเอาผิดขบวนการเสกข้าวล่องหนนับล้านตัน รวมๆ มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 3 แสนล้าน

 

แต่จะช้าไปไหม รัฐบาล คสช.ก็เริ่มนับถอยหลัง และยังไม่แน่ว่าจะนอนมาหลังศึกเลือกตั้งใหญ่ที่วางไทม์ไลน์ไว้เป็นมั่นเหมาะแล้วว่าไม่เกิน ก.พ. ปีหน้า หรือไม่ ไม่นับว่าเอกชนนั้นเขี้ยวลากดิน ทำยักไหล่ ขอไม่จ่ายเพราะไม่ได้ทำให้ข้าวเสื่อม เล่นเกมยื้อไปเผื่อผลัดแผ่นดิน เกมอำนาจเปลี่ยนก็มีสิทธิลอยนวล

 

นับจากนี้ จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าทวงหนี้รอบนี้ที่มีมูลค่าสูงลิ่วแต่เอาเข้าจริงจะได้สักบาทหรือไม่ การใช้อำนาจจัดการขบวนการโกงจำนำข้าวและระบายข้าวของ คสช. ในโค้งสุดท้ายจะได้ผลสักกี่มากน้อย แต่ถึงอย่างไร การออกหมัดกระทุ้งให้มีการขยับบ้างไม่ใช่มีแต่ราคาคุยจะปราบโกงให้สิ้นซาก ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้อายุความขาดไปแบบคาใจสังคมกลายเป็นตราบาปของรัฐบาล คสช.

 

คงจำกันได้ว่า คดีจำนำข้าวที่อีนุงตุงนังหลายคดีนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2561 ให้เร่งรัดฟ้องร้องคดีต่างๆ เพราะใกล้จะหมดอายุความ โดยการดำเนินคดีส่วนหนึ่งนั้น ครม.สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแล อ.ต.ก. และกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับ ดูแล อคส. เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จทุกคดีโดยเร็ว และส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างช้าสุด ภายในเดือน ธ.ค. 2561

 

ในส่วนของ อคส. มีรายงานล่าสุด ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 อคส. ได้ส่งหนังสือทวงถาม (notice) ไปให้คู่สัญญา คือ เจ้าของโกดัง เจ้าของคลังสินค้าที่ อคส.เช่าเพื่อฝากเก็บข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ที่ทำผิดสัญญากับ อคส. รวมทั้งหมด 127 สัญญา เพื่อให้คู่สัญญาชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้าวสารในสต๊อก เช่น ข้าวเสื่อม หรือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีกำหนดต้องมาชำระค่าเสียหายภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือทวงถาม

 

หลังจากที่ส่งหนังสือไปคู่สัญญาได้รับหนังสือแจ้งจากคู่สัญญาว่าไม่ได้ทำให้ข้าวเสียหรือเสื่อมคุณภาพ เพราะมีการดูแลรักษาคุณภาพ และรมยาตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง จึงจะไม่ชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับ อคส. ซึ่งทาง อคส. จะตอบโต้กลับโดยดำเนินการยึดหลักประกันสัญญา (แบงก์การันตี) ด้วยการทำหนังสือถึงธนาคารที่คู่สัญญาเหล่านี้นำเงินไปฝากไว้เป็นหลักประกันสัญญาเพื่อขอยึดหลักประกันสัญญา และธนาคารต้องนำเงินมาชำระหลักประกันสัญญาให้กับ อคส. ภายใน 15 วัน หากไม่ชำระภายในกำหนด อคส.จะส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้อง ทั้งคู่สัญญาที่ทำผิดสัญญา และธนาคารที่ทำผิดสัญญาค้ำประกัน

 

ทั้งนี้ 127 สัญญาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 244 สัญญา ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2551/52, ปี 2554/55, ปี 2555/56 และปี 2556/57 ที่คู่สัญญากระทำผิดสัญญาจนทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ อคส. เร่งรัดส่งอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งภายในสิ้นเดือน ธ.ค.2561 ก่อนที่คดีจะขาดอายุความวันที่ 1 ม.ค.2563

 

ส่วนที่เหลืออีก 117 สัญญา อคส.จะตรวจสอบความเสียหายและยื่นหนังสือทวงถามให้กับคู่สัญญาภายในวันที่ 15 ส.ค.2561 หากคู่สัญญาไม่มาชำระค่าเสียหายตามกำหนด อคส.จะรวบรวมเอกสาร หลักฐาน สรุปข้อเท็จจริงเสนอให้พนักงานอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป คาดว่า ทั้ง 244 สัญญา จะดำเนินการส่งฟ้องต่ออัยการให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2561 โดย อคส. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ทราบทุก 15 วัน ตามข้อสั่งการแล้ว

 

สำหรับคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หอมแดง เป็นต้น อคส. อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน แต่มีจำนวนสัญญาไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เรื่องอยู่ในชั้นศาลแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ อคส. ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคู่สัญญาที่กระทำผิดทั้งคดีอาญาและแพ่งไปแล้วรวม 106 ราย 777 คลังสินค้า โดยพบว่า มีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมกระทำความผิด 783 คดี อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวม 782 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 คดี มูลค่า 62 ล้านบาท และไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกระทำความผิด 101 คดี โดยคดีที่สอบสวนเสร็จและสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการจังหวัดต่างๆ แล้ว 98 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท และอีก 3 คดี ยังสอบสวนไม่เสร็จ และยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน มูลค่าความเสียหาย 95 ล้านบาท รวมมีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องทั้งหมด 884 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 115,000 ล้านบาท

 

นอกเหนือจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะทำงานระบายข้าวสารสต๊อกรัฐบาล ยังรายงานให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) รับทราบถึงปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ยังคงติดค้างอยู่กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ไม่สามารถนำออกมา ระบายได้ เนื่องจากข้าวส่วนนี้ได้หายไปจากบัญชีการตรวจนับปริมาณรวม 9.4 แสนตัน ซึ่ง นบข.ได้สั่งการให้เร่งติดตามข้าวที่ขาดหายจากบัญชีกลับคืนมาเพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ข้าวที่ขาดหายไปนั้นมาจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับตัวเลขมา 18.70 ล้านตัน แต่ผลการตรวจนับมีข้าวอยู่ในสต๊อกปริมาณ 17.76 ล้านตัน หรือขาดหายไป 9.4 แสนตัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และติดตามข้าวที่หายไปกลับคืนมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

 

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานให้ นบข.รับทราบแล้ว ล่าสุดได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเพื่อตามหาปริมาณข้าวดังกล่าวแล้ว และยังได้กำชับให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินคดีต่อเจ้าของโกดัง บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และโรงสีข้าว ที่ทำข้าวขาดหายไปจากบัญชีด้วย โดยปริมาณข้าวที่หายไป 9.4 แสนตันนั้น หากคิดมูลค่าจากราคาที่รับจำนำเข้ามาตันละประมาณ 2.4 หมื่นบาท จะมีมูลค่าสูงถึง 2.256 แสนล้านบาท

 

ปัจจุบันข้าวที่เหลืออยู่ในสต๊อกรัฐบาลที่สามารถนำมาเปิดประมูลได้เหลืออยู่อีกประมาณ 7 หมื่นตัน เป็นข้าวกลุ่ม 2 และ 3 ซึ่งเป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนบริโภค และข้าวอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนและสัตว์บริโภค และคาดว่าจะเปิดประมูลอีกครั้งในเร็วๆ นี้

 

ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้าวในส่วนอื่นๆ ที่ยังคงเหลือ เช่น ข้าวที่ผู้ชนะการประมูลไปแล้วแต่ไม่มารับมอบ ซึ่งมีประมาณ 7 แสนตัน โดยในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนตันที่คาดว่าคู่สัญญาจะไม่รับมอบ เพราะมีปัญหาข้าวเสื่อม ข้าวไม่ตรงตามคุณภาพ นบข.ได้สั่งการให้ อคส. และ อ.ต.ก.ไปเร่งรัดคู่สัญญาเพื่อให้รับมอบข้าวแล้ว แต่หากไม่รับมอบก็ต้องดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย และจะนำข้าวมาเปิดประมูลต่อไป

 

สำหรับการหาตลาดรองรับให้กับข้าวไทย นายกีรติรัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC) ในเดือน ส.ค. 2561 กรมฯ จะหารือกับหน่วยงานที่ดูแลด้านการก่อสร้างรถไฟและนำเข้าสินค้าเกษตรของรัฐบาลจีน (NDRC) ให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยในส่วนล้านตันที่สอง ที่ไทยและจีนได้มีการทำสัญญาบันทึกความเข้าใจ (MOU) กันไปแล้วก่อนหน้านี้

 

สำหรับ MOU ซื้อข้าวไทย 2 ล้านตัน เป็นความตกลงที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. ซึ่งจีนได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไปแล้ว 1 ล้านตัน และปัจจุบันบริษัท คอฟโก้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่นำเข้าข้าวของรัฐบาลจีน ได้มีการนำเข้าข้าวตามสัญญาไปแล้ว 5 แสนตัน อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายในส่วนแสนตันที่ 6 ซึ่งกรมฯ มองว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูง มีความคืบหน้า จีนก็ควรจะลงนามสัญญาซื้อขายในส่วนล้านตันที่ 2 ถ้าหากการเจรจาประสบผลสำเร็จก็จะทำให้ไทยมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่เพิ่มขึ้น

 

โชว์ผลงานของดรีมทีมเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายกันให้เต็มที่ อย่าให้เป็นเพียงแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ ทั้งการฟ้องร้องทวงค่าเสียหายจากโครงการจำนำและการระบายข้าวหลายแสนล้านบาท รวมทั้งความหวังการขายข้าวล็อตใหม่ให้รัฐบาลจีน

 

 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw