ประเด็นร้อน

'แบนสารเคมีอันตราย' โจทย์ท้าทายรบ.ประยุทธ์

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 13,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

ยังเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อและรอคอยบทสรุป สำหรับข้อเสนอจำกัดการใช้ 3 สารเคมีอันตราย อันประกอบด้วย ไกลโฟเซต สารคลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. จนถึงปัจจุบันที่มีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง

โดยการขยับครั้งล่าสุดของ 2 รัฐมนตรีค่ายพรรคภูมิใจไทยอย่าง "อนุทิน ชาญวีรกูล" และ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีแนวโน้มว่าการแบนสารเคมีอันตรายจะได้รับการผลักดันให้มีความเป็นไปได้ หลังจากล้มลุกคลุกคลานในช่วงที่ผ่านมา

การศึกษาผลกระทบของการใช้สารเคมีอันตรายเพื่อการเกษตรนั้น ในวงวิชาการได้ทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ในปี 2552 องค์การอนามัยโลก จัดให้พาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง แต่มีข้อสังเกตว่าสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย


ขณะที่ในปี 2560 กรมควบคุมโรคของไทย รายงานว่าในจำนวนคนฆ่าตัวตายทั่วประเทศ เสียชีวิตด้วยการกิน กรัมม็อกโซนซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของพาราควอต ถึง 111 ราย และหากสัมผัสสารเคมีชนิดนี้มากเกินไป อาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้


สำหรับประเทศไทย การศึกษาเรื่องนี้โดยการริเริ่มจากรัฐบาล ครั้งล่าสุดเกิดในปี 2561 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในขณะนั้น มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มกราคม 2561 ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยาพาราควอตและผลกระทบของการใช้ยาดังกล่าว เพื่อรายงานต่อนายกฯ โดยเร็ว


ซึ่งต่อมาที่ประชุมดังกล่าวก็มีมติให้ยกเลิกการใช้พาราควอตทางการเกษตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อชีวิตประชาชน หลังพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประกอบกับงานวิจัยที่กล่าวถึงผลกระทบทางสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้มีผลให้ยกเลิกการใช้พาราควอตทันที แต่จะหาทางเลือกอื่นมาทดแทน เพื่อให้เกษตรกรทราบข้อมูลและมีระยะเวลาปรับตัว


ทว่าอีกฟากหนึ่ง มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 กลับออกมาสวนทาง เมื่อกรรมการ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนการอนุญาตให้ใช้สารเคมีอันตรายสำหรับกำจัดวัชพืช 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยใช้กับพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน เป็นผลให้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงจำนวน 686 องค์กร แสดงความผิดหวัง


อย่างไรก็ตาม ท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ยังคงยืนยันว่ารัฐบาลจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ภายในปี 2562 โดยมีแผนการลดพื้นที่ ลดใช้ปริมาณสารเคมี และลดการนำเข้าสารเคมีอันตราย


ทั้งนี้ หากสืบค้นรายละเอียดเกี่ยวกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดที่เห็นชอบให้ใช้สารเคมีความเสี่ยงสูงต่อไป ซึ่งถือเป็นมติที่แตกแถวกับกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  จะพบข้อน่าสังเกตทั้งในแง่ตัวบุคคลที่เป็นกรรมการ ตลอดจนเนื้อหาในเอกสารที่นำเสนอต่อที่ประชุม โดยในส่วนบุคคลนั้น พบว่ามีกรรมการบางคนเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนหรือทุนใหญ่ บางคนเป็นอดีตข้าราชการในกรมวิชาการเกษตรที่หลังออกจากราชการก็ไปทำงานให้กับสมาคมของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และบางคนเป็นผู้จัดการอยู่ในบริษัทที่ขาย 1 ใน 3 สารเคมีอันตราย


ขณะที่ส่วนเนื้อหา พบว่าในเอกสารของกรมวิชาการเกษตรที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ มีข้อความบางส่วนระบุข้อมูลของพาราควอตในแง่ผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์ทดลองไว้ว่า "พาราควอตไม่มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์หรือตัวอ่อน และไม่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ไม่มีผลกับการยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไม่มีผลต่อระบบประสาท" โดยอ้างข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา หรือ US-EPA (United States Environmental Protection Agency) เมื่อปี 2540 และ 2549 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นข้อมูลเก่าอายุมากกว่า 10 ปีทั้งสิ้น


เมื่อทราบดังนี้ มติที่ออกมาจึงเป็นเรื่องคาดเดาได้ และยิ่งทำให้เห็นว่าการจะแบนหรือไม่แบนสารเคมีอันตราย อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการถกเถียงข้อมูลข้อเท็จจริงหรือตั้งอยู่บนความห่วงใยในสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนบุคคลและบริษัทเอกชนอย่างแนบแน่น


อย่างไรก็ดี ช่วงกลางปี 2562 ข้อเสนอแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงก็กลับมาอยู่ในกระแสข่าวอีกครั้งหลังจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข "อนุทิน" รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "มนัญญา" แสดงท่าทีสนับสนุนยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด รวมถึงปุ๋ย ยา และสารเคมีชนิดอื่นๆ ให้เร็วที่สุดภายในปี 2562


โดย น.ส.มนัญญา เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการใช้ 3 สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง  โดยหาข้อมูลอย่างรอบด้าน และเข้าตรวจสอบสต๊อกสินค้าที่เหลืออยู่ เพื่อเร่งรัดหาสารทดแทนโดยเร็วที่สุด ก่อนจะเตรียมเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในเดือนกันยายนปีนี้ พร้อมกันนั้นยังยืนยันว่ารองนายกฯ อนุทินก็ยืนหยัดในนโยบายนี้ จึงมั่นใจได้ว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกปล่อยผ่าน จะทำให้เด็ดขาดและรวดเร็วขึ้น เพราะความปลอดภัยของชีวิตคนไม่มีอะไรมาทดแทนได้


“ขอถามกลับว่า เห็นคนเจ็บคนป่วยจากสารพิษเหล่านี้แล้ว ยังจะสนับสนุนให้ใช้กันอีกหรือ ส่วนตัวเมื่อเห็นผลลัพธ์แล้ว จะให้ใช้สารพิษดังกล่าวต่อไป ก็ลำบากใจ แต่เรื่องนี้ต้องคุยกันหลายภาคส่วน หวังว่าจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขกล่าวยืนยัน


ไม่นานนักหลังการแสดงจุดยืนของ 2 รัฐมนตรี ก็มีทั้งภาคประชาชนและองค์กรอิสระออกมาสนับสนุน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ที่ระบุว่าหากนายอนุทินและ น.ส.มนัญญาสามารถผลักดันให้การแบนสารพิษร้ายแรงเกิดขึ้นได้จริง จะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของพรรคภูมิใจไทย  ทำให้ผู้คนจดจำในความกล้าหาญของการปกป้องสุขภาพของเกษตรกรรายย่อยและประชาชน


แต่แม้กระแสตอบรับจากสังคมจะเป็นไปในทางบวก  และผู้มีอำนาจหน้าที่จะแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจว่าเอาจริง แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าสิ่งเหล่านี้จะแข็งแกร่งเพียงพอต่อการต้านทานพลังทุนที่อาจต้องเสียผลประโยชน์ได้หรือไม่


ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และ 2 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ที่สุดท้ายจะกล้าฝ่าแรงต้านทั้งบนดินและใต้ดินได้หรือไม่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม.