ประเด็นร้อน

ปราบโกงอย่าท่าดีทีเหลว

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 31,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ - -

 

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ออกมาแล้ว ปรากฏว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2017 ลดลง 1 คะแนนและเดิมอยู่อันดับที่ 96 ทั้งนี้ในกลุ่มอาเซียนจะอยู่ในอันดับที่ 5 ร่วมกับฟิลิปปินส์ ตามหลังสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้ 85, 63, 47 และ 38 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งเดิมนั้นเราอยู่อันดับที่ 4 ก่อนอินโดนีเซีย

 

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เผยแพร่เอกสารวิเคราะห์ผลคะแนนในปีนี้ระบุว่า มี 3 แหล่งข้อมูลที่ได้คะแนนลดลง ได้แก่ การประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่แม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนและนักธุรกิจไม่มีความรู้ความเข้าใจ ส่วนข้อมูลจากนักธุรกิจในประเทศและชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศต่างมีมุมมองการรับรู้ที่ลดลง เนื่อง จากการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหาทุจริตต่าง ๆ

 

ขณะที่ การวัดความหลากหลายของประชาธิปไตย ที่สอบตก เพราะปีที่ผ่านมาไทยยังขาดความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทำให้การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมเกิดความไม่ชัดเจน ทั้งนี้ นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ตั้งข้อสังเกตในช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาล คสช. การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างดีมาก มีเป้าหมายชัดเจน แต่ต่อมาภายหลังก็เหมือนอดีต เฉกเช่นกรณี "ยืมนาฬิกาเพื่อน" ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไม่มีความผิดแบบมติไม่เอกฉันท์ แม้มีคำอธิบายเหตุและผล แต่สังคมก็ยังคลางแคลงใจ

 

จะเห็นว่า ความเอาจริงเอาจังในการผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือน ท้ายที่สุดก็ไม่ต่างกันคือ มิอาจยืนระยะได้อย่างแน่วแน่และมั่นคงกลับ "ท่าดีทีเหลว" แม้ปีนี้ เราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งอาจส่งผลให้ค่าดัชนีปรับตัวสูงขึ้น แต่มิได้หมายความว่า ค่าดัชนีจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ จะปรับสูงตาม ตราบใดที่ภาพลักษณ์และพฤติ กรรมของนักการเมืองมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ฉะนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนต้องรวมพลังต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือสนับสนุน ทั้งบังคับใช้ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง ที่สำคัญยังเป็นบทพิสูจน์ของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw