ประเด็นร้อน

แกะรอยทุจริต 577 ล้าน CCTV 39 โรงเรียนแดนใต้

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 29,2017

หลังจากมีการร้องเรียนการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างระบบกล้องโทรศัพท์วงจรปิดโรงเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
ในโครงการ "เซฟโซนสคูล" ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 10 เขต และ สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) 2 เขต รวม 1,104 แห่ง งบประมาณ 577 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมของสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาคใต้ (ปปท.) เขตพื้นที่ 9 จ.สงขลา 

โดย พ.ต.ท.สามารถ ไชยณรงค์ ผอ.ปปท.เขตพื้นที่ 9 เปิดเผยว่าการตรวจสอบแยกออกเป็น ประเด็นแรก การติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) เป็นไปตามสัญญาหรือไม่ จากการสุ่มตรวจเบื้องต้นพบว่าแต่ละจุด แต่ละโรงเรียนมีการติดตั้งไม่ครบตามแบบที่แนบในสัญญา อย่างเช่น กำหนดว่าเครื่องรับสัญญาณภาพจะต้องสามารถรองรับภาพได้ 16 กล้อง แต่สามารถรองรับได้แค่ 6 ตัวเท่านั้น ส่วนประเด็นที่สอง จะดูว่าราคาสูงไปหรือไม่ เพราะแต่ละจุดกำหนดราคากลางไว้ที่ 366,920 บาท แต่เวลาติดตั้งแล้วจะลดเหลือ 365,000 บาท หรือ ลดลงประมาณ 1,000 บาท ถึง 1,500 บาท ขณะที่สืบราคาจากท้องตลาด กล้องวงจรปิดตัวหนึ่งราคาอยู่ประมาณ 4,000-5,000 บาทเท่านั้น ประเด็นที่สาม คือมีบริษัทที่เข้ามารับงานเพียง 4 บริษัท ซึ่งคล้ายมีการสมยอมกัน เช่นบริษัทหนึ่งไปได้อีกเขตหนึ่ง แต่อีกเขตหนึ่งบริษัทที่เคยได้งานกลับไปยื่นไม่ครบทำให้ได้อีกบริษัทหนึ่งได้งานไปสรุปก็คือว่าทั้ง 4 บริษัทไปยื่นครบทุกเขต แต่ทั้ง 4 บริษัทก็ได้งานสลับพื้นที่กันไป คล้ายกับว่าเจตนาหลีกทางให้กัน 

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่ ทั้งนี้ ในส่วนที่พบว่าการติดตั้งไม่ครบถ้วน ตามสัญญา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ หรืออาจจะถูกขอให้ตรวจรับก็ตาม เมื่อมีการกระทำที่ไม่ถูก คณะกรรมการปปท. ก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนดำเนินคดี ส่วนประเด็นราคาจะแพงไปหรือไม่ ความจริง ปปท.ไม่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสงสัยก็จะส่งเรื่องนี้ให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเรื่องการสมยอมราคา ก็จะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป สำหรับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ส่วนใหญ่จะมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นประธาน ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจของปปช. ตรงนี้ก็อาจจะส่งให้ปปช.ดำเนินการ แต่ถ้าหากว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุคณะใดตำแหน่งประธาน อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้อำนวยการกอง ตรงนี้จะอยู่ใน อำนาจของปปท. อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเอกสารเพิ่มเติม คาดว่าประมาณเดือน เม.ย.น่าจะสามารถได้เอกสารสมบูรณ์สำหรับโทษในกรณีนี้คือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ มาตรา 162 "คดีนี้จะว่าไปแล้วก็ค่อนข้างใหญ่ เพราะมีมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท และที่สำคัญคือมีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก ทั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ" 

ส่วนหลักฐานที่มีอยู่นั้น ถ้าดูจากองค์ประกอบของความผิดไม่ต้องมากมายอะไร คือ 1.ตรวจบันทึกการตรวจรับพัสดุ ว่าตรวจรับอะไรไว้บ้าง เพราะส่วนใหญ่ในการตรวจรับจะต้องลงบันทึกว่าได้ตรวจรับพัสดุไว้ครบถ้วน ถูกต้องตามแบบที่แนบในสัญญา แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับพัสดุที่ติดตั้งและจัดส่งมาให้ว่าเป็นไปแบบที่แนบในสัญญาหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามแบบแม้แต่นิดเดียวก็ถือว่าผิดแล้ว

--สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มีนาคม 2560 --
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : 
www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635225