ประเด็นร้อน

ปปง.อายัดเพิ่มอาคาร 800 ล้าน 'รัตนวิหารคต' ธรรมกาย โยงทุจริตสหกรณ์คลองจั่น

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 16,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ - -

 

ปปง.อายัดเพิ่มอาคารมหารัตนวิหารคต วัดพระธรรมกาย มูลค่า 778 ล้านบาท ไว้ตรวจสอบเป็นเวลา 90 วัน หลังพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงการทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ของ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ศิษย์เอกธรรมกาย


รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่คำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.206/2561 เรื่องอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราว โดยมีใจความสำคัญคือการสั่งอายัดอาคารมหารัตนวิหารคต ของวัดพระธรรมกาย ตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 186,187,188 และ 189 เลขที่ดิน 7,8,9 และ 10 ตำบลคลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินคือมูลนิธิธรรมกาย มูลค่า 778,400,000 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือวันที่ 25 ก.ย. 61 ถึงวันที่ 23 ธ.ค. 61

       

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสํานักงาน ปปง.ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือที่ ยธ 0805/1863 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เรื่อง ขอส่งเรื่องเพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทํา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดําเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 27/2559 โดยผลการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าวัดพระธรรมกายได้รับเงินตามเช็ค สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด นําเข้าบัญชีเงินธนาคารของวัดพระธรรมกาย เป็นเงินรวม 778,400,000 บาท และจากการขยายผลการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการเงินยังพบว่าวัดพระธรรมกายได้นําเงินดังกล่าวไปใช้ในการก่อสร้างโครงการมหารัตนวิหารคด โดยในสํานวนคดีพิเศษที่ 27/2559 มีการดําเนินคดีต่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 พระเทพญาณมหามุนี หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ในขณะนั้น) หรือพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 น.ส.ศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 และ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 ซึ่งได้นําเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จํากัด ไปโอนมอบให้บุคคลอื่นอีกหลายราย เป็นจํานวนหลายครั้ง โดยมีลักษณะของการโอนเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด หลายวิธีการเพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือปกปิดอําพรางการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดเหล่านั้นในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร

       

พฤติกรรมของผู้ต้องหา กล่าวคือ ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2555 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้เขียนเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด จํานวน 27 ฉบับ จํานวนเงิน 1,458,560,000 บาท สั่งจ่ายเงินให้แก่พระเทพญาณมหามุนี หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ในขณะนั้น) หรือพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ โดยมีเจตนาทุจริตการกระทําเข้าข่ายความผิด ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร อันเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (3) มาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว

       

ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม.255/2559 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เรื่องมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณีนําเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด ไปมอบให้บุคคลอื่นหลายรายเป็นจํานวนหลายครั้ง) และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ที่ ม.302/2561 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เรื่องมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายคดี นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณีวัดพระธรรมกายรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด เกี่ยวกับโครงการอาคารมหารัตนวิหารคต) พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก (กรณีวัดพระธรรมกายรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จํากัด เกี่ยวกับโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด) มีพฤติการณ์กระทําความผิด เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทํา ความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทําความผิด

       

รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทําความผิด จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคาร ตามโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทาง ทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มี การออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สิน ดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่ง ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว

       

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 17/2561 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล คือ อาคาร ตามโครงการอาคารมหารัตนวิหารคด ตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 186 ,187, 188 และ 189 เลขที่ดิน 7, 8, 9 และ 10 ตําบลคลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันออก อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน มูลนิธิธรรมกาย ในมูลค่าประมาณ 778,400,000 บาท (เจ็ดร้อยเจ็ดสิบแปดล้าน สี่แสนบาทถ้วน) มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2561 ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2561

       

ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

       

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.ได้ออกคำสั่งที่ ย.87/2561 อายัดอาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินจำนวน 91 แปลง อยู่ในชื่อมูลนิธิธรรมกาย มูลนิธิธรรมประสิทธิ์ หลังสอบสวนเส้นทางการเงินคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด พบว่า มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย โดยมูลนิธิธรรมกายได้รับเงินจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผ่านเช็คจำนวน 27 ฉบับ รวมวงเงิน 1,458 ล้านบาท และนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงด้วย

       

ปัจจุบันภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม ได้เข้าตรวจสอบการกระทำความผิดของอดีตพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายแล้ว ได้มีการดำเนินคดีต่อพระธัมมชโย กับพวกเป็นจำนวนกว่า 200 คดีแล้ว โดยอดีตพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อยู่ระหว่างหลบหนีคดีฐานความผิดร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน รับของโจร และถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2560

       

สำหรับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ถูกคุมขังในเรือนจำ หลังศาลชั้นต้นตัดสินมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์วงเงิน 22 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 14 ปี ก่อนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 7 ปี และยังมีคดีฟ้องร้องอีกหลายคดี รวมถึงคดีแพ่งที่ให้ชดใช้เงินคืนกว่า 9 พันล้านบาทด้วย

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw