สื่อประชาสัมพันธ์

ACT Now EP.11 ชี้เป้ากองทุนหมุนเวียน และ เบื้องลึกส่วยแรงงานข้ามชาติ

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 01,2021

 ACT Now EP. 11

 

ACT Now EP 11 เป้าหมายของ ACT 2564

สวัสดีปีใหม่ครับ ท่านผู้ชมท่านผู้ฟัง รายการ ACT Now เราจัดมาแล้ว 5 เดือน รวมแล้วก็ประมาณ 30 กว่าตอน ปีใหม่นี้มาคุยให้ท่านผู้ชมผู้ฟังทราบว่าในปี พ.ศ. 2564 เรากำลังจะทำอะไรกันบ้างและมีเรื่องคอร์รัปชัน คดีคอร์รัปชันหรือโครงการลงทุนของภาครัฐ อะไรบ้างที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นรายการที่สื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้กับท่านผู้ชมผู้ฟังได้รับทราบ ให้คนไทยได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคมไทย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในภาครัฐหรือมีความตื่นตัวของภาคประชาชน มีโครงการใหม่ๆ มีความพยายามใหม่ๆ อะไรบ้าง ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันที่เป็นมหาวิกฤติของสังคมไทยอยู่ในวันนี้ มีเบื้องหลังอะไร มีประเด็นอะไรที่ลึกกว่าหรือใหญ่กว่าที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของรายการนี้ที่จะทำให้ได้ก็คือการชี้เป้าให้ท่านผู้ชมผู้ฟังได้ร่วมกันติดตามต่อไป ถ้าเป็นเรื่องกรณีใหญ่ๆ ก็คือกรณี บอส วรยุทธ อยู่วิทยา กรณี บ่อนพระราม3 การลงทุนในโครงการกำจัดขยะของ กทม. โครงการที่เป็นเมกกะโปรเจค ยกตัวอย่างเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว การแก้ไขสัมปทานของร้านค้า Duty Free ในสนามบิน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 อันนี้เป็นตัวอย่าง แต่ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่เราจำเป็นอย่างมากและเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยที่จำเป็นจะต้องเห็นความชัดเจนให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564 นี้ เรื่องแรกก็คือการปฏิรูปความยุติธรรมของประเทศไทย หัวใจหลักประชาชนได้อะไร ปฏิรูปอัยการประชาชนได้อะไร ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมประชาชนเกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น เป็นที่พึ่งได้มากยิ่งขึ้น ตัวร่างพรบ. ฉบับที่อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านเป็นประธานร่างฯ ตรงนั้น ซึ่งตอนนี้ได้รับการยอมรับสูงมาก ถ้าเป็นไปตรงนั้นได้ก็จะดีหรือถ้าไม่ใช่อย่างนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ขอให้ประชาชนได้รับรู้แต่สุดท้ายก็คือผลจะต้องตกกับประชาชน เราได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มีทีมอาจารย์ได้ช่วยกันศึกษาว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันปี พ.ศ. 2560 ที่เรียกว่าฉบับปราบโกงเมื่อเทียบกับฉบับที่ร่างโดยคณะอ.บวรศักดิ์ หรือ ฉบับก่อนหน้านี้ 4 - 5 ฉบับ มีอะไรเป็รมาตรการปราบโกงอยู่แล้วบ้างและมาตรการปราบโกงอะไรที่ยังขาดไปในปัจจุบัน เราจะก็มีการเสนอให้มีการเพิ่มเติมตรงนี้แต่ตอนนี้ในเบื้องต้นทางคณะอาจารย์ฯ ที่ท่านกรุณาไปศึกษาเรื่องนี้ให้ ได้มีการเสนอหลักการมาว่าหลักพื้นฐานว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญฯ ที่เราจะต้องช่วยกันยึดไว้ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ อาจารย์ท่านเสนอมาอย่างนี้ เรื่องแรกก็คือหลักการของรัฐธรรมนูญฯ ที่ต้องทำให้ทุกภาคส่วนคิดเหมือนกันก็คือการยึดมั่นให้ผลประโยชน์ของสาธารณะต้องมีความสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือ ผลประโยชน์ของหน่วยงานหนึ่งๆ อันที่ 2 ก็คือจะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจของหน่วยงานที่เข้มแข็ง เรื่องที่ 3 ก็คือการให้เอกสิทธิ์และการคุ้มกันพิเศษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการที่เขายืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ผลประโยชน์ขององค์กร ผลประโยชน์ของสาธารณะ ผลประโยชน์ของประเทศ การเพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีความชัดเจนในรัฐธรรมนูญฯ เรื่องการคุ้มครองพยาน การคุ้มครองผู้เปิดโปง ผู้ให้เบาะแส นอกจากนี้แล้วเราจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น อะไรที่ยังขัดอยู่ต้องกำจัดออกไป สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุดในปีนี้ก็คือผลประโยชน์ของประเทศต้องได้รับการดูแล คอร์รัปชันต้องถูกกำจัดให้หมดไป

 

ACT Now EP 11 1 ชี้เป้ากองทุนหมุนเวียน

ACT Now EP.11.1 – ชี้เป้ากองทุนหมุนเวียน หลังปีใหม่ที่ผ่านมา ข่าวดังที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียหรือในหน้าจอโทรทัศน์ ไปบริจาคของ แล้วไปติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนดอยอมก๋อย มีการวิพากษ์วิจารณ์กันแล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของ กอ.รมน. ผมก็เลยชี้เป้าขึ้นมาเพื่อให้สังคมช่วยกันเปรียบเทียบข้อมูลได้ถูกต้อง ตามที่ถามว่าแม่ค้าออนไลน์คนนั้นใช้เงิน 500,000 บาท ได้ทั้งโซลาร์เซลล์ ได้รองเท้า ได้ขนม ได้เสื้อผ้าเอาไปแจกเด็ก โครงการของ กอ.รมน. 45 ล้านบาท ถูกหรือแพง การที่จะบอกว่าของ กอ.รมน. ถูกหรือแพง เราจะต้องไปดูที่ต้นทาง โครงการนี้ได้เงินอุดหนุนมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ถ้าหากว่ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซึ่งในปี พ.ศ. 2563 ปีที่แล้วที่เพิ่งผ่านมา เขามีเงินที่เอาไปแจกจ่ายให้กับผู้มาขอเงินอุดหนุนไปทำโครงการต่างๆ ปีที่แล้ว ปีเดียว 5,600 ล้านบาท เราก็ไม่รู้ว่าย้อนหลังไป 10 ปี จะเป็นเงินทั้งหมดกี่หมื่นล้านบาท ถ้ากองทุนนี้เปิดเผยให้เรารู้ว่าตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการ ประเภทไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกลตามดอยอย่างนี้ทั้งหมดกี่โครงการ ถ้าเขาเปิดเผยออกมา เชื่อว่าเราจะสามารถเอามาเปรียบเทียบกับโครงการของ กอ.รมน. ได้ ว่าใครถูกหรือใครแพงกว่ากันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จะกี่หมื่นล้านบาทก็แล้วแต่ ใครบ้างที่ได้เงินไป เป็นทหาร เป็นกอ.รมน. กี่โครงการ กี่ 10 กี่ 100 โครงการ นักการเมืองมีไหม นักการเมืองในฟากรัฐบาลมีไหม นักการเมืองในฟากฝ่ายค้านมีไหมหรือเป็นกลุ่มพ่อค้า กลุ่ม NGO มีใครได้ัเงินไปบ้าง วันถัดมาก็คือ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ท่านก็มีตำแหน่งเป็นประธานกองทุนฯ นี้ด้วย ท่านก็มาให้ข้อมูล จากนี้ไปท่านจะให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบว่าโครงการแต่ละโครงการที่ได้รับเงินทุนอนุมัติไปแล้ว มีสถานะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือว่าแต่ละโครงการที่ทำไป ทำเสร็จแล้วจริงหรือเปล่า เป็นโครงการลมไหม จากนี้ไป โครงการใหม่ๆ ที่มีการอนุมัติก็จะให้เจ้าหน้าที่ไปตามสำรวจตรวจสอบความถูกต้องของทุกโครงการ เห็นไหมครับ อันนี้คือสิ่งที่เราได้จากข่าวที่เรานำมาวิพากษ์วิจารณ์กันและนี้คือสิ่งที่เราได้จากการชี้เป้า เงิน 45 ล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อยทันทีหากเรามาดูเงินกองทุนหมุนเวียนทั้งหมดที่มีในระบบของประเทศไทย ทุกครั้งที่อ่านตัวเลขของเงินกองทุนที่ผมดึงข้อมูลมาจากเว็บไซต์

 

ACT Now EP 11 2 เบื้องลึกส่วยแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

..โควิด-19 กลับมาวิกฤติอีกรอบหนึ่งก็เพราะว่าปัญหาเรื่องส่วยก็คือความไม่ชอบมาพากลที่ซุกอยู่ใต้พรมของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นส่วยแรงงาน บ่อน บ่อนชนไก่หรือว่าสถานบันเทิง... ACT Now EP.11.2 – เบื้องลึกส่วยแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ ต้องการชี้เป้าให้คนไทยเห็นว่าเรื่องส่วยแรงงานที่เราพูดกันมีอะไรเชื่อมโยงบ้าง เป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ โควิด-19 กลับมาวิกฤติอีกรอบหนึ่งก็เพราะว่าปัญหาเรื่องส่วยก็คือความไม่ชอบมาพากลที่ซุกอยู่ใต้พรมของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นส่วยแรงงาน บ่อน บ่อนชนไก่หรือว่าสถานบันเทิง สิ่งเหล่านี้คนไทยรู้อยู่นานแล้วแต่ว่าเราก็นิ่งไป บังเอิญว่าครั้งนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเพราะโควิด-19 ต้องการเชื่อมโยงให้คนไทยเห็นภาพเหมือนกับที่ต่างชาติเขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างชาติ ผมจะอ่านข้อมูลบางส่วนให้ฟัง ผมเขียนอย่างนี้ แรงงานต่างชาติที่เข้าประเทศไทยอย่งผิดกฎหมาย จริงๆ แล้ว มีทั้งทางบกและทางทะเล อันนี้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนเลย หลักฐานยืนยันก็คือรายงานเรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือที่เรียกว่า TIP Report ที่เขาเผยแพร่กันในยุโรป เผยแพร่กันในสหรัฐอเมริกา แล้วก็จัดอันดับของประเทศไทย เขาเผยแพร่ออกมาแรงงานที่เข้าทางทะเลก็คือตั้งแต่ระนองไปจนถึงจรดชายแดน ไทย – มาเลเซีย ทางฝั่งอ่าวไทยมีไหม มีครับ ตั้งแต่จรดชายแดนเมเลเซียไปจนถึงจรดชายแดนกัมพูชา ตลอดแนวนี้ก็จะมีหมดเลย พวกนี้ถ้าเป็นแรงงาน ก็จะเป็นแรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมง เป็นลูกเรือหรือทำแรงงานที่ท่าเรือ สะพานเรือ หรือเป็นแรงงานที่เกี่ยวกับการแปรรูปอาหาร ส่วนหนึ่งเป็นแรงงาน ส่วนที่สองคือการค้ามนุษย์ จำได้ไหมครับ เมื่อปี พ.ศ. 2561 มีคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จำเลยในคดีนั้นก็คือนายทหารยศ พล.โท ชื่อมนัส สำหรับทางบกมีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ช่องทางเข้าส่วนหนึ่งก็เข้ามาตามด่าน แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่มีเอกสารถูกต้องหรือไม่ผ่านกระบวนการถูกต้อง รับเงินค่าอำนวยความสะดวกกัน พวกนี้จำนวนไม่มาก จำนวนมากจริงๆ ก็คือคนที่ข้ามแดนมาตามช่องทางธรรมชาติ จะต้องจ่ายเงินกันให้กับนายหน้าที่ฝั่งเขา 8,000 - 15,000 บาท นายหน้าได้ เป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ผมจะขอไล่เรียงให้ท่านฟัง สิ่งที่เรารับรู้กันมาตลอดก็คือว่าพอเขาข้ามชายแดนมาอาจจะข้ามคลอง มุดป่าฝ่าดง ข้ามเขา อะไรมาก็แล้วแต่ ข้ามมาแล้วเขาจะมีบ้านที่พัก คนเมียนมาที่อพยพมาอยู่ หรือคนไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามชายแดน แต่คนพวกนี้จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่เปิดเป็นที่พักพิงให้กับคนที่เข้าแดนผิดกฎหมายเหล่านี้ เขาจะเข้ามานอนอยู่วันหรือสองวัน ถึงเวลานัดหมาย ก็จะมี รถตู้ รถกระบะ รถเก๋ง มารับคนเหล่านี้ เป็นกลุ่ม เป็นคณะ เดินทางมาสถานีขนส่งในเมืองใหญ่ จะเป็นแม่สาย เป็นเชียงใหม่ เป็นเชียงราย อะไรก็แล้วแต่ แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งที่นายหน้าจะพาขึ้นรถตู้เอาเข้าไปจนถึงแหล่งทำงาน ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คือขบวนการค้ายาเสพย์ติด ตามข้อมูลของกรมแรงงาน เขาบอกว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติปีที่แล้ว บอกว่ามี 2,080,000 คน แต่ในความเป็นจริงแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายมักจะมีจำนวนพอๆ กัน หรือ เท่ากันกับคนที่มาอย่างถูกกฎหมาย ไปต่อบัตร ต่ออายุ ทำเรื่องราวต่างๆ ก็ยังต้องมีการจ่ายเงิน จ่ายค่านายหน้า มีเรื่องของค่าอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นในภาครัฐเองก็ต้องจัดการอะไรบ้างอย่าง ตามพรบ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตของทางราชการให้มีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น มีภาระน้อยลงก็เอามาใช้กับเรื่องแรงงานให้เกิดความชัดเจน ปัญหาส่วย สินบน ภาระเรื่องความยุ่งยากที่เขาว่ามาก็จะลดน้อยลง แต่มีอีกทางหนึ่งนะ เราไปแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนเหล่านี้เกิดและเติบโตในประเทศไทยอยู่แล้ว เป็นคนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ให้เขาสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองได้ อันนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหา ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไป 2 เปราะพร้อมๆ กัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคก็คือว่ากลไกของรัฐ ระบบของรัฐ ที่ไม่เอื้ออำนวยและไปถูกแทรกไว้ด้วยมือที่มองไม่เห็น นั่นคือคอร์รัปชัน ส่วย สินบน ก็เลยทำให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายขึ้นมาจำนวนมากเพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเรายอมรับความจริง เรามาช่วยกันแก้ให้ถูกต้อง เรามาช่วยกันกำจัดคอร์รัปชัน ส่วย สินบนเสีย ทุกคนก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข