ประเด็นร้อน

ปลุกพลังเงียบ องคมนตรี แนะน้อมนำพระราโชบายจิตอาสา รวมพลังคนไทยปราบคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 07,2019

 

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ไม่เพียงส่งผลกระทบสร้างความเสียหายร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มลุกลามรุนแรงขยายไปทุกระดับ ทุกวงการ และทุกสาขาอาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสกัดกั้นและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ ความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันสกัดกั้นและขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน

 

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในฐานะที่เคยมีบทบาทเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้วางแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม มองว่า แนวทางการปลุกพลังเงียบให้ประชาชนตื่นรู้ ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการทุจริต ทั้งการชี้เบาะแสให้ข้อมูลนั้นคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยน้อมนำพระราโชบาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. มาปรับใช้

 

โดยในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 6 กันยายน ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายทั้งองค์กรอิสระ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และสื่อมวลชน จัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษ ‘รวมพลังคนไทย อาสาสู้โกง’ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

 

“เรียนท่านประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ท่านประธานสภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย ท่านประธานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมา

 

องค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นเวลา 7-8 ปีมาแล้ว มีผลงานออกมามากมาย เป็นวิวัฒนาการการเมืองช่วงรัฐบาล คสช. 5 ปี ในสมัยที่ได้ร่วมงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านสั่งผมในสมัยนั้นว่า ให้ทำให้เต็มที่ ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ในเรื่องการงานกับองค์กร ACT ก็แนบแน่นมาตลอด

 

การทุจริต ท่านวิเชียร (นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกเป็นปัญหาสำคัญซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ผมฟังสื่อมวลชนเมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เขาน่าจะใช้ตัวเลข CPI ( Corruption Preception Index) พูดถึงประเทศสิงคโปร์และประเทศไทยอย่างน่าฟัง ฐานของข้อมูลนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็น่าฟังว่า สิงคโปร์ได้คะแนน 85 ไม่ทราบว่าของไทยเท่าไหร่ แต่สมัยที่เราทำกันอยู่ก็ประมาณ 36-37 น่าจะประมาณนี้ เขาพูดถึงว่า นั่นหมายความว่าใน 100 บาท สิงคโปร์มีเงินหายไป 15 บาท หรือ 100 เหรียญหายไป 15 แต่ของไทยหายไปเกือบ 70 % 

 

ผมไม่ได้บอกให้ท่านฟังตัวเลข แล้วมาบอกว่ามันผิดหรือถูก แต่มันเป็นเรื่องที่น่ารับฟังว่า เงินที่จะนำไปพัฒนาประเทศ สิงคโปร์ใช้เงินได้ถึง 85 ใน 100 บาท แต่เราใช้ได้แค่ 30-40 บาท ประมาณนั้น แล้วเราจะไปสู้ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ได้อย่างไร จะไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภค พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไร  เขาเปรียบเทียบได้อย่างน่าฟัง สิ่งที่คุณวิเชียรพูดว่ามันวิกฤตมันก็เป็นเรื่องจริง เพราะว่าเงินเราใช้ได้แค่นี้จริงหรือ แล้วมันไปไหน มันคอร์รัปชันจริงหรือเปล่า มันหายไปไหนได้อย่างไร แล้วจะไปสู้การพัฒนาประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ในเมื่อการพัฒนาประเทศต้องใช้งบประมาณ

 

ถ้าเปรียบเทียบกับกัมพูชามันหนักเข้าไปอีก ตัวเลขกัมพูชาใช้แค่ไม่ถึง 20 % ประมาณนี้ อันนี้เป็นตัวเลขเปรียบเทียบว่าเงินที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ ถ้ามีเท่าๆ กัน โดยไม่พูดถึงจำนวนเต็ม แต่เปอร์เซ็นต์ของมันน่าตกใจ 

 

เงินพวกนี้ไปไหน สมัยผม ผมพูดประจำว่า ทั้งหมดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาในการบริหารงบประมาณ เรื่องพวกนี้เกิดจากการเสพอำนาจและผลประโยชน์ บ้านนี้เมืองนี้บริหารกันอย่างไร ผมเคยพูดว่าบริหารด้วยข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นผู้ใช้งบประมาณ ใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้คือความคิดผม คือสิ่งที่ผ่านมาในสมัยที่ผมทำงาน ท้ายสุดงบประมาณแผ่นดินมีใครมีส่วนร่วมก็คือผู้ประกอบการ ต้นสาเหตุหลักคือคนที่บริหารงบประมาณ บริหารทรัพยากรของชาติคือข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเห็นได้เมื่อเกิดคดีความเรื่องพวกนี้ขึ้นก็จะเห็นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำให้เกิดปัญหาพวกนี้ 

 

เราพูดถึงระบบราชการก็จะพูดถึงกลุ่มข้าราชการ นักการเมืองจบไปแล้วล่ะ ข้าราชการก็มีส่วนที่ทำงานภายใต้รัฐบาล ปปท. หรือองค์กรอิสระ แต่เป็นราชการเช่น ป.ป.ช. สตง. หรือกระบวนการที่เข้ามาทำให้เกิดความยุติธรรม ปฏิบัติตามกฎหมาย คืออัยการ ศาลยุติธรรม ก็เป็นข้าราชการ ผมซีเรียสกับสิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่าง ระบบอุปถัมภ์กับผลประโยชน์ทับซ้อนที่อยู่ในนั้น

 

ผลประโยชน์เองไม่ได้หมายความแค่ว่าทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว ความก้าวหน้าทางราชการ ความปลอดภัยของครอบครัว ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ก็ลังเล ประวิงเวลา มันก็จะทำให้ความรู้สึกของคนในชาติ คนที่ทำงานในเรื่องพวกนี้ก็มองว่า ทำไมทำแล้วมันไม่เรียบร้อยเสียที ทำไมมันล่าช้า นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่ามันมีผลประโยชน์ตลอดเวลา ผมยืนยันว่าไม่ง่ายที่จะดำเนินการ

 

สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี มีเรื่องที่ผมทำงานเรื่องยาเสพติด มันเหมือนกันเลยตรงที่ว่า ถ้าท่านเข้าไปในหมู่บ้าน ไม่มีชุมชน ไม่มีใครไม่รู้ว่าบ้านหลังไหนค้ายาเสพติด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็จะรู้เรื่องดีว่าใครเสพ ใครค้า ใครเป็นเอเย่นต์ แต่เราหาคนที่จะชี้หรือส่งข้อมูลยากมาก  ก็เหมือนกับปัญหาการทุจริต มันยากมากที่จะหาคนชี้ ข้าราชการที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หรือหน่วยงานอิสระ มันก็มีเนื้อหาของผลประโยชน์อยู่ในนั้น 

 

ผมกำลังนิยามว่า ผลประโยชน์ให้หมายถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวและของครอบครัวด้วย  นั่นคือผลประโยชน์ หรือการอุปถัมภ์ ความก้าวหน้าในการงาน มันใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยาก สำหรับคนทำงานที่มุ่งหวังที่ตั้งใจจริงๆ ที่จะให้หมดไป โดยเฉพาะการทุจริตมันสร้างคนให้มีสถานะ สร้างความเป็นอยู่ เหมือนกับเรื่องยาเสพติด ทำแล้วรวย สร้างฐานะแบบก้าวกระโดด แต่การขจัดปัญหา คือการหาคนที่จะมาร่วมมือ ที่จะมาชี้

 

ทุกคนรู้ ทำไมโครงการนี้ มันเกิดอะไรขึ้น มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างมันจบที่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการองค์กรอิสระ มันจะต้องเข้ามาตรงนี้ จะต้องให้ความเป็นธรรมในเรื่องการหาหลักฐาน หาข้อมูล ปัญหาความล่าช้า ความไม่ทันใจ มันจึงเกิดขึ้น

 

เวลาเราทำงาน สมัยผมเป็นรัฐมนตรีพูดเสมอว่านโยบายภาครัฐหรือองค์กรของรัฐต่างๆ  ไม่มีทางสำเร็จได้เลยหากขาดความร่วมมือของประชาชน ท่านจะเห็นได้ว่า โครงการดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ บางกระทรวงยังโกงกันได้เลย เพราะฉะนั้น ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านชนบท ห่างไกลความเจริญ ซึ่งควรได้รับประโยชน์จากสวัสดิการของรัฐ ทำไมถึงไม่มีโอกาสเข้าถึง เพราะสิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐมันไม่สามารถลงไปสู่ชุมชนได้เลย แล้วก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้เลยว่า เขามีสิทธิโดยชอบธรรม และสิ่งนี้คือเงินภาษีราษฎรทั้งสิ้น ที่รัฐบาลจัดสรรให้คนกลุ่มนี้ แต่ทำไมถึงเกิดการทุจริต 

 

บางที่เราจะได้ยินข่าวว่าให้ 1,000 แต่ชาวบ้านไปเซ็นต์ 500 ก็เอา ผมกำลังเปรียบเทียบว่านโยบายของรัฐดีๆ หลายเรื่อง มันดำเนินการในห้องประชุมครม. แต่ถ้าไม่เข้าถึงชุมชนแล้วก็ไม่มีทางสำเร็จ ไม่ได้รับความร่วมมือ ความเข้าใจจากชุมชนแล้ว มันไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้นผมกำลังชี้ว่า ความเข้าใจของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

 

ผมพูดกับปลัดกระทรวง อธิบดีว่า ถ้าท่านบริหารในห้องแอร์แล้วไม่สามารถให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคเข้าใจนโยบายของกรมของกระทรวงก็ไม่มีทางเลยที่ราษฎรจะได้รับการบริการหรือนโยบายที่ท่านกำหนด ไม่มีทาง

 

 

ผมชื่นชมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ผมกำลังบอกว่าการทุจริตเป็นเรื่องอันตราย การที่ท่านรวมตัวกันมา 7-8 ปีแล้ว ผมชื่นชมท่าน ที่พูดมาก็คือจะบอกว่า เราต้องให้กำลังใจ ACT คนที่ทำงานเรื่องพวกนี้เขาเสี่ยง เราไม่รู้หรอกชีวิตครอบครัวเขาจะบริหารอย่างไร ท่านว่าจริงมั๊ย ท่านไม่ปรบมือให้เขาบ้างล่ะ

 

เป็นงานหนักของท่านวิเชียรที่จะต้องนำพาครอบครัวของ ACT ไปให้ได้ คุณมานะไม่เคยท้อถอยในฐานะที่เป็นเลขาฯ พยายามเชิญผมมา 3 ปีแล้ว ผมบอกไม่ไปนะผมเป็นองคมนตรี แต่วันนี้ผมคิดถึงพวกท่านเหลือเกิน ปีนีผมมา ผมชื่นชมท่านต่อที่ประชุมแห่งนี้ว่า เราต้องให้กำลังใจ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาทำไปทุกวันๆ นี้ วันนี้เขานอนหลับไปแล้ว ครอบครัว อาชีพเขาถูกระรานมั๊ย ผมถึงพูดว่าระบบราชการ ระบบคนที่เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับชีวิตคนพวกนี้ที่เป็นคณะกรรมการและครอบครัวทั้งสิ้น หรือใครว่าไม่จริง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้น่าชื่นชม พวกเราที่อยู่ที่นี่รวมทั้งครอบครัว รวมแล้วนับแสนๆ คน ท่านต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปพูดกับคนข้างนอกว่า องค์กรต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทยเขาทำงานกันอย่างไร

 

ผมจะเรียนพวกท่านให้ทราบว่า สมัยที่เราทำงานกัน ผมเองคือทหารคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องรายละเอียด แม้จะรู้ว่าทุจริตมันไม่ดี แต่ก็ไม่เคยรู้ว่าจะทำอย่างไรกับมัน ที่เล่ามาทั้งหมด มันเป็นปัญหาที่ยากจริงๆ แต่ที่รู้ที่เล่ามา คือรู้หลังจากมาเป็นรัฐมนตรี รู้หลังจากที่ได้คบหากับ ACT แล้ว วันหนึ่งคุณประมนต์(สุธีวงศ์)เข้ามา ก็เรียนให้ท่านทราบว่าเราอยากทำเรื่องพวกนี้ ให้ท่านเล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไร ผมจำได้ว่า ประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรม ประธานอะไรอีกหลายๆ ท่าน ได้เคยมาหาผมก่อนที่ผมจะเป็นรัฐมนตรี โดยก่อนนั้นยังเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. สิ่งแรกที่ท่านมาหาผมคือขอให้แก้กฎหมายหลายอย่าง และ รง.4 ผมเป็นทหารไม่รู้เรื่องบริหารราชการแผ่นดินเลย ได้รับความกรุณาจากประธานสภาต่างๆ เต็มไปหมดเลย และ ACT เข้ามา ก็ได้เริ่มเรียนรู้ไป จึงบอกว่าถ้างั้นมาตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติกันมั๊ย เราตั้ง ศอตช.ขึ้นมา เต็มไปด้วยข้าราชการ แต่ส่วนหนึ่งที่เดินงานไปได้ ท่านประมนต์ ท่านมานะเข้ามา เราเริ่มคุยกันว่า มันทุจริตกันได้อย่างไร ทำไมไม่ลงโทษมัน ท่านก็บอกว่า ท่านครับ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างมันเป็นระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งไม่มีบทลงโทษ

 

นั่นคือปี 2557 เราทำพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างสำเร็จในปี 2560 ใช้เวลา 3-4 ปีทำพรบ.สำเร็จ โอ้โหถูกต่อต้านจากคนนั้นคนนี้ ไอ้องค์กรโน้นบอกว่าทำไม่ได้นะครับมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อ้าว ถ้าไม่ได้แล้วจะลงโทษไอ้คนทำจัดซื้อจัดจ้างได้มั๊ย

 

เมื่อทำไม่ได้แล้วจะเอาอะไรก่อน คุณวิเชียรพูดถึงข้อตกลงคุณธรรม IP ผมก็ไปบอกนายกฯ ทำ IP ก่อนเราทำได้ แล้วให้ท่านประมนต์ไปช่วยฝึกคนมา เพราะเราต้องการภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานโครงการคุณธรรม แล้วท่านหัวหน้าคสช.ก็ตั้งศอชต.ในปี 2558 ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการศอตช.เป็น ACT ทั้งนั้นเลย 5-6 คน สุดท้าย IP ก็เกิด PPP ก็เกิด ทั้งที่ไพบูลย์ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย ต่อมาอะไรก็เกิดขึ้นตามมา ความโปร่งใสในการก่อสร้าง คนที่มาทำเรื่องนี้ต้องมีความรู้ระบบโครงสร้างการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมแต่ละประเภทต้องทำอย่างไร หลายอย่างก็มีปัญหา ผมก็บอก มานะ (เลขาธิการ ACT)  คุณก็ต้องไปฝึกคนมาสิ ถ้าไม่ฝึกคนแล้วไปเสนอนายกฯจะไปทำได้อย่างไร ผมเล่าบรรยากาศให้ท่านฟัง ความสำเร็จทั้งหลายแหล่มาจาก ACT ผมได้ ACT เป็นครูสอนผมว่า เกิดขึ้นอย่างนี้

 

ย้อนกลับมาที่รง.4 เรื่องใหญ่มากขนาดที่ต้องย้ายข้าราชการ ภาคอุตสาหกรรมเล่าว่าจะตายอยู่แล้วเสนอรง.4 ไป 3-4 ปี ถ้าผู้ประกอบการไม่เกิดแล้วแรงงานจะเกิดได้อย่างไร จะมีงานทำได้อย่างไรถ้ามีงานทำครอบครัวมีความสุข เด็กเรียนหนังสือได้

 

เรามีพรบ.อำนวยความสะดวกเพื่อบีบบังคับให้ราชการกำหนดเวลาที่แน่นอนว่าถ้ายื่นเรื่องแบบนี้ กำหนดเวลาแน่นอนว่า 1 ปี ครึ่งปี ผมไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร รัฐบาลสมัยคสช.เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมาย แม้กระทั่งศาลทุจริต ซึ่งก็เกิดจาก ACT นี่แหละ คุยกับศาลยุติธรรมในศอตช.พอสมควร เพราะในศอตช.มีผู้แทนจากทั้งอัยการ เลขาศาลยุติธรรม ผมถึงบอกว่าส่วนตัวผมขอบคุณจริงๆ ที่ท่านได้สอนผม นำสิ่งดีๆ จากนานาอารยประเทศ ที่เขามี

 

อยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่ง ผมถามท่านหน่อยสิว่า เวลาท่านคิด ท่านทำ วันนี้ผมเห็นท่าเชิญภาคประชาชน ข้าราชการ หน่วยงานอิสระ ผู้แทนพรรคการเมือง เวลาที่ผมทำโครงการสิ่งที่ผมรำคาญมาก คือจะคุยอะไรกันนักหนา จะสัมมนาอะไรกันนักหนา เพราะสิ่งที่พูดไปพูดกันมา 3 ปีแล้ว เขียนมาหลับตาก็รู้แล้วว่าจะสรุปอย่างไร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้คือ ทำไมไม่นำแนวทางที่ได้ไปทำเล่า แล้วใครจะทำ เราขาดตรงนี้ต่างหาก

 

พรรคการเมือง นักการเมืองที่มาถามเขาหน่อยสิว่าจะให้ใครทำ ทำอย่างไร ถ้าติดตรงนั้นตรงนี้อย่างที่ผมเล่ามาท่านจะแก้อย่างไร ถามเขาหน่อย ไอ้ที่จะพูดว่าเราต้องร่วมมือกันนะ เราต้องมีระบบป้องกัน สิ่งที่เราต้องทำคือโฆษณาให้มันเยอะๆ คนจะได้ฟัง เราทำกันมาเยอะแล้ว หรือว่าไม่จริง แต่เราขาดคนที่จะทำให้มันสำเร็จ ให้มันจับต้องได้ ถ้าติดขัดจุดนั้นจุดนี้ เราจะแก้อย่างไร เรามีปัญหาแบบนี้จริงๆ ผมมีเวลา 2 ปี ผมทำได้แค่นั้น เรามีแผน เรามีกฎหมาย แต่ใครล่ะที่จะทำให้กฎหมายมันศักสิทธิ์ เรามีพรบ.จัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้คนทำผิดติดคุกได้ แล้วใครหละที่จะสอบสวน ใครหละที่จะกล้าออกมาหาความจริง ในเมื่อคนที่ทำมันอยู่ในมือของราชการ ในมือของคนนั้นคนนี้ แม้กระทั่งในมือของผู้ประกอบการที่บางคนก็สมรู้ร่วมคิดกันทำ หรือว่าไม่จริง

 

วันนี้ควรหาว่า ทำอย่างไร ท่านมานะควรขึ้นมาบอก มาพูดว่า ต่อไป การสัมมนาผมมีปัญหาอย่างนี้ อย่างนี้ ให้พรรคการเมืองสัมมนาแล้วบอกมาด้วยครับ

 

ผมกำลังจะพูดว่าเราขาดคนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ขาดวิธีการนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เราไม่ใช่ไม่รู้หรอกว่าเราไม่มีแนวทางที่จะทำ แต่เราขาด เราจะเอาใครมาทำ จะทำอย่างไร เราจะปกป้องคนที่ให้ข้อมูล จะสร้างความมั่นใจอย่างไร ในความก้าวหน้าในทางราชการของพวกเขา เมื่อพวกเขายืดอกมาและพร้อมที่จะทำเรื่องพวกนี้ ในทุกกระทรวงมีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำทุจริต มีรองปลัดกระทรวงเป็นคณะทำงาน ท่านเคยได้ยินชื่อนี้หรือไม่ ถ้าถามท่านประธานปปช.ท่านจะรู้ เพราะศูนย์พวกนี้ไปอยู่ในมือท่านประธานปปช. เรามีหมดแล้ว เราตั้ง ตั้ง ตั้ง แล้วทำไมค่า CPI ยัง 30 อยู่อย่างนั้น เพราะอะไร นี่ต่างหากที่ผมอยากรู้ จะทำอย่างไรให้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

 

 

วันนี้ ACT ต้องการอะไร Active Citizen อาสาต่อสู้โกง ถูกต้องแล้วครับ ที่ผมพูดมาระบบบริหารราชการแผ่นดินไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าหากประชาชนไม่ช่วยกัน ไม่รับรู้รับทราบและร่วมมือ ท้ายสุดก็จะนำไปสู่การทุจริต แม้กระทั่งวงการสงฆ์เมื่อ 2-3 วันก่อน ไล่เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสบอกว่า เอาเงินบริจาคไปซื้อตำแหน่ง มันไปถึงขนาดนั้นแล้ว สงฆ์ก็ไม่เว้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 

ต้องหาพลังเงียบออกมา ต้องตื่นรู้ ตระหนักรู้ อย่านิ่ง อย่าเฉย ผมอยากจะนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพูดถึง จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ใช้แนวทางนี้เหมือนกัน พระองค์รับสั่งว่า คนไทยจริงๆ แล้ว มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยามตก ยามทุกข์ร้อน ใครแม้จะยากดีมีจน ความรู้ขนาดไหนก็ตาม เมื่อเห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งได้รับความทุกข์ร้อนก็จะเข้าไปเอื้อ เข้าไปช่วยด้วยแรงกาย ด้วยสติปัญญา ด้วยอาชีพและสิ่งที่ตนเองมีอยู่แม้แต่ทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องคนไทยนั้นยืนและพ้นจากภาวะความเดือดร้อนอันนั้นขึ้นมาได้

 

สิ่งหนึ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งก็คือว่า จริงๆ แล้วเขาขาดองค์กรนำ เราต้องออกมานำ เรา ก็หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องออกมานำ นำให้ประชาชนกล้าที่จะออกมา กล้าที่จะแสดงออก

 

ถ้าภัยพิบัติก็เหมือนกับจิตอาสาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งขึ้น ภัยหรือปัญหาการทุจริตมันก็เหมือนกัน มันกำลังวิกฤติ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ ACT กำลังออกมาที่จะเชิญชวนจิตอาสาออกมา ช่วยเหลือ และเป็นองค์กรนำคนไทย ขอให้ท่านประสบผลสำเร็จ การกระทำตนเป็นตัวอย่างนั้นยากจริงๆ ย่างก้าวไปที่ไหน ถ้าพลาดเพียงนิดเดียว อ๋อ ไอ้กรรมการ ACT มันก็โกงเหมือนกัน ใช่มั๊ยครับ นั่นต่างหากที่ทุกวินาที ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านเดือนไปนั้นมันมีคนมอง การประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างนั้นสำคัญยิ่ง เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า เราต้องทำก่อน เป็นตัวอย่าง มันถึงจะออกไปสู่องค์กรอื่นๆ ภายในต้องทำก่อน เมื่อทำแล้วองค์กรใกล้ๆ ก็จะเห็นแล้วค่อยขยายไป แล้วก็จะไปถึงคนทั้งชาติ นั่นคือความยากยิ่งของคณะกรรมการ ผมขอให้กำลังใจคณะกรรมการ ท่านประธานวิเชียร ท่านเลขามานะ และให้กำลังใจองค์กรต่างๆ ที่ท่านเห็นความสำคัญของบ้านนี้เมืองนี้ เหมือนกับที่เราพูดว่า ท่านต้องการให้เงิน 85 % เข้ามาบริหารประเทศชาติ หรือต้องการเงินแค่ 30 % เป็นข้อเปรียบเทียบหรืออย่างไร นั่นคือสิ่งที่อยู่ในมือพวกเราส่วนหนึ่ง

 

ขอให้ท่านประสบผลสำเร็จ ขอให้การทำงานและความตั้งใจ Active Citizen ประสบความสำเร็จ หลั่งไหลเข้ามาทำงานร่วมกัน”