บทความ

ตึกรัฐสภาใหม่ใช้กันคนโกงได้?

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 05,2017

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นว่า เพื่อให้ได้รับ ความยอมรับจากประชาชน นักการเมือง มักชอบสาบานตัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะรักชาติ ซื่อสัตย์ สุจริตต่อหน้าที่ ไม่คดไม่โกง หรือขอสาบานเพื่อพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของตนเองในข้อกล่าวหา ต่างๆ เช่น ไปสาบานต่อพระแก้วมรกตบ้าง ต่อพระสยามเทวาธิราชบ้าง แต่ต่อไปนักการเมืองเหล่านี้ไม่ต้องไป ไหนไกลแล้ว เพราะสามารถจะกราบไหว้ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ที่รัฐสภาแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่เลย
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ สถาปนิก ออกแบบให้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามแบบแผน ไตรภูมิตามพุทธคติ และนำพระสยามเทวาธิราชจำลองมาประดิษฐานไว้ ชั้นบนสุดด้วย สถาปนิกผู้ออกแบบคือ คุณธีรพล นิยม เรียกชื่ออาคารนี้ ว่า สัปปายะสภาสถาน โดยคำว่า สัป-ปา-ยะ ในทางธรรม หมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี

แบบสัปปายะสภาสถานที่ชนะการประกวดนี้ได้รับคัดเลือกจากกว่าร้อยความคิดที่สถาปนิกทั่วประเทศ ร่วมส่งมานำเสนอ มีรูปแบบต่างๆ หลากหลาย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน ที่มีทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรมสถาน สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาวิศวกรรมและศิลปินแห่งชาติ โดยมีนายประสพสุข บุญเดช อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและประธานวุฒิสภาเป็นประธานฯ ได้พิจารณารายละเอียดทุกแง่มุม ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จนรอบสุดท้ายที่เหลือ 5 แบบจากผู้เสนอแบบ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.นายธีรพล นิยม 2.บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด 3.นายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ 4.บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชันแนล จำกัด และ 5.ผศ.วิเชษฏ์ สุวิสิทฐ์

คณะกรรมการใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง รับฟังการเสนอแบบและแนวคิดที่มีทั้งแนวทันสมัยเป็นสากล, แนวอาคารสูง, แนวที่แสดงความเป็นไทยต่างๆ จนในที่สุดได้ลงคะแนนตัดสินให้แบบที่ 1 "สัปปายะสภาสถาน" ของกลุ่มนายธีรพล นิยม ได้รับเลือกเป็นแบบของอาคารรัฐสภา ถือได้ว่าเป็นอาคารที่ออกแบบได้อย่างเหมาะสมทุกด้าน ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับวิถีประเพณีไทย

ส่วนที่น่าสนใจก็คือ นอกจากจัดให้ มีพื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับสมาชิก สภาฯ ใช้เป็นสำนักงานส่วนตัว มีเจ้าหน้าที่ นั่งประจำใช้เป็นสำนักงานและใช้ติดต่อกับกลุ่มประชาชนที่เลือกตนเข้ามา ยังจัดพื้นที่ให้ประชาชนผู้สนใจติดตามการทำงานของผู้แทนฯสามารถเข้ามานั่งฟัง การประชุมได้จำนวนมาก เป็นห้องที่กว้างขวาง กว่าพื้นที่รัฐสภาเดิม ที่สำคัญจะไม่ใช่ นั่งอยู่ข้างหลังของห้องประชุมรัฐสภา แต่จะจัดให้ได้สังเกตการณ์การประชุมจากชั้นบน ด้านหน้าที่ประชุม ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัด เลยว่าสมาชิกผู้ใดอภิปรายอยู่ ผู้ใดทำ กิจกรรมอื่นๆ ในห้องประชุม เช่น นั่งหลับ หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสมในห้องประชุม นอกจากนี้ ยังจัดให้มีพื้นที่โล่งเป็น สนามหญ้าหน้าตึกรัฐสภา สำหรับผู้ที่สนใจ การเมืองสามารถจะมานั่งฟังการอภิปรายรอบนอกสภาได้ และที่สำคัญ รัฐสภาใหม่นี้จะไม่มีรั้วที่กั้นระหว่างประชาชนกับผู้แทนของเขาอีกต่อไป

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นนี้อยู่บนพื้นที่ 123 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนพื้นที่เดิมของกรมสรรพาวุธทหารบกและโรงเรียนโยธินบูรณะเดิม ย่านเกียกกาย กรุงเทพฯ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยว่า เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะสร้างอาคารรัฐสภา อันเป็นอาคารสำคัญของชาติ ซึ่งกว่าจะตกลงมาสร้างที่นี่ได้ ก็ผ่านการผลักดันให้ไปสร้างในสถานที่ต่างๆ เช่น บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อยู่ไกลถึงจ.ลพบุรี หรือพื้นที่โรงงานทอผ้า ย่านรังสิต ข้างถนนวิภาวดี ซึ่งถูกธนาคารยึดไว้ หาทางปล่อยออกไม่ได้มาหลายปี อยากจะขายให้รัฐสภา หรือแม้กระทั่งมีความพยายามมากจนหวุดหวิดสำเร็จให้ไปตั้งอยู่ในรั้วหมู่บ้านใหญ่แถวสนามบิน สุวรรณภูมิ เคราะห์ดีที่มีคนคัดค้านไว้ ทั้งสมาคมสถาปนิกสยามและสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่ช่วยกัน ติงถึงความไม่เหมาะสมของที่ตั้งที่เสนอมา 2 แห่งสุดท้ายนี้

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ดีวางศิลาฤกษ์สร้างรัฐสภาใหม่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2553 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังดำรง พระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในขณะนั้นแถลงว่า อาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะพร้อมเปิดใช้ได้ภายในปี 2556 ใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

การก่อสร้างจริงเริ่มขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อลงนามสัญญากันในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2556 โดยผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)เสนอราคา 12,906,982,000 บาท ชนะอีก 3 บริษัท ที่เสนอราคาไล่เลียงติดๆ กัน คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 13,900,785,610 บาท,บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 13,700,000,000 บาท และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ จำกัด (มหาชน) 13,638,233,723 บาท ทั้งนี้ราคาที่บริษัทซิโน-ไทยฯเสนอมาดังกล่าวยังคงสูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 12,287,465,000 บาท จึงทำให้ในที่สุด บริษัทซิโน-ไทยฯตกลงลดราคาลงให้อยู่ในราคากลาง 12,200 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคารพื้นที่รวม 424,311 ตารางเมตรนี้ คิดเป็นราคาค่าก่อสร้างเฉลี่ย 28,750 บาท ต่อตารางเมตร

สัญญาก่อสร้างนี้มีกำหนดให้แล้วเสร็จใน 900 วัน คือต้องเสร็จใช้การได้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 แต่อาคารรัฐสภาในฝัน ถึงวันนี้เพิ่งสร้างเสร็จได้เพียง 35% และยังมีข่าวว่าบริษัทซิโน-ไทยฯจะร้องขอต่อเวลาเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มอีก 900 วัน ถ้าได้ต่อสัญญาอีก งานนี้จะใช้เวลาถึง 2,608 วัน หรือ 7 ปี 2 เดือน เวลาก่อสร้างจะเพิ่มเป็น 3 เท่า จากสัญญาเดิมที่กำหนดไว้ 2 ปี 6 เดือน (900 วัน)

หากตกลงตามนี้ รัฐสภาแห่งใหม่ จะเสร็จจริงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2563 รออีก 3 ปีครับ เสร็จไม่ทันรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่จะเลือกตั้งเข้ามาให้ได้นั่งทำงานในอาคารรัฐสภาศักดิ์สิทธิ์ อันมีชื่อว่า สัปปายะสภาสถาน ที่หมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี

ด้วยการออกแบบผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัย กับวิถีประเพณีไทย และเหมาะสม กับการใช้งานจริงสำหรับการบริหาร ประเทศในวิถีประชาธิปไตยที่สนับสนุน การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็น การประสานจิตวิญญาณกับกายภาพเข้ากันได้อย่างลงตัว ทำให้ผมเชื่อว่า ตึกรัฐสภาใหม่นี้จะใช้กันคนโกงได้ อย่างไรก็ตามที่สำคัญที่สุดคือ...ต้องสร้างให้เสร็จทันสัญญาก่อนนะครับ 

-- สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 5 เมษายน 2560 --