ประเด็นร้อน

'ปฎิบัติการ' ก่อนจัดสรรที่ทำกิน 'น่าน แซนด์บ๊อกซ์'

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 14,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

บัณฑูร ล่ำซำ ขณะบรรยายความคืบหน้าโครงการNan Sand box เมื่อวันที่1ก.พ.62

 บัณฑูร ล่ำซำ ขณะบรรยายความคืบหน้าโครงการNan Sand box เมื่อวันที่1ก.พ.62

 

หลังจากพยายามมา 5ปี โครงการรักษ์ป่าน่าน ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูป่าน่านให้กลับมาเขียว ลบภาพเขาหัวโล้น เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่สมัครเป็นพลเมืองน่าน และเป็นหัวเรือใหญ่ในการฟื้นฟูป่าน่าน  ได้บอกเล่าความคืบหน้าของโครงการ Nan Sandbox ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติให้ภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันแก้ไข ทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน และสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้เกษตรกร  โดยรัฐบาลได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่48/2561 เมื่อวันที่ 14ก.พ.2561 บริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน :พื้นที่จังหวัดน่านขึ้น   ว่าจากปี2561 ซึ่งเป็นช่วงก้าวมาสู่การทดลองปฎิรูปบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีการดำเนินการที่เป็นจุดเริ่มต้นและมีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเชิญผู้นำ 99 ชุมชน (ตำบล) 15อำเภอ 924หมู่บ้าน  ในจังหวัดน่าน มาทำความเข้าใจ แนวทางการแก้ปัญหาทำกินและการฟื้นฟูป่าน่านไปพร้อมๆกัน

ผู้นำชุมชน99 ตำบล ข้าราชการ นักวิชาการ ร่วมฟังการบรรยาย

ผู้นำชุมชน 99 ตำบล ข้าราชการ นักวิชาการ ร่วมฟังการบรรยาย

 

โดยการทำความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งเปรียบเสมือนการทำข้อตกลงเบื้องต้นกับทั้ง99 ชุมชน มีกระบวนการที่สำคัญคือ การให้ผู้นำชุมชนทั้ง 99ตำบล ทำการสำรวจสภาพพื้นที่ ปัญหาและสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนในชุมชน ซึ่งการสำรวจที่ใช้เวลา 1ปี ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  แต่การดำเนินการในระดับข้อมูล ยังต้องใช้เวลาอีก 2ปีกว่าหรือในปี2563 จึงจะได้ข้อสรุปและนำไปสู่การลงมือปฎิบัติการอีกขั้น เนื่องจาก ต้องมีการนำข้อมูลที่ได้จากชุมชน มาเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ซึ่งโดยหลักการ ข้อมูลจากชุมชนและหน่วยราชการ จะต้องมีความถูกต้องตรงกัน

คู่มือชุมชนที่โครงการฯแจกให้99 ผู้นำชุมชน ไปสำรวจและเก็บข้อมูล

คู่มือชุมชนที่โครงการฯแจกให้99 ผู้นำชุมชน ไปสำรวจและเก็บข้อมูล เพือนำไปสู่การจัดสรรที่ทำกิน แก้ปัญหาความยากจน


"การเก็บช้อมูลของชุมชน แล้วนำมาสรุปวิเคราะห์  เพื่อทุกคนจะได้หาทางออกร่วมกัน ทำให้ปีที่แล้วเรามีการทำคู่มือชุมชน ทุกตำบล ต้องมีการเก็บรายละเอียดทุกอย่าง ใครมีปัญหาอะไรเก็บมาให้หมด เพราะจะเป็นข้อมูล นำมาซึ่งแนวทางในการได้สิทธิทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน เป็นสิ่งดีๆที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะใครเป็นฮีโร แต่เกิดจากการร่วมมือกันทุกฝ่าย เป็นลักษณะของประชารัฐ  เป็นข้อตกลงทั้งจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมลุยแล้ว "   บัณฑูรกล่าว


ปัญหาพื้นฐานของน่านนั้นก็คือ การที่น่านมีพื้นที่ลักษณะพิเศษ โดยพื้นที่ 85% ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ  ทำให้พื้นที่ทำกินของราษฎร เหลือเพียง 15% ในช่วง10-20ปีที่ผ่านมา กระแสทุนนิยม และระบบเกษตรอุปถัมภ์ ได้รุกเข้ามาถึงชุมชนต่างๆ กระตุ้นให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันขนานใหญ่ ก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งการบุกรุกขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ จนลึกมาถึงพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำ ส่งผลให้ป่าน่านกลายเป็นเขาหัวโล้น เกิดปัญหาร้อนแล้ง ขาดแคลนน้ำเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งอย่างหนัก กดดันให้ราษฎรต้องหันมาปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชใช้น้ำน้อย กลายเป็นวัฎจักรความเสื่อมโทรมที่ยังแก้ไม่ตกมาจนถึงทุกวันนี้

ตัวอย่างผลการเก็บช้อมูล ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน

ตัวอย่างผลการเก็บช้อมูล  ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน พบว่าชาวบ้านมีรายรับรวมประมาณ 48 ล้านแต่มีภาระหนี้สินรวม 130.2 ล้านบาท


บัณฑูร  กล่าวอีกว่า หัวใจหลักของการแก้ปัญหาน่านนั้น ก็คือการต้องแก้ปัญหาความยากจน ทำให้ขาวน่านสามารถอยู่รอดได้   ซึ่งในโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ ภาพรวมการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดน่าน  ให้สิทธิเกษตรกร สามารถใช้ประโยชน์และทำกินในพื้นที่ป่าสงวนได้  18%  อย่างถูกต้องตามกฎหมายชอบธรรม  เกษตรกร พื้นที่ส่วนนี้ สามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้ แต่เกษตรกร จะต้องยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืช เศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ป่าสงวนได้ ส่วนพื้นที่อีก 10%ต้องจัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แม้ในทางกฎหมายจะยังคงเป็นป่าสงวน นอกจากนี้ ในพื้นที่10%ยังเป็นการปรับคืนพื้นที่บางส่วนให้เป็นสภาพป่า  ส่วนพื้นที่ป่าสงวน 72%ในปัจจุบัน  ทุกคนต้องช่วยกันอนุรุักษ์ รักษาต้นไม้ให้คงอยู่ต่อไป

ภาพแผนผังการแบ่งสัดส่วนที่ดินโครงการNan Sand box

ภาพแผนผังการแบ่งสัดส่วนที่ดิน ในการบริหารพื้นที่ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจ.น่าน ตามโครงการNan Sand box


ในประเด็นสิทธิทำกินของชาวบ้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการภาครัฐ โครงการน่านแซนบ๊อกซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.จัดการที่ดินชุมชนแบบแปลงรวม ซึ่งจะมารองรับ โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ หรือให้สิทธิที่ทำกินราษฎรจังหวัดน่านได้อย่างดี แต่การจัดสรรที่ทำกิน จะเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อ ได้ข้อมูลการสำรวจที่ครบถ้วน แม้ว่าขณะนี้ 99ชุมชน ของน่านจะเก็บข้อมูลรายละเอียดครบแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ตรงกับการสำรวจของ คทช. ทำให้ต้องใช้เวลาในการสำรวจอีก ระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน ซึ่งคาดว่าในปี2563 จะได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์  นับว่าเป็นการดำเนินการที่เร็วมากจากปกติ ที่คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 20ปี กว่าจะสำรวจสำเร็จ


"ข้อมูลที่ได้จะนำมาสู่การจัดสรรที่ทำกิน ซึ่งในที่สุดทุกคนจะมีที่ทำกินของตัวเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และพ.ร.บ.การจัดการที่ดินชุมชนแบบแปลงรวม จะทำให้จากเดิม ชาวบ้านจะทำกินบนพื้นที่อุทยานหรือป่าสงวนไม่ได้ ก็จะสามารถอยู่ได้ อย่างถูกกฎหมาย  แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการ จัดสรร ก็คือ การได้พื้นที่ ที่ไม่เท่ากัน แต่ข้อมูลจากการสำรวจจะเป็นเหตุผลรองรับว่าใครควรได้พื้นที่เท่าไหร่  "ปลัดทส.กล่าว


ตามแผนของน่านแซนด์บ๊อกซ์  หลังจากจัดสรรที่ทำกินแล้ว ก็คือ การเข้าสู่ขั้นตอนการชักจูงให้ขาวบ้านหันหลังให้กับอาชีพปลูกข้าวโพด และหันมาทำมาหากินในอาชีพใหม่ บัณฑูร บอกว่าเรื่องให้ชาวบ้านทำอาชีพอะไร หรือปลูกอะไร  เป็นสินค้าแบบไหน เป็นโจทย์ใหญ่ ที่ยังต้องขบคิดต่อไป  แต่สิ่งสำคัญก็คือ สิ่งที่ชาวบ้านปลูก หรือผลิตจะต้องมีตลาดรองรับ มีมูลค่าที่ทำให้ขาวบ้านอยู่รอดได้


"การมีพื้นที่จำนวนเท่านั้น เท่านี้ ไม่ได้ยืนยันว่าชีวิตจะอยู่รอด ต้องมีพื้นที่จำนวนหนึ่งและต้องมีความสามารถในการทำมาหากินด้วย หมายความว่าพืชเกษตรที่ปลูกต้องมีมูลค่าทางเศรฐษกิจสูง ขายได้ราคาดี มีคุณค่า มีราคาที่กลับคืนมาสู่ผู้ผลิต หรือเกษรกรในจำนวนที่เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้   "


อย่างไรก็ตาม แต่ในช่วง"เปลี่ยนผ่าน"  ไปสู่"วิถีใหม่ " เลิกจากวิถีทำกินแบบเดิมๆ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  บัณฑูร เน้นย้ำว่า ในช่วงนี้จำเป็นต้องมีปัจจัยการเงินมาสนับสนุนชดเชยชาวบ้าน


"ในช่วงการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีเรื่องเงินมาช่วยมนุษย์ไหนๆ ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนวิถึการทำงานจากเดิม ไปสู่วิถีใหม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องจัดเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งไว้คอยช่วยเหลือ  และดีที่สุด คือการใช้งบฯจากภายนอก ไม่ใช่จากภาครัฐ ที่คงยุ่งยากมากกว่าจะได้มา   ซึ่งการหางบฯประมาณจากภายนอกจะคล่องตัวกว่า ซึ่งเราอาจจะต้องระดมเอง ผ่านโครงการรักษ์ป่าน่าน"

พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตี ลงพื้นที่ จ.น่าน

พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตี ลงพื้นที่ จ.น่าน รับฟังปัญหาจากบัณฑูร ล่ำซำ เมื่อ2ปีก่อน


แนวทางพัฒนาน่าน ที่"ซีอีโอแบงก์ อย่างบัณฑูร ล่ำซำ กำลังผลักดัน และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับน่าน นับว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะเป้าหมายของบัณฑูร ไม่ใช่แค่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับพื้นที่เล็กๆ หรือจุดใดจุดหนึ่งของจังหวัดน่านเท่านั้น แต่เป็นการผลักดันที่หวังผล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยับเขยื้อนทั้งจังหวัด


"เมื่อ 2ปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน  และเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้น  ระหว่างรัฐกับประชาชนสามารถบรรลุข้อตกลง ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ     และสิ่งที่เราทำจะป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป"บัณฑูรกล่าว

แผนที่จังหวัดน่าน ที่มีสภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขา

แผนที่จังหวัดน่าน ที่มีสภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเป็นป่าสงวนฯ แต่ถูกบุกรุกจนกลายสภาพเป็นเขาหัวโล้นจำนวนมาก

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw