ประเด็นร้อน

กรณีศึกษา ''พลังของข้อมูล''

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 24,2017

กรณีศึกษา 'พลังของข้อมูล' ฟื้นเศรษฐกิจ-ต้านคอร์รัปชัน 
 
ในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 ของ "TDRI" หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้หยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นถึง "พลังของข้อมูล" ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ และแก้คอร์รัปชั่น ได้อย่างเป็นรูปธรรม Big Data แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ
 
"ชยธร เติมอริยบุตร" นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การใช้บิ๊กดาต้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ อาทิ ประเทศศรีลังกาใช้ภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับการประมวลผลด้วยแมชีน เลิร์นนิ่งเพื่อสร้างดัชนีความยากจน โดยแยกประเภทของหลังคาและคุณภาพของถนน เมื่อสามารถหาความสัมพันธ์ของภาพถ่ายดาวเทียมและคนจน จากนั้นนำข้อมูลมาจัดทำเป็นแผนที่ความยากจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการจัดกลุ่มและออกนโยบายได้ดีขึ้น และจากข้อมูลเหล่านี้ เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น มาตรวจสอบความเหมาะสมของการให้สวัสดิการได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยระบุเป้าหมายคนจนเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีภาพถ่ายดาวเทียมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง รวมทั้งยังไม่ได้นำเอาแมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้จริงจังเช่นกัน
 
"ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ธนาคารโลกระบุว่าประเทศที่กำลังพัฒนา โทรศัพท์มือถือเข้าถึงคนได้ดีกว่าโครงสร้างพื้นฐานอย่างน้ำประปาหรือไฟฟ้า การใช้ข้อมูลจากเสาโทรศัพท์ช่วยทำให้รู้ตำแหน่งที่อยู่ การใช้งาน ซึ่งในประเทศไทยลงลึกได้ถึงระดับตำบล ขณะที่ ค่าใช้บริการโทรศัพท์ก็เป็นตัวสะท้อนความยากจนได้ดีที่สุด แต่มีสองอุปสรรคใหญ่ ๆ คือ 1.ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว 2.กฎหมายยังไม่เอื้อให้มีการประมวลผลข้อมูลจากมือถือ เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกจากใช้ในกิจการโทรคมนาคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรต้องร่วมกันกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อวิจัยและพัฒนา โดยข้อมูลบิ๊กดาต้าเหล่านี้ไม่ได้ใช้แค่แก้ปัญหาความยากจน แต่รวมไปถึงปัญหาการจราจร ทั้งหากมีการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เช่น จดทะเบียนคนจนที่กระทรวงการคลัง, จดทะเบียนผู้พิการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ยังมีประโยชน์ในเชิงนโยบายมาก ต้านคอร์รัปชั่นด้วยการเปิดข้อมูล
 
ด้าน "ธิปไตร แสละวงศ์" นักวิชา TDRI เปิดเผยว่า ข้อมูลช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้จริง โดยเริ่มจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ในปี 2558-2559 มีงบประมาณมหาศาลถึง 9 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 30% ของงบประมาณทั้งหมด แต่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึงปีละ 6-7 พันเรื่อง
 
"TDRI จึงจะใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการจับการทุจริต โดยนำข้อมูลจีเพอร์เคียวเม้นต์ (ข้อมูลจัดซื้อภาครัฐ) ที่เปิดเผยให้คนดู โดยดูได้ที่ www.data.go.th มาวิเคราะห์ โดยข้อมูลที่ได้นำมามี 5.4 ล้านรายการ เป็นงานจ้างก่อสร้าง 4 แสนรายการ แม้จำนวนไม่เยอะแต่มีมูลค่า 60% ของงบฯ ทั้งหมด"
 
โดยเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลของกรมที่มีการก่อสร้างมากที่สุด ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน พบว่ามีความแตกต่างระหว่างการประมูลและราคากลางในปี 2559 โดยมีราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคากลาง 14% รัฐประหยัดเงินได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในปี 2559 รัฐปรับมาใช้วิธีที่ทำให้แข่งขันมากขึ้น โดย 63% เป็น e-Bidding ซึ่งเอื้อต่อการแข่งขัน เพราะให้ผู้เข้าประมูลเสนอราคาจากที่ใดก็ได้ ส่วน 12% เป็น e-Auction ที่ยังกำหนดให้ต้องเข้าร่วมประมูล ณ ที่เดียว ทั้งยังพบว่าการที่หลายจังหวัดมีการกระจุกตัวของผู้รับเหมาที่ถือส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาสุดท้ายไม่ได้ต่ำจากราคากลางมาก ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
 
"ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ข้อมูลนอกจากจะทำให้โปร่งใสขึ้น ยังทำให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบได้ง่าย เป็นตัวเร่งการคอร์รัปชั่นให้ลดลง มีการทดลองด้วยการใช้ข้อมูลจากเกม "The Corrupt" เพื่อดูการตัดสินใจของคนต่อการคอร์รัปชั่น ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในเกม 75% ไม่ยอมจ่ายสินบน 60% ไม่ยอมช่วยเพื่อนในทางที่ผิด แปลว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ อยากทำสิ่งผิด แต่ในความเป็นจริง 33% ที่ทำสิ่งที่ถูก ดังนั้น ถ้ามองในภาพรวมคนมีความตั้งใจที่ดี และมีความพร้อม แต่กลไกในชีวิตจริงมีอะไรให้คิดเยอะ
 
ดังนั้น ปัญหาคือจะทำอย่างไรในชีวิตจริงให้คนทำดีโดยไม่ต้องคิดเยอะ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะนำบิ๊กดาต้าและโอเพ่นดาต้ามาใช้ เช่น 1.นำแอปพลิเคชั่น "ยุพิน" (Yupin) มาใช้ให้ประชาชนปักหมุดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา เช่น ถนนหน้าบ้านทรุด โดยนำโอเพ่นดาต้ามาใช้เสริม เช่น เพิ่มข้อมูลว่าสร้างครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ โดยใคร ใช้งบฯเท่าไหร่ เป็นต้น 2.ใช้แอปพลิเคชั่น ไอเพด อะ ไบรบ์ (I Paid a Bribe) ที่ใช้กันในอินเดีย โดยเอามาประยุกต์ใช้ในไทยให้แจ้งได้ว่าใครรับสินบน เป็นต้น แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ค่อยอยากเปิดข้อมูล เพราะไม่อยากให้รู้ผลงาน คุณภาพของข้อมูลที่อาจจะไม่แม่นยำ และกลัวว่าเปิดเผยแล้วจะติดคุก
 
สมดุลข้อมูลส่วนบุคคล "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในยุคของ บิ๊กดาต้า การให้และการใช้ข้อมูลต้องถ่วงดุล ให้ดีระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ โดยปัญหาของประเทศไทยตอนนี้มีการคุ้มครองข้อมูลของรัฐ และคุ้มครองข้อมูลของเอกชน ซึ่งไม่เหมือนกัน เนื่องจากมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ดังนั้น ภาครัฐไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง และข้อมูลส่วนบุคคล แต่ไม่ได้ตีกรอบจำกัดไว้ ส่วนเอกชนก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลเอกชนสำหรับเอกชน นั่นหมายความว่าเอกชนสามารถใช้ข้อมูลส่วนตัวเราได้
 
ดังนั้น การปรับปรุงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยต้องแยกเป็น 3 กลุ่มตามแบบประเทศญี่ปุ่น คือ 1.ถอดข้อมูลที่บ่งบอกว่าเป็นใครออกแล้วให้ถือว่าเป็นข้อมูลทั่วไป 2.ข้อมูลที่ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตน ต้องขออนุญาตก่อนนำไปใช้ และต้องระบุว่าใช้ทำอะไร 3.ข้อมูลที่อ่อนไหว เช่น ข้อมูลการรักษาพยาบาล ต้องได้รับคำยืนยันจากเจ้าของว่าให้ใช้ และการเชื่อมโยงข้อมูลของญี่ปุ่นก็ไปไกลมาก โดยประชาชนของญี่ปุ่นจะมีหมายเลขเดียวที่ใช้ได้ทุกอย่าง เช่น ทำพาสปอร์ต ใช้บริการสาธารณสุข แต่ก็มีบางส่วนที่กลัวและไม่เห็นด้วย ซึ่งถ้าจะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะกำกับดูแลอย่างไร
 
สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการมี 3 เรื่อง 1.นโยบายการสร้างข้อมูล ต้องมีข้อมูลที่ดี แม่นยำ ทันเหตุการณ์ เชื่อถือได้ ได้มาตรฐาน สร้างมาตรฐานให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยสำนักงานสถิติฯ 2.นโยบายการใช้ข้อมูล ต้องเชื่อมโยงกัน โดยสภาพัฒน์ลดค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่าและเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานที่จำเป็นในการเชื่อมโยงข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 3.นโยบายในการใช้ข้อมูลในการกำหนดนโยบาย โดยต้องปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และประกาศเป็นโอเพ่น กัฟเวิร์นเมนต์ดาต้า ต้องมีกฎหมายคุ้มครองส่วน บุคคล
 
ถ้าจะป้องกันการคอร์รัปชั่น รัฐแค่เปิดเผยข้อมูลก็ป้องกันคอร์รัปชั่นได้แล้ว เพราะเชื่อว่ามาตรการหรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ใช้เงิน คือ ให้รัฐเปิดเผยข้อมูลมาให้มากที่ สุด ดังนั้น ในงานวิจัยก็พยายามยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงพลังของข้อมูล ถ้ารัฐเปิดเผยข้อมูลแล้วจะใช้ข้อมูลมาป้องกันการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร"

--สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม 2560--