บทความ

เหตุผลและเหตุการณ์' ที่ต้องคัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ May 25,2021

 'เหตุผลและเหตุการณ์' ที่ต้องคัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
...
ตามที่รัฐบาลได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ต่อรัฐสภา แต่ปรากฏว่าแนวทางที่รัฐบาลเสนอกลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขัดกับแผนการปฏิรูปประเทศฯ และหลักสากล จนน่าเป็นห่วงว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาความไม่โปร่งใสในภาครัฐกลับเลวร้ายลงกว่าเดิม
ทำไมคนไทยต้องสนใจกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ..
คนจะกล้าโกงหาก “ไม่มีใครรู้” และจะกล้าเสี่ยงมากขึ้นถ้าควบคุมซุกซ่อนเอกสารข้อมูลได้เอง เพราะโกงแล้วใครจะมาสืบสาวเปิดโปงย่อมทำได้ยาก ครั้นชาวบ้านจะลุกขึ้นมาสู้ก็หวั่นเกรงเพราะขาดหลักฐานในมือ ทุกวันนี้เราจึงเห็นคนมีอำนาจที่ชอบคุยว่าโปร่งใส แต่กลับมักง่ายนึกจะไม่ชี้แจงไม่เปิดเผยอะไรก็อ้างว่าเป็น “ความลับ” ของทางราชการหรือขัดต่อความมั่นคงของชาติ บ้างก็อ้างสิทธิส่วนตัวได้ตามใจชอบ
แม้ข้อมูลในมือของภาครัฐหลายเรื่องเป็นข้อมูลดีมีคุณค่า ประชาชนสามารถเอาไปทำประโยชน์ได้เช่น เรื่องตัดถนน ก็เก็บงำไว้ให้รู้แต่พวกพ้องของตนเองก่อน
ด้วยเหตุนี้ การมีกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์วิธีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐอย่างเหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและคนไทยทุกคน แต่หากกฎหมายเปิดช่องให้คนมีอำนาจปกปิดข้อมูลหรือเตะถ่วงเวลาได้ง่ายๆ ย่อมเป็นการปิดกั้นกลไกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นได้เช่นกัน
กฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปัจจุบันไม่ดีอย่างไร ..
พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ที่ใช้อยู่วันนี้ ถูกชี้ว่าล้าสมัยและเป็นอุปสรรคในการป้องกันคอร์รัปชันเสียเอง เพราะมีการตีความและบังคับใช้อย่างบิดเบือนหรือขาดความเข้าใจตลอดมาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ ทำให้สื่อมวลชน ประชาชนและนักวิชาการ เรียกร้องให้แก้ไขตลอดมา โดยมีความคืบหน้าเป็นลำดับคือ
ปี พ.ศ. 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ ฉบับใหม่เสนอต่อ ครม. และ ครม. มีมติเห็นชอบ
ปี พ.ศ. 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ศึกษา ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ ของ สปช. เพื่อเสนอต่อ ครม. และ ครม. มีมติเห็นชอบ
ปี พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 41 มาตรา 59 และมาตรา 253 ได้บัญญัติสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐและหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผย
ปี พ.ศ. 2561 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตฯ กำหนดแผนปฏิรูปประเทศฯ มีแนวทางเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและ สปท.
ปี พ.ศ. 2561 ครม. มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ตามที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ เสนอ
ปลายปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้ศึกษาและมีความเห็นว่า ร่างแก้ไขกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมานั้น ไม่สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศฯ และหลักการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเคยเสนอไว้
24 มีนาคม 2564 ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ เสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2561 และส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
จากการศึกษายังพบว่า ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ของรัฐบาลฉบับนี้ นอกจากจะขัดต่อฉันทามติของทุกองค์กรข้างต้นแล้ว ยังผิดเพี้ยนไปมากจากร่างกฎหมายที่ “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ” เสนอให้รัฐบาลแต่แรก
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่รัฐบาลเสนอไม่ดีอย่างไร ..
ร่างกฎหมายใหม่แทนที่จะทำให้ทุกอย่าง “ดีขึ้น ง่ายขึ้น” สำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน แต่มันกลับแย่ลง เพราะ
1. เขียนข้อห้าม ข้อยกเว้น มิให้เปิดเผยข้อมูลไว้มากกว่าเดิม ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้มีเป็นหลักเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูล
2. ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคล ใช้ดุลยพินิจหรือตัดสินว่าอะไรเปิดเผยได้หรือไม่ได้
3. นิยามคำว่า ข้อมูลข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของรัฐ ต้องครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อมิให้ใครใช้ช่องว่างเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการตรวจสอบของประชาชน
4. ประชาชนถูกปิดกั้นการขอข้อมูล โดยเพิ่มข้อจำกัดขึ้นมา
5. กำหนดโทษรุนแรงถึงจำคุก 10 ปี ปรับ 1 แสนบาท จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเกรงกลัว
ต้องเปิดเผยอย่างไร ..
หลักสากลคือ ทุกคนต้องมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลภาครัฐเท่าเทียมกัน รัฐต้องเปิดเผยให้โปร่งใส ครบถ้วน ส่วนวิธีการเปิดเผยก็ควรใช้เทคโนโลยี่ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วมหาศาลให้คุ้มค่า วางกติกาให้ชัดเจนว่าเรื่องอะไรต้องเปิดเรื่องอะไรควรปิดแล้ววางระบบเป็นอัตโนมัติ ทำได้อย่างนี้ประชาชนจะเชื่อมั่น เจ้าหน้าที่ก็ทำงานด้วยความสบายใจว่าทุกอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีใครมาร้องขอหรือรอให้ใครมาใช้ดุลยพินิจอีกว่าอะไรเปิดเผยได้หรือไม่ได้
ข้อเสนอ..
1. รัฐบาลควรนำร่างกฎหมายฉบับ สปท. มาพิจารณา หรือตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างกฎหมายขึ้นใหม่โดยมีตัวแทนจากประชาชน สื่อมวลชนและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่สังคมยอมรับร่วมเป็นกรรมการด้วย ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคม
2. กฎหมายฉบับใหม่ต้องเคร่งครัดตามหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ล้วนเห็นสอดคล้องกันแล้ว
บทสรุป ..
ถึงเวลาประเทศไทยต้องมีกฎหมายใหม่ที่วางหลัก “เปิดเผยอย่างโปร่งใส” เพื่อสร้างเกราะป้องกันคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ สร้างความเชื่อมโยงให้เกิดการค้าการลงทุนและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
วันนี้การแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ จะบอกอนาคตว่า คนไทยจะต้องทนอยู่กับระบบที่เปิดช่องให้คนโกงบ้านกินเมืองต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่บทสรุปจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความเข้าใจและตั้งใจจริงของท่านนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองในรัฐสภา
หวังว่าจะเกิดสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
21 พฤษภาคม 2564