ประเด็นร้อน

ต้านโกง-การเมืองต้องจริงใจ

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 02,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก คม ชัด ลึก - -

 

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ของพรรคการเมือง และนักการเมืองในการเลือกตั้ง 2562 โดยองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) โดยกลุ่มตัวอย่าง 3,054 คนทั่วประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เคยลงคะแนนเลือกตั้งมาแล้วร้อยละ 81 กับผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ร้อยละ 19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 28 เห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองควรตรวจสอบได้ รองลงมาร้อยละ 26 คิดว่า ควรจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นส่วนละร้อยละ 23 ตอบว่า ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะวางแผนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างไร และควรปฏิบัติได้จริงตามลำดับ ส่วนการประกาศนโยบายนั้นเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 42 เห็นว่า ต้องเป็นนโยบายที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ รองลงมาให้ระบุเป็นนโยบายที่สามารถตรวจสอบได้จริงร้อยละ 33 ส่วนที่เหลือบอกว่าเป็นนโยบายกว้างๆ

 

กับคำถามที่ว่า นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมือง นักการเมือง มีผลต่อการลงคะแนนหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24 บอกว่ามีผลมาก โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ให้ความเห็นว่า อยากเห็นประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ปราศจากการคอร์รัปชัน รองลงมาร้อยละ 25 ตอบว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะดีขึ้น ส่วนที่เหลือร้อยละ 16 เห็นว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นจะทำให้เงินภาษีได้ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนกลุ่มที่เห็นว่า นโยบายนี้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงร้อยละ 21 ในจำนวนนี้ร้อยละ 37 บอกว่า เป็นนโยบายที่ดีแต่ยากจะทำได้จริง รองลงมาร้อยละ 36 บอกว่าไม่ได้เลือกเพราะคอร์รัปชันแต่เลือกตามความถูกใจของนโยบายหลัก ร้อยละ 18 เห็นว่าตรวจสอบอย่างไรก็โกงกันหมด สุดท้ายร้อยละ 9 เห็นว่า ไม่ใช่ปัญหาหลักของประเทศ

 

ส่วนประเด็นเห็นด้วยหรือไม่ว่าพรรคการเมืองควรมีแนวทางชัดเจนเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน มีผู้ตอบถึงร้อยละ 65 ที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยร้อยละ 35 ทั้งนี้ ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยร้อยละ 36 มองว่า การทุจริตเรื้อรังมานานกำลังรอการแก้ไข ซึ่งร้อยละ 29 ระบุว่า ต้องอยู่ในนโยบายหลัก มีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนและให้ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 27 ต้องการเห็นการเมืองโปร่งใสปลอดจากคอร์รัปชั่น ร้อยละ 8 บอกว่า การป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชั่นจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย แม้จะมีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง แต่ก็น่าคิดตรงที่บอกว่า นโยบายหลักควรเป็นเรื่องปากท้อง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นร้อยละ 62 รองลงมาร้อยละ 25 เห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่สามารถทำได้จริง

 

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นรวมๆ ของประชาชน มักจะมองว่า นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันไม่สามารถทำได้จริง นั่นย่อมสะท้อนถึงความไม่เชื่อถือต่อนโยบายนี้มาพอสมควร มีข้อเรียกร้องของผู้ออกความเห็นให้แก้ไขโดยเร่งด่วนคือ การเปิดเผยข้อมูลสำคัญและส่งผล กระทบต่อประชาชน กำหนดมาตรการเชิงรุกในหน่วยงานรัฐเป้าหมาย รวมทั้งควบคุมจัดการสมาชิกในรัฐบาลและสมาชิกพรรคการเมืองเสียงข้างมากร่วมรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต เหล่านี้ล้วนเป็นการสรุปบทเรียนวงจรอุบาทว์ของสังคมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องให้จัดการกันเอง ก็คงจะไม่เป็นผลอันใด โดยเฉพาะในสภาพการเมืองอุปถัมภ์ที่มุ่งเน้นเอาชนะ โดยไม่สนใจวิธีการย่อมจะนำไปสู่การตกลงแลกเปลี่ยนในเส้นทางสู่อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ ดังนั้น พรรคการเมืองควรจะต้องมีแนวทางชัดเจนว่าจะมีมาตรการใดที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่จบลงด้วยแบบลูบหน้าปะจมูก ปฏิรูปการเมืองเป็นแค่คำพูดเอาเท่ตบตาประชาชน

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw