ประเด็นร้อน

ทำอย่างไรให้ประชาชนสบายใจ เมื่อรัฐใช้เงิน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 16,2019

- - ขอบคุณข้อมูล จากกรุงเทพธุรกิจ - -

 

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต  โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร

 

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาระดับสูงของอาเซียน

จัดโดยองค์กร UNODC และ UNDP ของสหประชาชาติ ร่วมกับมูลนิธิคนไทย และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เพิ่มความโปร่งใสและความซื่อตรงในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อความยั่งยืน” วันนี้เลยจะเขียนเรื่องนี้และแชร์ความเห็นของผมที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

แต่ละปี รัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้เงินเพื่อจัดซื้อจัดจ้าง ให้ใบอนุญาตภาคเอกชน ต่ออายุสัญญาให้สัมปทาน รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมแล้วเป็นจำนวนเงินมหาศาล สำหรับประเทศในระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย วงเงินดังกล่าวจะเฉลี่ยประมาณ 9-14% ของรายได้ประชาชาติต่อปี หรือเทียบประมาณ 1.5-2.3 ล้านล้านบาทในกรณีของไทย

เงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนและการกู้ยืมของรัฐที่ต้องชำระคืน ดังนั้น การใช้เงินอย่างถูกต้อง ไม่รั่วไหลและมีประสิทธิภาพจึงสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ สะดวกสบายขึ้นหรือไม่เมื่อเทียบกับเงินที่ประชาชนต้องเสียให้รัฐ นี่คือความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีจะสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลให้กับประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน

สำหรับภาคธุรกิจ การใช้เงินของภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง ในการลงทุน และอนุมัติสัมปทานต่างๆ ก็คือ กิจกรรมและโอกาสทางธุรกิจของบริษัทเอกชน บริษัทที่ได้สัมปทาน ได้งาน ประมูลโครงการต่างๆ ได้ ก็จะได้ธุรกิจ มีรายได้ มีกำไร

ดังนั้น จำเป็นที่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดสรรสัมปทานของภาครัฐต้องเป็นระบบที่เปิดกว้าง โปร่งใส และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้รัฐสามารถใช้จ่ายเงินของประเทศได้อย่างถูกต้องตามเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รั่วไหล ด้วยเหตุนี้ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ดีจึงสำคัญมากต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนแข่งขันตามกลไกตลาด นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศได้ประโยชน์ และประชาชนได้ประโยชน์

ที่สำคัญ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะมีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในแง่ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นเลิศในการทำธุรกิจ เพราะรัฐคือผู้ซื้อรายใหญ่และระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ดี ก็จะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ต้องการเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ได้ธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในบริษัทที่จะยกระดับความสามารถในการผลิตของภาคธุรกิจของประเทศที่ประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์

ตัวอย่างที่คลาสสิกในเรื่องนี้คือ ญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชนาวีญี่ปุ่นต้องการให้บริษัทในประเทศผลิตเครื่องบินรบเพื่อใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ด้วยสเปคความเร็วและอัตราการไต่ที่ล้ำยุคในขณะนั้นที่ยังไม่มีเครื่องบินใดทำได้ ซึ่งสมัยนั้นในภาคเอกชนญี่ปุ่นก็มีเพียง 2 บริษัท คือ มิตซูบิชิ และนากาจิม่า ที่อาจผลิตได้ตามสเปคที่กองทัพเรือญี่ปุ่นต้องการ

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเรือญี่ปุ่นจึงเน้นเรื่องการแข่งขันเพื่อให้ได้สิ่งที่ราชนาวีญี่ปุ่นต้องการ เพราะหมายถึงความเป็นความตายของประเทศ ผลคือการแข่งขันระหว่าง 2 บริษัทเพื่อให้ได้ผลงานตามสเปคที่กองทัพเรือญี่ปุ่นต้องการได้นำไปสู่การผลิตเครื่องบินรบซีโร่ (ZERO) ที่เป็นตำนานของเครื่องบินรบที่มีสมรรถภาพสูงสุดในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่มีใครเทียบได้ นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดี

ตรงกันข้าม ถ้าประเทศมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่แย่ ไม่โปร่งใส ไม่เน้นการแข่งขัน เน้นแต่จะให้งานบริษัทที่มีบุญคุณที่จ่ายสินบนให้เงินทอน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาคเอกชนของประเทศไม่มีการพัฒนาเพราะบริษัทดีๆ จะไม่เข้าร่วมประมูล ร่วมจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่อยากยุ่งกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่โปร่งใส

ผลคือประชาชนไม่ได้สิ่งที่ควรได้จากภาษีที่เสียไป บริษัทที่เข้าประมูลจะมีไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นหน้าเดิมๆ ที่ถูกหมายหัวไว้แล้วว่าจะได้งานกับบริษัทที่ถูกขอร้องให้มาร่วมประมูลพอเป็นพิธี ผลคือมีแต่บริษัทที่พร้อมจ่ายสินบนเท่านั้นที่ได้งาน ที่อาจไม่มีความสามารถและประสบการณ์ที่จะผลิตงานได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะไม่ได้งานแน่นอนถ้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศโปร่งใสและมีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา

นี่คือความสำคัญของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง

ในการสัมมนา ผมได้ให้ความเห็นว่าระบบจัดซื้อจัดจ้างของประเทศในอาเซียน ย้อนหลังไปสิบปีส่วนใหญ่มีปัญหา เช่น การประมูลงานภาครัฐไม่มีระบบการแข่งขันที่เข้มแข็งรองรับ ความโปร่งใสมีน้อย การทุจริตคอร์รัปชันมีมาก และศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำเรื่องนี้อย่างมืออาชีพก็จำกัด

แต่รัฐบาลของประเทศอาเซียนก็พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมุ่งปรับปรุงใน 4 ด้าน คือ สร้างกรอบกฎหมายและทำกฎระเบียบต่างๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาการประมูลที่ใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น E-Auction พัฒนาระบบข้อมูลและคุณภาพของบุคลากร รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้สิ่งที่เราเห็นขณะนี้ในอาเซียน คือระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ดูดีขึ้น เทียบกับถ้ารัฐบาลอาเซียนไม่ทำอะไรเลยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่แม้จะมีความก้าวหน้าก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำต่อ ต้องปรับปรุงต่อไปเพื่อให้ระบบดีขึ้นต่อเนื่อง

ในกรณีของประเทศไทย ความพยายามที่จะปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ดีขึ้นก็มีให้เห็นโดยการผลักดันของภาคทางการและภาคเอกชน เช่น การพัฒนาระบบ e bidding การวางระบบการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง การออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การใช้สัญญาคุณธรรมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการวางเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนที่จะมาร่วมจัดซื้อจัดจ้าง หรือประมูลงานภาครัฐต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติชัดเจนในเรื่องการต่อต้านการทุจริต นี่คือสิ่งที่ได้ทำไปและน่าชมเชย

ดังนั้น ความท้าทายขณะนี้คือ ทำให้สิ่งที่ได้ทำไปเกิดผลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา คือ ฟอร์มดี มีกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เหมือนเดิม โดยเฉพาะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ที่ดูจากเสียงวิจารณ์ก็ทราบทันทีว่ายังไม่ได้เป็นระบบที่ประชาชนสบายใจ ทั้งในแง่การมีระบบการประมูลที่ดี เปิดกว้าง โปร่งใส และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เห็นได้จากบริษัทที่เข้ามาร่วมประมูลยังเป็นหน้าเดิม ไม่กี่ราย บางบริษัทก็ไม่เคยทำธุรกิจที่กำลังประมูลมาก่อน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เก่งในเรื่องที่กำลังประมูลไม่สนใจเข้าประมูล การแข่งขันจึงไม่มี

ผลคือประเทศได้คนเดิมๆ บริษัทเดิมๆ เข้ามารับสัมปทาน ประชาชนก็จะได้รับบริการแบบเดิมๆ การทุจริตคอร์รัปชันก็มีอยู่เหมือนเดิมและความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มมากขึ้นเหมือนเดิม เพราะรัฐมีแต่จะลงทุนแต่การใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนในประเทศเสียโอกาส และประเทศเสียจังหวะ เสียอนาคต

นี่คือความสำคัญของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ดี