บทความ

ถึงเวลา คนไทยร่วมกันกำจัดคนโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 02,2014

เพราะเหตุใดปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยจึงรุนแรงและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็รู้ว่าปัญหานี้คู่สังคมไทยมาช้านาน เป็นคำถามที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ สิ่งยืนยันว่าคำถามนี้คนไม่ได้คิดกันไปเองคือ ผลจากการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศทั่วโลก โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สะท้อนภาพที่ตรงกันว่าปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเรากำลังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในทุกวันนี้คอร์รัปชันก็เป็นปัญหาที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไป จนวันนี้ผลของการคอร์รัปชันโกงกินที่ได้ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานได้ปะทุกลายเป็นชนวนของความแตกแยกครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ จนนำไปสู่การยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556  และทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนทุกสาขาวิชาชีพ ประชาชนนับเป็นล้านๆ ต่างมารวมตัวกันแสดงจุดยืนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นถึงเหตุสำคัญที่ทำให้แนวโน้มการคอร์รัปชันของไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้

1. ผลประโยชน์ของนักการเมือง การคอร์รัปชันมักเกิดจากการสมยอมของข้าราชการกับนักธุรกิจ แต่การคอร์รัปชันขนาดใหญ่จะเกิดได้ต้องอาศัยอำนาจของนักการเมือง คอร์รัปชันขนาดใหญ่เหล่านี้แต่ละโครงการสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับนักการเมืองและพวกพ้องได้อย่างมหาศาล ปัจจุบันหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีผลประโยชน์มากๆ จึงกลายเป็นอาณาจักรเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของครอบครัว พวกพ้องและพรรคการเมือง การโยกย้ายแต่งตั้งก็ถูกแทรกแซงเพื่อสร้างเครือข่ายและตอบแทนบุญคุณกัน ผลประโยชน์ที่สูงมากเช่นนี้จึงกลายเป็นแรงจูงใจให้ “นักการเมืองเห็นแก่ได้” มุ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เริ่มจากใช้เงินทุนของตนและพวกพ้องเพื่อครอบครองอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง แล้วใช้ทุนของรัฐไปครอบงำสถาบันและระบบของสังคมผ่านนโยบายและกลไกของรัฐที่มีอยู่ในมือ แม้จะรู้ดีว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นการกระทำที่ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไปทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติก็ตามที่ผลประโยชน์เหล่านี้คือที่มาของการทุ่มเทอย่างไร้ความรับผิดชอบเพื่อเอาชนะทางการเมืองจนสร้างความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในสังคมทุกวันนี้ารที่นักการเมืองมักอยู่ในอำนาจเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็หลุดจากอำนาจไปตามวงจรการเลือกตั้งหรือการช่วงชิงอำนาจ ทำให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันนโยบาย สร้างโครงการ แทรกแซงกฏระเบียบของรัฐและแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ให้กับตนและพวกพ้อง พร้อมๆ กับการโยกย้ายข้าราชการเพื่อการตอบแทนและสร้างเครือข่ายของตนไว้ให้มากและเร็วที่สุด เพราะไม่รู้ว่าตนเองจะได้อยู่ในตำแหน่งนั้นนานแค่ไหน และนี่คือพฤติกรรมการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาหาผลประโยชน์บนความเสียหายของประเทศอย่างน่ารังเกียจที่สืบเนื่องกันมา

2. พฤติกรรมแบบอย่าง (Role Model) ที่เลวร้ายของผู้นำ  พฤติกรรมที่ฉ้อฉล เล่นพรรคเล่นพวก แทรกแซงการโยกย้ายแต่งตั้งของนักการเมือง  ได้กลายเป็นวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานในหน่วยงานของรัฐที่ข้าราชการทุกคนได้เรียนรู้ และจำนวนมากที่ต้องการโอกาสจากอำนาจที่ชั่วร้ายนี้ก็ได้เข้าร่วมในระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง ร่วมสร้างเครือข่ายและเข้าสู่ขบวนการโกงในที่สุด ทั้งโกงเพื่อนายและโกงพื่อตัวเอง พฤติกรรมของนักการเมืองและข้าราชการเหล่านี้เป็นที่รู้เห็นของสังคมทั่วไป และพวกเขายังทำให้ประชาชนได้เรียนรู้อีกว่าคนโกงนั้นยากที่จะถูกจับได้ ถ้าถูกจับได้ก็ยังยากที่เอาผิดหรือบางกรณียังอาจใช้อำนาจช่วยทำให้พ้นผิดจากกฏหมายก็ยังได้ พฤติกรรมเหล่านี้ได้สร้างอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนทุกเพศทุกวัยจนเกิดเป็นทัศนคติและการเอาแบบอย่างที่ผิดๆ จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้ยินคำพูดที่ว่านักการ เมืองคนไหนก็โกง ตำรวจหรือข้าราชการส่วนใหญ่เมื่อมีโอกาสก็โกง ใครมีโอกาสก็โกงทั้งนั้น ยิ่งเห็นว่าคนโกงแล้วรวยและผู้คนก็ยังนับหน้าถือตา ยิ่งทำให้คนโกงโกงกันแบบไม่ต้องอายตัวเองและไม่อายใคร ที่ร้ายกว่านั้นก็คือคนไม่โกงแต่พูดว่า อย่าไปยุ่งกับเขาเลย อย่าหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว สู้ไม่มีทางชนะหรอกพวกเขามีอำนาจอยู่ในมือ ทัศนคติเช่นนี้ยิ่งทำให้พฤติกรรมที่เลวร้ายของนักการเมืองและข้าราชการขี้โกงเหล่านี้ ถูกเอาเป็นแบบอย่างที่ผิดกันต่อไป ทั้งข้าราชการชั้นผู้น้อย นักการเมืองรุ่นใหม่ นักธุรกิจน้อยใหญ่แม้กระทั่งเด็กและเยาวชน

3. การความมุ่งมั่นตั้งใจจริง (Political Will) ของผู้บริหารประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาคอร์รัปชันของทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องมีควบคู่กับทัศนคติของประชาชนที่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมทนต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แต่จากการศึกษาพบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของ 6 รัฐบาล ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่มีนโยบายหรือมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจัง เพื่อเอาชนะคอร์รัปชันที่มีการพัฒนารูปแบบและกระบวนการอยู่เสมอ ตรงกันข้าม ทุกวันนี้เรากลับได้พบเห็นว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นทั่วไปตั้งแต่ระดับรัฐบาล หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ จนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล  การคอร์รัปชันเหล่านั้นทำกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็ถูกโจมตีว่าขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีการผลักดันนโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิดชอบจำนวนมาก ดังนั้นสรุปได้ไหมว่าประเทศไทยยังขาดผู้นำที่มีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอร์รัปชัน ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาขาดวิสัยทัศน์หรือเป็นเพราะมีผลประโยชน์อยู่กับการคอร์รัปชันเสียเอง หรือทั้งสองอย่างก็ตาม ผู้มีอำนาจ (นักการเมืองและข้าราชการ) ล้วนมีโอกาสที่จะใช้อำนาจในมืออย่างบิดเบือนหรือโกงได้ทั้งนั้น ยิ่งมีอำนาจมากสามารถปิดกั้นสื่อมวลชนและกลไกตรวจสอบได้มากก็จะยิ่งโกงได้มากขึ้น ไม่มีใครเชื่อหรอกว่านักการเมืองจะยอมทำอะไรที่เป็นการลดโอกาส ลดอำนาจของตัวเองอย่างง่ายๆ ดังนั้นเพื่อเอาชนะคอร์รัปชันสังคมต้องตื่นตัว เราต้องมีระบบ มีกลไก มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมไว้ช่วยตรวจสอบ ป้องกัน รวมทั้งมีการสร้างทัศนคติค่านิยมที่ถูกต้องของผู้คนในสังคมไว้ให้เข้มแข็ง วันนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการโกงกินทุกรูป แบบ ได้แสดงจุดยืนและเรียกร้องให้มีการทำมาตรการกำจัดคอร์รัปชัน ให้ประชาชนมั่นใจ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายที่จะกำจัดคอร์รัปชันเป็นนโยบายหลัก และทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญโดยกำหนดให้การกำจัดคอร์รัปชันเป็นวาระของประเทศไทย พร้อมกันนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังได้เสนอมาตรการกำจัดคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม 20 ประการ เพื่อขอให้สังคมได้ร่วมกันผลักดันให้มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง วันนี้คนไทยจะยอมอดทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องลงมือร่วมกันรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนา ที่ไม่มีการคอร์รัปชันโกงกินเป็นตัวบั่นทอนทำลายอนาคตอีกต่อไป  


ดร. มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

2 มกราคม 2557