ข้อมูลต่อต้านคอร์รัปชัน

EITI เพื่ออนาคตร่วมกันของคนไทย

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 17,2017

  EITI : เพื่ออนาคตร่วมกันของคนไทย 

ตามที่รัฐบาลไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก EITI เพื่อนำมาตรการสร้างความโปร่งใสในระดับสากลมาใช้กับโครงการสัมปทานขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและเหมืองแร่ต่างๆ ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้คนไทยได้ช่วยกันติดตามและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ

มีปัญหาความขัดแย้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อันเนื่องมาจากความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการความมั่งคั่งจากการสกัดหรือขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ถึงแม้ว่าทุกประเทศจำเป็นต้องนำทรัพยากรธรรมชาติของตนขึ้นมาเพื่อใช้หรือขายออกไปเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่จำเป็นต่อไป แต่ประชาชนกลับเชื่อว่าตนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากทรัพยากรเหล่านั้น เนื่องมาจากการคอร์รัปชัน การบริหารจัดการที่ขาดธรรมาภิบาล การบิดเบือนตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือสร้างผลกระทบแก่ชุมชนโดยขาดความรับผิดชอบก็ตาม

 

ความไม่ไว้วางใจที่เกิดจากความไม่โปร่งใส

การพูดคุยระหว่างภาคประชาชนกับรัฐและภาคธุรกิจยังเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนผู้ได้รับสัมปทานจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการน้อยมาก ทำให้ประชาชนที่ต้องการประเมินผลกระทบจากโครงการและคุณค่าหรือผลประโยชน์ของชาติที่ได้รับว่าคุ้มค่าเป็นธรรมหรือไม่ กลับทำได้ยาก เพราะการเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่ถูกต้องและเพียงพอดูจะเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศ การรับรู้จึงเป็นไปอย่างจำกัด

ภาพที่มักเห็นตามมาคือ การตอบโต้จากฝ่ายรัฐว่า “ข้อมูลที่ภาคประชาชนหรือกลุ่มเอ็นจีโอได้มานั้นไม่ถูกต้องหรือมีการบิดเบือน เป็นข้อมูลที่ไม่รู้จริง พูดโดยไม่หวังดีหรือมีอคติ” เป็นต้น ท่าทีเช่นนี้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจและกุมข้อมูลทั้งหมดอยู่ในมือ ไม่ได้ใส่ใจในความเห็นของประชาชน แต่ได้รอจังหวะที่จะตอบโต้หาเหตุปฏิเสธ การปฏิบัติต่อกันเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างสังคมที่สงบสุขอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้  

 

 

ต้องเริ่มต้นจากความโปร่งใส

เพื่อลดความขัดแย้งและยุติไม่ไว้วางใจกัน จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสในการพูดคุยกัน โดยเริ่มจากทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดการยอมรับและปรับมุมมองที่ต่างกัน ด้วยการสร้างกติกาให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่ในรูปแบบที่เหมาะสม ทันเวลา และได้มาตรฐานสากล โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงและสืบค้นเพิ่มเติมได้ง่าย

เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องรอบด้านแล้ว ก็ง่ายที่ภาคประชาชนจะนำความรู้นี้ไปศึกษาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะและนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบายของรัฐที่เกียวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

            ดังนั้นจึงมีการเสนอให้รัฐบาลนำ “โครงการสร้างความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ” มาเป็นกลไกให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตามมาตรฐานสากล

 

บทบาทของ EITI

EITI : Extractive Industries Transparency Initiative มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2003 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อช่วยประเทศสมาชิกในการพัฒนาระบบความโปร่งใสเกี่ยวกับการจัดการรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และเหมืองแร่  โดย EITI ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจน NGOs กว่า 400 แห่ง เช่น บริษัทขุดเจาะชั้นนำ World Bank, IMF, International Council on Mining and Metals และสถาบันการลงทุนกว่า 90 แห่ง ปัจจุบันมีสมาชิก 48 ประเทศ

EITI จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในการจัดตั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Multi - Stakeholder Group : MSG.) ขึ้นมาเป็นองค์คณะ “EITI ระดับประเทศ” ซึ่งจะประกอบไปด้วยตัวแทนของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาสังคม เพื่อทำหน้าที่วางระบบการเปิดเผยข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เรียกว่า “EITI Standard” ที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่เคลือบแคลงใจ ขณะที่การเข้าร่วมตัวแทนของภาคประชาชนจะเป็นไปโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด อาจถอนตัวหรือปฏิเสธข้อมูลที่ไม่เห็นด้วยหรือไปดำเนินการเคลื่อนไหวตามวิถีทางของตนอย่างอิสระได้ทันทีเมื่อต้องการ

ภายใต้มาตรฐาน EITI Standard นี้ รัฐบาลต้องเปิดเผยผลประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจสกัดทรัพยากรในประเทศ ไม่ว่าอยู่ในรูปของภาษีหรือประโยชน์อื่นใด และบริษัทที่ประกอบธุรกิจสกัดทรัพยากรในประเทศจะต้องเปิดเผยรายได้ทั้งหมดที่ได้ส่งมอบให้รัฐบาลในลักษณะเดียวกัน และอาจรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สัญญาสัมปทาน ข้อมูลการผลิต ภาษี และการจัดสรรรายได้จากทรัพยากร ฯลฯ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในรูปของรายงาน “EITI Report” โดยมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน ด้วยกลไกนี้เชื่อว่าทุกคนจะสามารถรับรู้และเห็นข้อมูล รับรู้ความจริงที่เป็นจริงมากที่สุดว่า ใครทำอะไร ใครได้อะไร

 

บทสรุป

EITI มีเพื่อสานประโยชน์และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การปฏิบัติตามมาตรฐาน EITI ถือเป็นพันธสัญญาของรัฐ ที่ต้องปฏิบัติโดยรัฐ ด้วยความร่วมมือของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันก็เป็นไปไม่ได้ ผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายต้องการก็ไม่เกิด

วันนี้หมดยุคที่รัฐบาลหรือบรรดาผู้มีอำนาจและนักธุรกิจจะทำอะไรตามอำเภอใจอีกแล้ว แต่ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ร่วมตัดสินใจในเรื่องนโยบายสาธารณะผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  เพราะ “ความโปร่งใสเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบ จนส่งผลให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในที่สุด” ถ้าพัฒนาถึงขั้นนี้ได้ก็ถือความสำเร็จของประเทศชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ

เขียนโดย

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), 19 ตค. 2558,

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://thaigoodgovernance.files.wordpress.com/2015/05/eiti-e0b982e0b884e0b8a3e0b887e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8aae0b8a3e0b989e0b8b2e0b887e0b884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b982e0b89be0b8a3e0b988e0b8871.pdf