บทความ

เมื่อนโยบายสาธารณะนำไปสู่คอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 20,2019

เมื่อนโยบายสาธารณะนำไปสู่คอร์รัปชัน

คอร์รัปชันที่สร้างความบอบช้ำให้สังคมไทยได้รุนแรงและก่อผลเสียต่อเนื่องยาวนาน

 

มักเป็นพฤติกรรมที่อาศัย ‘การกำหนดนโยบายสาธารณะ’ และ ‘กระบวนการนิติบัญญัติ’ เป็นเครื่องมือ หรือที่เรียกโดยรวมว่า “คอร์รัปชันระดับนโยบาย” ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องใหญ่อย่างนี้ต้องเป็นผู้มีอำนาจระดับสูงเท่านั้นถึงจะมีอิทธิฤทธิ์มากพอทำได้ และต้องทำเป็นขบวนการมีคนอีกหลายฝ่ายรวมทั้งข้าราชการ ‘กังฉิน’ ร่วมรู้เห็นเป็นใจ

 

“คอร์รัปชันระดับนโยบาย” เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้วและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา โดยเฉพาะยุครัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ที่รัฐบาลต้องเร่งขยายการลงทุนพัฒนาประเทศ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัตน์ จนได้รับการขนานนามจากสื่อว่า “รัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาร์บิเนต” ในขณะที่ผู้คนยังขาดบทเรียน ขาดความรู้ความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ รวมทั้งสภาพขาดแคลนเงินทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต่อสู้กับการขยายตัวเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ

 

โครงการของรัฐบาลที่ถูกกล่าวถึงเสมอว่ามีคอร์รัปชันระดับนโยบายเกิดขึ้น เช่น โครงการโฮปเวลล์ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการบ้านเอื้ออาทร การปล่อยกู้เพื่อการลงทุนในพม่าของ EXIM Bank ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 การซื้อรถ - เรือดับเพลิงของ กทม. และล่าสุด ป.ป.ช. ชี้ว่าเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายต่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ จากก่อสร้างสนามฟุตซอล มูลค่า 4.45 พันล้านบาท ใน 19 จังหวัดภาคอีสาน

 

ป.ป.ช. เคยให้ข้อมูลไว้ว่า คอร์รัปชันระดับนโยบายมักเกิดขึ้นกับการลงทุนเมกะโปรเจคของรัฐ และเมื่อนำดูข้อมูลการลงทุนที่ผ่านมาก็พบว่ามีตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ ระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2557 มีการลงทุนโครงการที่เป็น ‘การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน’ หรือ พีพีพี เกิดขึ้นเพียง 34 โครงการ แต่ถึงช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 กลับมีมากกว่า 66 โครงการหรือเฉลี่ย 13 โครงการต่อปี มูลค่ารวมกันมากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการรถไฟและรถไฟความเร็วสูงมากถึงร้อยละ 57

 

โครงการเหล่านี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เน้นรัฐลงทุนร่วมกับเอกชนแทนการลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งมีข้อดีหลายประการ แต่มีประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามตามมาคือ ในบางโครงการอาจมีมูลค่าลงทุนสูงเกินจริงจนทำให้ส่วนที่รัฐต้องร่วมจ่ายสูงเกินจริงและการเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้บริการก็แพงเกินสมควร แถมยังมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำเกิดภาระกับรัฐเกินจำเป็นและนำไปสู่ ‘ค่าโง่’ อย่างไม่น่าเชื่อดังที่เห็นแล้วในหลายโครงการ

 

แน่นอนว่านโยบายพึ่งพาการลงทุนจากภาคเอกชนแบบ พีพีพี ของรัฐบาลชุดนี้แม้จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแต่ก็พูดไม่ได้ว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นหรือไม่ เรื่องแบบนี้ต้องติดตามข้อมูลและผลในระยะยาว ซึ่ง ป.ป.ช. เคยให้ความเห็นไว้ว่า โดยทั่วไปการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ ครม. มุ่งรับฟังความคิดเห็นของหน่วยราชการเป็นหลัก อาจทำให้ ครม. ไม่รับรู้ข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้านก่อนการอนุมัติ แถมเมื่อมีการอนุมัติแล้วก็ไม่มีการเปิดเผยสาระสำคัญของสัญญาโครงการให้สาธารณชนทราบ จึงเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชันระดับนโยบายได้

 

นอกจากนี้ยังมีบางโครงการที่เกี่ยวกับ ‘ประชานิยม’ และการอุดหนุนราคาพืชผลการเกษตรที่ยังใช้กันอยู่บ่อยครั้ง

 

ในระดับจังหวัด ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคอร์รัปชันลักษณะนี้ โดยมีข้อสังเกตว่า สองเหตุการณ์ตัวอย่างต่อไปนี้ ไม่มีการยักยอกหรือโกงเงินหลวงแม้แต่บาทเดียว หากแต่การใช้อำนาจนั้นได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แล้วคนทั่วไปก็ไม่ล่วงรู้เลยว่าเบื้องหลังมีการใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้นายทุน แต่ข้าราชการที่เจนจัดอธิบายว่าได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว

 

เหตุการณ์แรก จังหวัดไหนๆ ข้าราชการระดับสูงจะช่วยนายทุน ทำให้พืชผลการเกษตรขาดตลาดเพื่อดันราคา จู่ๆ ในช่วงใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวก็ประกาศมาตรการเข้มงวดตรวจจับแรงงานต่างด้าวโดยอ้างเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ผลที่ตามมาทันทีคือเกิดการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ทำให้พืชผลจำนวนมากตกค้างปล่อยทิ้งในไร่สวน สินค้าในพื้นที่นั้นจึงออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่ควร

 

อีกกรณีที่เคยเกิดขึ้นแม้บางครั้งจะไม่แน่ใจว่านักว่าเป็นเพราะความไร้เดียงสาของข้าราชการบางคนที่อยากอวดรู้ โชว์ผลงาน หรือเพราะต้องการช่วยนายทุนทุบราคาพืชผลการเกษตรให้ตกต่ำ จึงจงใจปล่อยข่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่เนิ่นๆ เช่น ‘คาดว่าปีนี้ลำไยจะมีผลผลิตออกมากจึงคาดว่าราคาจะต่ำ’ พูดแค่นี้พวกที่ซื้อสินค้าล่วงหน้าก็ได้ของราคาถูกสมใจแล้ว

 

โดยสรุป วันนี้ยังยากที่จะบอกให้ชัดว่าอะไรคือสัญญาณบอกเหตุก่อนจะเกิดคอร์รัปชันระดับนโยบาย แต่จากหลายครั้งที่เกิดปัญหา มักเป็นการกระทำที่เริ่มต้นด้วยการยกเว้นหรือไม่ทำตามวิธีปฏิบัติ กติกา หรือกฎหมายที่มีอยู่เดิม บางครั้งถึงกับใช้อำนาจไปออกกฎหมายใหม่มารองรับเลยก็มี จึงทำให้ยากที่ป้องกันและสาวถึงต้นตอเอาตัวผู้บงการและร่วมขบวนมาลงโทษอย่างหนักได้เมื่อเกิดเหตุแล้ว

 

การที่เราปล่อยให้ผู้มีอำนาจบางคนบางกลุ่มสามารถใช้ดุลยพินิจมากเกินไป โดยขาดความโปร่งใสและไม่ยอมเปิดให้มีหน่วยตรวจสอบของรัฐเข้าไปทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งตรงไปตรงมา ไม่เปิดกว้างให้สังคมได้รับรู้ ใครถามอะไรอยากตอบก็ตอบ ไม่อยากตอบก็เฉไฉ แบบนี้ยิ่งกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันระดับนโยบาย

 

นี่แหละที่บอกว่า พฤติกรรมเลวร้ายของคอร์รัปชันสามารถพัฒนาซ่อนเร้นการกระทำ ปิดบังตัวตนและใช้วาทศิลป์แอบอ้างเพื่อออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายสาธารณะจนผู้คนหลงเชื่อว่า พวกเขากำลังทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ทุกวันนี้จึงยากที่จะชี้ชัดไปว่า ใครกำลังโกง โกงอย่างไร โกงขั้นตอนไหน กอบโกยเงินทองไปมากเพียงใดและทิ้งความเสียหายให้ไว้อย่างไร

 

อ่านแล้ว อย่าเพิ่งหดหู่.. ถึงคอร์รัปชันจะอยู่ในที่มืด แปลงร่างได้ราวปีศาจ เป็นความโชคดีที่เทคโนโลยีในยุค 4.0 ที่เราจะมีเครื่องมือ “ai” เข้ามาจับ “คนโกง” กันอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ขอเพียงแค่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลแล้วประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเรานี่ล่ะ ที่สามารถปราบคนโกงได้ดังหลายๆ เคสที่รับรู้กันมาแล้ว

 

บทความโดย ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 
กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 20 พ.ย. 2562