ประเด็นร้อน

โกง-ขอคืน TAX เข้า กม.ฟอกเงิน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 03,2017

กรุงเทพฯ * กฎหมายโกงภาษีมีผลบังคับแล้ว ขี้ฉ้อเกิน 10 ล้านบาทหรือขอคืนแบบทุจริตเกิน 1 ล้านเข้าข่ายมูลฐานความผิดฟอกเงิน เน้นหนักที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรยันเป็นข้อเสนอจาก ปปง.-กฤษฎีกา "คลัง" ตีกลับแผนรีดภาษี 3 กรม ชี้ยังมีช่องโหว่ให้ถอนขนห่านได้อีก
 
เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 1 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ.2560 ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งเนื้อหาที่สำคัญอยู่ที่ มาตรา 3 ที่ระบุว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 37 ตรี ในส่วน 3 บทกำหนดโทษของหมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประ เมินของลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากรแห่งประมวลรัษฎากร
          
"มาตรา 37 ตรี ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียว กัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป
 
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยอธิบดี รองอธิบดีและที่ปรึกษากรมสรรพากรทุกคน"
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุไว้ว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering (APG) มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) ในการกำหนดให้อาชญากรรมเกี่ยวกับภาษีอากรที่มีลักษณะร้ายแรงเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการหลีกเลี่ยงและการฉ้อโกงภาษีอากร สมควรกำหนดให้การกระ ทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรและการฉ้อโกงภาษีอากรที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
        
เปิดเนื้อหากฎหมาย
 
ขณะที่ประมวลรัษฎากรในมาตรา 37 ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท 1.โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ 2.โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้

ส่วนมาตรา 37 ทวิระบุว่า ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรา 90/4 มีเนื้อหาว่า บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท 

1.ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่ มีสิทธิที่จะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา 86 วรรคสอง หรือมาตรา 86/1 
2.ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ นอกราชอาณาจักรโดยเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 86/2 วรรคหนึ่ง
3.ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา 86/13 
4.ผู้ประกอบการจดทะ เบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ลงรายการหรือลงรายการเป็นเท็จในรายงานตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 
5.ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ หรือใบแทนเอกสารดังกล่าว 
6.ผู้ประกอบการจด ทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อ โกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียว กัน และ 
7.ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในเรื่องนี้ว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของ ปปง.และกฤษฎีกา ที่ให้ความเห็นว่าต้องการให้กรมสรรพากรเข้ามาร่วมพิจารณาในกระบวนการตามที่ระบุในกฎหมายด้วย

ตีกลับแผนรีดภาษี
          
วันเดียวกัน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ส่งแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2560 มาให้กระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ ว่ายังมีช่องโหว่ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มากขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงสั่งการให้ทั้ง 3 กรมภาษี กลับไปทบทวนแผนดังกล่าวเพิ่มเติม และส่งมาให้พิจารณาอีกครั้ง

นายสมชัยกล่าวว่า การพิจารณาแผนเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีของกระทรวงการคลังไม่ได้พิจารณาแต่เม็ดเงินภาษีที่จะได้เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ให้ดูถึงวิธีการและกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ว่าจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้หรือไม่ และที่สำคัญแผนเพิ่มประ สิทธิภาพภาษีนั้นได้มีการพิจารณาเรื่องการอุดช่องโหว่ของการเก็บภาษีส่วนใหญ่แล้วหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่ายังมีช่องโหว่การเก็บภาษีที่ทั้ง 3 กรมยังทำเพิ่มเติมได้อีกมาก

"การทบทวนแผนการเก็บภาษีเพิ่มเติมนั้น ไม่กระทบกับการเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2560 เพราะ 3 กรมภาษีได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว มาตรการไหนทำได้ก็ทำไปเลย ส่วนที่กระทรวงการคลังเห็นว่าควรทำเพิ่มเติมก็ให้ทั้ง 3 กรมภาษีไปทำแผนเพิ่ม และส่งให้กระทรวงการคลังเห็นชอบโดยเร็วที่สุด" นายสมชัยกล่าว
 
สำหรับการเก็บรายได้ของรัฐบาล 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เก็บได้ 8.76 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.41 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 2.09 หมื่นล้านบาท และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 1.15 หมื่นล้านบาท แต่เก็บภาษีของ 3 กรมภาษียังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าหมาย 8.42 พันล้านบาท กรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้าหมาย 2.9 พันล้านบาท และกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมาย 8.56 พันล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายประสงค์กล่าวถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีของกรม จะเข้มงวดเรื่องการจัดเก็บภาษี ร้านค้ากลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับ และบาร์เข้มข้นมากขึ้น และได้มีการซื้อระบบตรวจการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการซื้อขายออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย 1.86 ล้านล้านบาท

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า แผนเพิ่มประสิทธิภาพของกรม จะทำให้การจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.55 แสนล้านบาท
ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า กรมได้เพิ่มประสิทธิภาพภาษีมาต่อเนื่องเพื่อให้การจัดเก็บภาษีทำได้ตามเป้าหมายที่ 1.2 แสนล้านบาท
สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท มีการประเมินการเก็บรายได้ 2.45 ล้านล้านบาท เป็นการเก็บภาษีของกรมสรรพากร 1.92 ล้านล้านบาท, กรมสรรพสามิต 6 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร  1 แสนล้านบาท.

--สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 3 เมษายน 2560 --
อ่านข่าวเพิ่มเติม : 
goo.gl/gXxjGz