บทความ

เมื่อเงินใต้โต๊ะ ทำให้คนไทยซื้อบ้านแพงขึ้น !!

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 04,2019

 

มีประชาชนสอบถามมามากว่า จริงหรือ..บ้านและคอนโดที่คน กทม. ต้องควักกระเป๋าซื้อมาแพงๆ เป็นเพราะคนขายบวก “เงินใต้โต๊ะ” ที่ต้องจ่ายให้ข้าราชการบางคนเข้าไปด้วย? แล้วมันเยอะมากแค่ไหน?


คำตอบคือจริงครับ เพราะผู้ประกอบการแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจัดสรร ใบอนุญาตก่อสร้างและอีกสารพัด ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานไว้ แต่จ่ายมากแค่ไหน มาดูข้อมูลต่อไปนี้


HOME

 

ปี พ.ศ. 2561 มีโครงการจัดสรรบ้านและคอนโดมิเนียมเปิดขาย ทั้งขนาดเล็ก – กลาง – ใหญ่ แยกเป็น คอนโดมิเนียม 61,000 ห้อง และอาคารแนวราบหรือบ้านเดี่ยว/ทาวน์เฮ้าส์/ตึกแถว 22,000 หลัง


ประเภท คอนโดมิเนียม ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ 2,700 – 4,100 บาทหรือเฉลี่ย 3,455 บาท/ห้อง x 61,000 ห้อง คิดเป็นเงิน 210,755,000 บาท


ประเภท บ้านเดี่ยว/ตึกแถว/ทาวเฮ้าส์ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ 5,800 – 12,000 บาทต่อหลังหรือเฉลี่ย 8,995 บาท/หลัง x 22,000 หลัง คิดเป็นเงิน 197,890,000 บาท


รวม 2 รายการ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 408,645,000 บาท


ที่กล่าวมายังไม่รวม “ค่าดูแล” หรือ “ค่ามองไม่เห็น” ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้คนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสารพัดหน่วยงาน ที่มาเรียกเก็บเป็นรายเดือนหรือคิดเหมาตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้าง


เงินเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราคาบ้านและคอนโด ที่ผู้ซื้อทุกคนต้องรับภาระไปหลังจากผู้ประกอบการได้บวกดอกเบี้ยและค่าดำเนินการเพิ่มเข้าไปอีก


ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะในปี 2561 มีคน กทม. ที่สร้างบ้านเองและผู้ประกอบการที่สร้างบ้านขายจำนวนน้อยจึงไม่เข้าเกณฑ์เป็นบ้านจัดสรร อีก 27,000 หลัง ซึ่งเชื่อเถอะครับว่า ทุกรายต้องจ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่กล่าวมาหลายเท่าตัว


ส่วนพวกก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อพาร์ทเม้นท์ โรงงาน โกดัง และ ประชาชนทั่วไปหรือคนค้าขายที่ต่อเติมบ้าน - ร้านค้า ที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลจำนวนและวงเงิน


จึงเชื่อได้ว่า เงินใต้โต๊ะที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับข้าราชการบางกลุ่มตั้งแต่ระดับล่างจนถึงผู้บริหาร เมื่อไปยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารใน กทม. จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี


ตัวเลข “ค่าใช้จ่ายพิเศษ” เหล่านี้เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง มิใช่งานศึกษาวิจัยทางวิชาการ โดยผู้เขียนมีเจตนาที่จะแสดงข้อมูลให้เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคม


ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)



ข่าวเกี่ยวเนื่อง:

- สนง. ป.ป.ท. “การศึกษารูปแบบการทุจริต กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร”, 2561 http://bit.ly/2Xrfov8

- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยื่นจดหมายถึงผู้ว่า กทม. ให้เร่งแก้ปัญหาสินบน - เงินใต้โต๊ะ

https://www.isranews.org/

- เงินใต้โต๊ะ ต้องจ่ายเท่าไหร่ https://www.isranews.org/isranews-ar

- ขนิษฐา ฮงประยูรกับคณะ (2560), รายงานการศึกษาเรื่อง “คอร์รัปชันในกรุงโซลและกรุงเทพฯ” https://tdri.or.th/2018/02/corruption-in-seoul-and-bangkok/

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw