ประเด็นร้อน

กระทรวงวิทย์ฯ ตั้งกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อดาวเทียม THEOS-2 ร่วมพิสูจน์ข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 17,2018

 

 

 

 

กระทรวงวิทย์ฯ ตั้งกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อดาวเทียม

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯตั้งกรรมการกลางร่วมพิสูจน์ข้อสงสัยความโปร่งใสโครงการจัดซื้อดาวเทียม THEOS-2 สรุปผลภายใน 30 วัน  ด้านประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯย้ำโครงการข้อตกลงคุณธรรม ช่วยโครงการภาครัฐโปร่งใสและประหยัดงบได้มากขึ้น 


เมื่อวันที่ 17 ส.ค.61 นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดแถลงข่าวชี้แจง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียม THEOS-2  โดยมี ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

 และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  ร่วมแถลงด้วย 

 

นายสุวิทย์ ชี้แจงว่า ตามที่สังคมและสื่อต่างๆ ให้ความสนใจการดำเนินการการจัดหาโครงการดาวเทียมสำรวจ

 

เพื่อการพัฒนาหรือ THEOS-2 โดยเฉพาะความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับประเด็น“กระบวนการจัดหาของโครงการดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2” จนเกิดข้อกังวลและนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการลาออกของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระ  ซึ่งพบว่ามีความเห็นต่าง 3 - 4 ประเด็น  แต่ไม่มีเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น มีปัญหาติดขัดบางประการที่คณะผู้สังเกตการณ์ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและตัวบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความโปร่งใส จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณากระบวนการดำเนินการจัดหาระบบดาวเทียมฯ  มี ศาสตราจารย์พิเศษ หิรัญ รดีศรี เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายกฤษฎา บุณยสมิต  จากสํานักงานอัยการสูงสุด , นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง , นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย,นายสุระ พัฒนเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้ประโยชน์ดาวเทียม   และนายบํารุง ตันจิตติวัฒน์กรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนการจัดซื้อจัดจ้าง  กระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาภายใน 30 วัน 

“คือตอนนี้ เราน้อมรับข้อกังวลของผู้สังเกตการณ์แล้ว และเราเลือกคนกลางที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  มีความรู้ด้านกฎหมาย ด้านดาวเทียม มาเป็นกรรมการ  ให้โอกาสกับกรรมการชุดนี้ในการที่จะฟังความติดเห็นของทั้งสองฝ่าย และพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อแก้ข้อสงสัยแต่ละประเด็น ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างก็ดำเนินการคู่กันไป ยังไม่มีอะไรที่กระทบต่อกัน กรรมการชุดนี้จะช่วยลงไปดูว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร และทาง GISTDA มีคำอธิบาย มีหลักฐานอะไร เราคงต้องดูกล่าวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงหรือไม่ คือ ถ้ามี เราก็ดำเนินการตามครรลองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ข้อกังลนั้นอาจจะเป็นจริงหรือ เป็นข้อกังวลที่ดี แต่อาจจะในที่สุดแล้ว อาจจะไม่ใช่ ณ วันนี้ ก็ขอให้มีกรรมการขึ้นมาดูว่า มันจริงเท็จก่อนหรือเปล่า แล้วค่อยมาพิจารณากัน” นายสุวิทย์ กล่าว


ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าว ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว แต่กระบวนการยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งหลังจากได้ข้อพิจารณาสรุปจากคณะกรรมการแล้ว ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ เมื่อเซ็นสัญญาแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการขั้นตอนรายละอียดการดำเนินงาน ที่เรียกว่า SOW ซึ่งรวมทั้งการไปเตรียมตามแบบ เตรียมก่อสร้าง เตรียมกระจายหน่วยงสนที่จะมารับผิดชอบในการก่อสร้างและอื่นๆ 


ด้านนายประมนต์ กล่าวว่า ในฐานะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดส่งผู้สังเกตการณ์ในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ ตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม ขอชี้แจงว่า ข้อตกลงคุณธรรม เป็นมาตการสากลที่ใช้กันทั่วโลก โดยจัดให้มีผู้แทนภาคเอกชน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ประสบการณ์ด้านเจรจาทางการค้าการประกวดราคาระดับนานาชาติ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ  ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้าไปร่วมรับทราบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโครงการดาวเทียม THEOS-2  ไม่ใช่โครงการแรกที่ทำ แต่ทำมาแล้ว 73 โครงการ  ในแต่ละโครงการจะมีผู้สังเกตการณ์ 3-5 คน  เพื่อให้มีการตรวจสอบกันเอง  เมื่อมีผู้สังเกตการณ์เข้าไป ก็จะทำให้ข้อมูลต่างๆที่ในอดีตทราบกันเพียง 2 ฝ่าย ได้ถูกเปิดเผย และถ้าผู้สังเกตการณ์เห็นอะไรที่ไม่ชอบ ไม่คิดว่าถูกต้องในขั้นตอนไหนก็ทักท้วง และแจ้งผู้ดำเนินโครงการ ถ้าผู้ดำเนินโครงการเห็นด้วยก็มีการแก้ไขและปรับปรุง หรือว่า ถ้าไม่เห็นด้วย ก็อธิบายจนเป็นที่เข้าใจ ซึ่งถ้ายอมรับกันได้ก็เดินหน้าต่อได้ ซึ่งการมีคนนอกเข้าไป ช่วยให้การจะล็อกสเป็คเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือการจะตั้งงบประมาณที่เกินความเป็นจริงยากขึ้น

 

“หลายหน่วยงานเป็นการเรียนรู้ครั้งแรก อาจไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดปัญหา แต่ว่าหลักปฏิบัติเดิมๆ อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่เราอยากจะเห็น เราก็ให้ข้อทักท้วง หลายหน่วยงานที่มีการแก้ไขถูกต้องก็ไม่เป็นประเด็นอะไร ถ้าไม่แก้ไขหรืออาจจะบอกว่าถูกต้องอยู่แล้วก็ควรจะอธิบาย  ผู้สังเกตการณ์ 3-5 ท่านที่ผมพูดถึงนี้ จะทำอะไร ถ้ารุนแรงมากถึงขนาดว่าลาออก ต้องเป็นมติเอกฉันท์ซึ่งถึงจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกระบวนการของ ผู้สังเกตการณ์นี้ก็ได้พยายามทำให้รัดกุม ผมก็หวังว่าอย่างที่รัฐมนตรีท่านพูดว่า เมื่อเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่อยากจะเห็นว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโปร่งใสมาก อันนี้มันจะเป็นหนึ่งในหลายๆวิธีการที่กำลังดำเนินการกันอยู่ ที่จะทำให้เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของเรามีความสมบูรณ์และก้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น” นายประมนต์กล่าว


สำหรับข้อตกลงคุณธรรม คือ หนึ่งในเครื่องมือที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 นำมาใช้บริหารงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันที่ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรณ์ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายหน่วยงานภาครัฐ  2.ฝ่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน และ 3.ผู้สังเกตการณ์อิสระตัวแทนภาคประชาชน 


โดยหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการฯ ต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระ รวมทั้งยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความรู้และประสบการณ์ เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำงานจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตงาน ไปจนส่งมอบงานสิ้นสุดโครงการ 

 

ข้อตกลงคุณธรรม เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มี หน่วยงานเข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวม 875,428.39 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว  45 โครงการ มูลค่ารวม 103,83 9 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้สูงถึง 25,128 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 24.20 

 

โดยปีงบประมาณ 2558 มี 10 โครงการ ประหยัดงบไป  4,466 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.98                               

 

ปีงบประมาณ 2559 มี 12  โครงการ   ประหยัดงบไป  1,990  ล้านบาท หรือ ร้อยละ 14.36 

 

และปีงบประมาณ 2560 มี 11 โครงการ  ประหยัดงบไป 18,672 ล้านบาท  หรือ ร้อยละ 28.10 

 

นอกจากนี้ยังมี“โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปีงบประมาณ 2558” ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในรูปแบบของ PPP (Public-Private-Partnership) ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลดลง 37,457 ล้านบาท

 

THEOS-2 ร่วมพิสูจน์ข้อสงสัย 

 

 THEOS-2 ร่วมพิสูจน์ข้อสงสัย

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw