ประเด็นร้อน

จะทำอย่างไรเมื่อใครๆ ก็ทุจริต ?

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 12,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ลงมือสู้โกง : โดย พนิดาภรณ์ อยู่ชื่น

 

"ใครๆ ก็ทำกัน" คงเป็นวลีที่คุ้นหู เวลาคุยกับใครเรื่อง การคอร์รัปชัน แม้ทุกคนจะถูกสั่งสอนมาโดยตลอดว่าการทุจริตคอร์รัปชันหรือการโกงนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่ควรกระทำ แต่พอเห็นว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากนัก หรือไม่เสี่ยงต่อการถูกจับได้ก็โกงกัน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้พอรวมกันเข้าหลายๆ ครั้ง หลายๆ คนก็กลายเป็น เรื่องใหญ่ และส่งผลกระทบต่อคนในสังคมเป็นจำนวนมาก ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน รู้แบบนี้ยังพูดว่าใครๆ ก็ทำกันได้อีกหรือไม่?

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 "ฉลาดเกมส์โกง" เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นการเล่าเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลายกลุ่มหนึ่ง ที่มีตัวเอกเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งแต่ต้องย้ายมาเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีการแข่งขันสูง และได้เจอกับเพื่อนคนหนึ่งที่เสนอวิธีหาเงินให้โดยการเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ ซึ่งการสอนพิเศษนั้นไม่ใช่สอนแบบให้ความรู้ แต่เป็นการสอนการส่งรหัสที่ใช้บอกคำตอบในห้องสอบ หรือการโกงข้อสอบนั่นเอง จนทำให้ชีวิตของนักเรียนเรียนดีคนหนึ่งต้องพลิกผัน อีกทั้งภาพยนตร์ยังมีการสอดแทรกเนื้อหาของการรับนักเรียนเข้าเรียนของผู้อำนวยการโรงเรียนว่ามีการรับค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือคำอื่นๆ ที่ใช้ เรียกแทนการจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนที่ดี โรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งในความเป็นจริงสังคมไทยมีข่าวเรื่องการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะอยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะเกิด ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ปกครองหลายท่านยอมจ่ายเงินหรือมอบของตอบแทนเพื่อแลกกับการที่บุตรหลานของตนมีโอกาสได้เข้าเรียน ในโรงเรียนเหล่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าที่จริงแล้วเรื่องทุจริตคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นการโกงข้อสอบระดับกลุ่มนักเรียน จนไปถึงการติดสินบนในระดับผู้บริหารโรงเรียนได้

 

จากเรื่องราวในภาพยนตร์ที่น่าจะเป็นมุมสะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นบทเรียนจากพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่ควรลอกเลียนแบบ มาสู่เรื่องจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทุจริตการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยเรื่องดังกล่าวเริ่มจากเด็กมัธยมที่ต้องการสอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งจะต้องยื่นผลงานศิลปะในการสอบเข้า นักเรียนคนดังกล่าวจึงติดต่อโรงเรียนสอนพิเศษด้านศิลปะแห่งหนึ่ง เพื่อจ้างวาดรูปไปใช้ยื่นเป็นผลงานของตัวเอง และได้เสนอค่าตอบแทนรูปละ 2,000 บาท แต่ดีที่ครูสอนพิเศษในโรงเรียนนี้ไม่รับ โดยสั่งสอนไปว่าการทำแบบนี้ถือเป็นการทุจริต และเปิดเผยเหตุการณ์ดังกล่าวสู่โลกออนไลน์เพื่อต้องการให้เป็น ข้อเตือนใจสำหรับสังคม ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมากมายหลาย แง่มุม เช่น ต้องการให้ยกเลิกวิธีการรับสมัครโดยการยื่นผลงานเพราะอาจจะตรวจสอบความสามารถของ ผู้สมัครได้ยาก และควรมีการตรวจสอบ เด็กนักเรียนคนดังกล่าวและให้หมดสิทธิ์สอบ เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "ฉลาดเกมส์โกง" ที่เริ่มจากการโกงเล็กๆ ภายในระดับชั้น จนขยายไปสู่การโกงข้อสอบระดับประเทศเพราะ ผู้กระทำไม่เคยถูกจับได้หรือถูก ลงโทษใดๆ จนเคยชินกับการโกงเพื่อ ให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เรื่องราวการทุจริตในละครหรือภาพยนตร์ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ได้จริงรอบตัวของเรา แต่เราเพียงแค่ ไม่เห็นหรือไม่ได้สัมผัสกับผลกระทบของปัญหาเหล่านั้นโดยตรง หากจะเปรียบเทียบว่าเรื่องราวการทุจริตมีตั้งแต่การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ มาจนถึงการทุจริตทางเท้าที่เราเดินกันอยู่ทุกวัน หลายคนมองไม่เห็นภาพว่าแล้วเรื่องเหล่านี้มีผลกระทบอะไรกับเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราพบเจอร้านค้าบนทางเท้าที่อยู่ในพื้นที่ห้ามขาย โดยเจ้าของร้านไม่ได้ คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้ทางเท้า มีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีสิทธิ์ในการตั้งร้านต่อไป เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมาก แต่หลายคนเลือกที่จะมองข้ามเพราะคิดว่าร้านค้าเหล่านั้นไม่ได้ไม่สร้างความเดือดร้อนอะไรมากมาย และไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเกรงกลัวอันตรายจากเจ้าของร้านหรือผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้อง แต่นั่นเท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้เรื่องทุจริตขยายวงกว้างขึ้น และลุกลามมากขึ้นอีกด้วย

 

มีเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนมองเรื่องทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง คือ โครงการ "ต้องแฉ หรือ MUSTSHARE" ซึ่งเป็นเพจในเฟซบุ๊คที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่มีประเด็นความสงสัยเกี่ยวกับการทุจริต และคนที่มีความรู้ เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ โดยเน้นนำเสนอประเด็นปัญหาใกล้ตัว ประชาชน ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การก่อสร้างตลาดประชารัฐปากเกร็ด โดยเริ่มจากมีผู้หวังดีส่งข้อมูลมาเล่าว่าตลาดนี้ไม่มีคนมาเดินซื้อของ เท่าไหร่เลย ร้านค้าก็น้อย ซึ่งไม่เกี่ยวกับ การทุจริต แต่หลังจากเปิดประเด็นไปแล้ว มีผู้สนใจเรื่องนี้จำนวนมาก จึงเริ่มมีข้อมูลความผิดปกติส่งมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องห้องน้ำคนพิการที่ล็อกไว้ไม่สามารถใช้งานได้ จนถึงเรื่องราคาการจัดซื้อจัดจ้างสร้าง ซุ้มถ่ายภาพหน้าตลาดที่สูงเกินไป สุ่มเสี่ยงกับการทุจริต โดยผู้ให้ข้อมูลได้เทียบราคาการผลิตจริงให้ดูเลย ต้องแฉจึงซึ่งร่วมทำงานกับสำนักข่าว อิศราอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกันสืบสาว เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่สนใจ ของประชาชนในวงกว้าง จนนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ต้องเรียกผู้ที่มีส่วน เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวมาตรวจสอบ และอธิบายรายละเอียดโครงการ ต่อสาธารณะเลยทีเดียว

 

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายโฆษณาผิดกฎหมายบนทางเท้า ที่เราเดินผ่านกันทุกวัน แล้วก็บ่น ทุกวันว่าเกะกะขวางทาง แต่ก็ไม่มีใคร ทำอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งมีประชาชน คนหนึ่งเกิดสงสัยว่าป้ายเหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่ จึงถ่ายรูปส่งมาถามที่เพจต้องแฉ จนมีผู้รู้มาช่วยตอบว่าผิดกฎหมาย กลายเป็นเรื่องที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ช่วยไลค์ ช่วยแชร์กันกว้างขวาง ทำให้ ภายในวันเดียวเจ้าหน้าที่ต้องมาถอนป้ายเหล่านี้ออกไปเลย จะเห็นได้ว่า เสียงเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

ต้องแฉแม้จะเป็นแพลตฟอร์มเล็กๆ แต่ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ว่าเราจะเป็นใครก็สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ เริ่มจากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา ที่เราพบเห็นเป็นประจำทุกวัน เพียงแค่เข้ามา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาไปสู่การแก้ไขด้วยกัน ให้สังคมได้รับรู้ว่าเรื่องทุจริตไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่ควรเป็นเรื่อง ที่ใครๆ ก็ช่วยกันแก้ไขได้

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw