ประเด็นร้อน

ดานัง ตัวอย่างเมืองเจริญได้เพราะไร้โกง

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 10,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ลงมือสู้โกง : โดย สุภัจจา อังค์สุวรรณ

 

"เมืองดานัง" กลายเป็นจุดหมาย ปลายทางในภูมิภาคเอเชียแห่งใหม่ของ นักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นเมืองที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว เช่น มีภูเขา ทะเล และหาดทรายขาวที่สวยติดอันดับโลก ที่เรารู้จักกันในชื่อ Danang Beach และ Ba Na Hills เมืองแห่งนี้ยังสามารถผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติได้อย่างลงตัว อาทิ หมู่บ้านตากอากาศสไตล์ยุโรปที่ผนวกเข้ากับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่คงไว้ซึ่งเสน่ห์ของบ้านเมืองและผู้คนได้เป็นอย่างดี จนทำให้ได้รับการรับรองจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (WWF) ให้ดานัง เป็นนครสีเขียวระดับชาติของเวียดนามประจำปี 2018 สะท้อนความสามารถของดานังในการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มาจากนโยบายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทำให้เมืองเติบโตไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองที่น่าอยู่และมีความทันสมัย ซึ่งเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองดานัง

 

นอกจากการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแล้ว ในปี 2017 ดานังถูกจัด อันดับเป็นเมืองที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการลงทุนเป็นอันดับ 2 ของ ประเทศเวียดนาม จากผลสำรวจ Provincial Competitiveness Index (PCI) ส่งผล ให้ดานังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามตอนกลาง ทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ส่งผลให้การเรียกรับสินบนและขั้นตอนการดำเนินการที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตลดลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนดึงดูดให้นักลงทุนหลั่งไหลมายังเมืองดานัง และช่วยพลิกฟื้นเมืองท่าที่ทรุดโทรมในอดีตมาสู่เมืองสำคัญที่รุ่งโรจน์ของเวียดนาม

 

ที่ผ่านมา คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เคยไปเที่ยวดานัง แต่ส่วนใหญ่รู้จักดานังแค่เพียงในด้านของเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์และเมืองใหญ่ที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้นั่นคือ กว่าดานังจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว และการลงทุนที่สำคัญของเวียดนามได้ ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองขนานใหญ่ในการต่อสู้กับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศของเวียดนาม จึงอาจกล่าวได้ว่าความรุ่งโรจน์ของดานังในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการลงทุน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมโครงการและเครื่องมือของดานังที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตในภาคธุรกิจ การท่องเที่ยวและการให้บริการสาธารณะ มาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

 

จากรายงาน Governance and Anti-Corruption Innovations in the Da Nang Priority Infrastructure Investment Project (PIIP), Vietnam ในปี 2010 ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ ที่ส่งผลต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเมืองดานังและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการ ให้โครงการที่มีความเสี่ยงในการกำกับดูแลกิจการที่ดีนำแผนปฏิบัติการด้านการกำกับดูแลกิจการ และความโปร่งใส (Governance and Transparency Action Plan) ไปเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการ คือ หนึ่ง จัดการให้เป็นไปตามนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ สอง ลดความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างและภาคการเงิน สาม มีการกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการติดตามผลโดยหน่วยงานอิสระ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นของดานังได้มีการลดขั้นตอนการบริการที่มีความเสี่ยงเรื่องคอร์รัปชันเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะไม่ถูกเรียกรับสินบนในขั้นตอนการขอใบอนุญาตและใบรับรองต่างๆ รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุน (IPC) โดยคณะกรรมการประชาชนของดานัง เพื่อสนับสนุนการลงทุนในระดับท้องถิ่น ให้มีความโปร่งใส ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ ร่วมลงทุนและการได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ

 

ในภาคการท่องเที่ยวและการบริการสาธารณะ ได้จัดตั้ง Danang Information and Communications Department (DNICM)หน่วยปฎิบัติการด้านนวัตกรรม และ ICT เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ และพัฒนาเมืองไปสู่เป้าหมาย Smart City ในปี 2024 โดยมุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการเมืองผ่านซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น Danang Feedback App  เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะของเมืองและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในการจัดการปัญหาต่างๆ และ Danang Bus App  เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของเมืองให้มีมาตรฐานและใช้ตรวจสอบอัตราค่าบริการสำหรับนักท่องเที่ยว แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้รับความนิยมจากประชาชนและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลเปิดที่ประชาชนเข้าถึงได้ (Da Nang Data Center) ดังนั้น DNICM  จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนในการพัฒนาเมืองด้วยการสร้างช่องทางในการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและนำข้อมูลที่ได้มา สร้างนวัตกรรมที่ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น

 

นอกจากดานัง เมืองอื่นๆ ในเวียดนามก็กำลังต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้ การควบคุมคอร์รัปชัน (Control of Corruption) เป็นส่วนหนึ่งของ ดัชนีกำกับดูแลจังหวัดของเวียดนามและดัชนีประสิทธิภาพการบริหารสาธารณะ (PAPI) รวมถึงได้ระบุนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันไว้ใน แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี 2016 - 2020 (The Five Year Socio-Economic Development Plan) โดยมุ่งเน้นเรื่อง การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและกลไกการต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการติดตามและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิผล ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การกำกับดูแลการประกาศทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ การตรวจสอบการดำเนินงานของหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ การมีระบบปกป้องผู้ร้องเรียน รวมถึงส่งเสริมบทบาทของสื่อมวลชนและประชาชนในการร่วม ตรวจสอบได้อย่างอิสระ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความหวังที่จะลดคอร์รัปชันลงได้ในที่สุด

 

สำหรับประเทศไทยที่ปัญหาคอร์รัปชันยังกัดกร่อนความเจริญอยู่มาก อาจนำแนวทางของเมืองดานังมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น นำเอาโมเดลของดานังมาปรับใช้กับโครงการส่งเสริม พื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart City) ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ เพื่อช่วยตรวจสอบความโปร่งใสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ โดยโครงการ Smart City มุ่งเน้นให้รัฐบาลท้องถิ่นกระจายอำนาจสู่ประชาชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการเมือง และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมถึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนผ่านรูปแบบของบริษัทพัฒนาเมือง ที่ไม่ได้หวังพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการระดมทุนจากภาคเอกชนมาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น หากภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวทางการลงทุนที่เน้นความโปร่งใส มีมาตรการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงมีกลไกที่ช่วยให้คนในพื้นที่ได้ร่วมตรวจสอบและติดตามโครงการของภาครัฐได้อย่างสะดวก ย่อมส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนและการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด สมกับเป็นเมืองแห่งอนาคตของประเทศไทยในการแข่งขันกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw