ประเด็นร้อน

ทำคลอดกฏหมายปิโตรเลียม

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 11,2017

 วิวัฒน์ชัย อัตถากร


"ไม่ว่ารัฐบาลภายใต้เผด็จการประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลภายใต้เผด็จการทหารจากรัฐประหาร ที่สลับกันเข้ามาผูกขาดบริหารบ้านเมืองเนื้อหานโยบายพลังงานปิโตรเลียมล้วนเหมือนกันที่เปิดทางให้ "ทุนพลังงาน" ต่างชาติและธุรกิจพลังงานผูกขาดกวาดเรียบกินรวบหรือไม่ ออกอาการไม่ต่างจาก "สมบัติผลัดกันปล้น" ใช่หรือไม่"
          
ในฐานะนักวิชาการที่สอนเกี่ยวกับ "นโยบายสาธารณะด้านเศรษฐศาสตร์" ผมมักหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมานำเสนอเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนตื่นตัวตื่นรู้ในการแสวงหาข้อมูลที่หลากหลายลุ่มลึกด้วยตนเอง นอกเหนือจากที่ได้รับจากห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวิเคราะห์พินิจพิจารณาปัญหาทุกมิติ ทุกประเด็น อย่างรอบคอบ ให้ถึงรากเหง้าของปัญหาอันจะเป็นการขยายโลกทัศน์ของผู้เรียนให้กว้างไกล ไม่ติดยึดกับการมองโลกแบบคับแคบ หลายต่อหลายครั้งจะมีการหยิบยกกรณีศึกษาของสังคมโลกมาประกอบให้เกิดภาพเปรียบเทียบในการแสวงหาแนวคิดแนวทางและสิ่งที่เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนในบริบทสังคมไทย โดยเฉพาะนักศึกษาในห้องเรียนปริญญาโท-ปริญญาเอกที่ผมสอนอยู่ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาถกเถียงกันด้วยเหตุผลบนหลักวิชาการในหลายมุมมอง ทั้งเห็นด้วย (pro) และเห็นต่าง (con)
          
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า "พลังงานปิโตรเลียม" เป็นประเด็นสาธารณะ ประชาชนไทยทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้สูงจนถึงพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารถุงในตลาด ต่างต้องอาศัยพลังงานปิโตรเลียมเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ดังนั้น การทำนโยบายพลังงาน การบริหารจัดการพลังงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และการออกกฎหมายปิโตรเลียมที่บังคับใช้กับประชาชนไทย ล้วนเป็นเรื่องที่สังคมควรได้รับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ครบถ้วนทุกด้าน ทุกประเด็น การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ของนักศึกษาในเรื่องพลังงานปิโตรเลียม สามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงและพัฒนานโยบายสาธารณะด้านพลังงานได้อีกทางหนึ่ง
          
จากการวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case Study Analysis) ของไทยที่ซับซ้อน พิสดารเป็นมหากาพย์ มีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจปิโตรเลียมหลายมิติที่น่าสนใจทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะในห้องเรียนเมืองไทย แต่ในระดับสังคมโลก อาจเป็น "Showcase" ที่ชี้ให้เห็นถึง "กระบวนการออกกฎหมาย ที่บิดเบือนตัวบทกฎหมายเปิดทางให้เกิดการปล้นปิโตรเลียมชาติ" ซึ่งดังไม่แพ้ข่าวการติดสินบนโรลส์-รอยซ์ ข้ามชาติ ของ ปตท. และ ปตท.สผ. หรือไม่? ผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว ผลการตรวจสอบยังไม่ปรากฏออกมาว่าสรุปแล้วเป็นเช่นไร?
          
ในทางวิชาการ "ความพิลึกพิลั่น" และ "ความไม่ชอบมาพากล" ของกระบวนการจัดทำและการผ่านกฎหมาย 2 ฉบับของรัฐบาล ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตผ่าน ได้แก่ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่.....) พ.ศ...... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่.....) พ.ศ...... ได้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจพลังงานปิโตรเลียมไทยที่ลูกหลานไทยรุ่นต่อๆ ไป จะได้ศึกษา เข้าใจเรื่องราว และนักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ (เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศึกษาศาสตร์) สามารถนำไปใช้ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ตามสาขาวิชาของตน เพื่อแสวงหาคำตอบในการพัฒนาสังคมไทยได้มากทีเดียว เช่น
         
- การพึ่งตนเองทางด้านพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน- ธุรกิจปิโตรเลียมกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน
- การออกข้อกฎหมายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง- จริยธรรมสื่อ- การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นได้แค่ตัวอักษรซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
- การขาดศีลธรรมสาธารณะของบรรดาชนชั้นนำในสังคมไทยบางราย
- เมื่อสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนไม่ได้เกิดขึ้นจริงในสังคมนอกห้องเรียน มีผลทำให้ศีลธรรมในสังคมไทยตกต่ำ คนทั่วไปและผู้บริหารใหญ่โตขาดหิริโอตตัปปะ

กฎหมายปิโตรเลียมของรัฐทั้ง 2 ฉบับที่ สนช.โหวตผ่าน กลายเป็นกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่นั้น มีกระบวนการจัดทำและผ่านกฎหมาย ที่มี "ความพิลึกพิลั่น" "ความไม่ชอบมาพากล" หลายประการ อาจกล่าวได้ว่าการทำคลอด กฎหมายปิโตรเลียม "ฉบับมนต์ดำ" เป็นไปอย่างทุลักทุเลหรือไม่ เล่นเอาหืดขึ้นคอ ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ดีไม่งาม เข้าลักษณะไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็ต้องเอาด้วยคาถา ประมาณนั้น ถึงกับร่ายมนต์ดำทำทุกกระบวนท่าแห่งการใช้อำนาจที่มีเพื่อปิดเกมหรือไม่ และจะทุลักทุเลมากยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติต่อไปในอนาคตอีก เพราะมีการบิดเบือนตัวบทกฎหมายหรือไม่ ความพิลึกพิลั่นและความไม่ชอบมาพากลจะเห็นได้ดังนี้
          
กรรมาธิการวิสามัญฯ รวมถึงข้อเสนอแนะให้มีการจัดตั้ง NOC (National Oil Corporation) บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาทันที เพื่อบริหารจัดการปิโตรเลียมชาติ โดย NOC มีหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทำการบริหารแทนรัฐ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนไทย ทั้งที่ สนช.ได้โหวตรับรองผลการศึกษาดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องแก้ไขกฎหมายตามนั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แล้ว สนช.ก็โหวตผ่าน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกันเองกับมติของตนเอง (ตามผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่จัดทำโดยคณะ  กรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช.)
          
การที่ สนช.ทำสิ่งที่ขัดกันกับมติของตนเองโดยโหวตผ่านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ ไม่แยแสเสียงทักท้วงเสียงเรียกร้องของประชาชน นี่เป็นการออกกฎหมายที่ "พิลึกพิลั่น" "ไม่ชอบมาพากล" และ "ไร้ยางอาย" หรือไม่ ทั้งๆ ที่ในรัฐสภาก็อภิปรายกันขรมถึงทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศถูกสูบไปยังกลุ่มคนบางส่วน เม็ดเงินเม็ดทองที่ได้จากค่าภาคหลวงน้อยนิดเมื่อเทียบกับผลประโยชน์มหาศาลที่รัฐควรจะได้รับเพื่อนำไปพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน การอภิปรายในสภาว่าต้องกล้าทำนโยบายพลังงานให้ถูกต้องและเป็นธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเสียที แต่พอลงเสียงโหวต สนช.กลับโหวตให้กฎหมายปิโตรเลียมของรัฐทั้งสองฉบับผ่านฉลุย ยกเว้นเสียงเดียวที่ไม่ยอมโหวตให้ผ่าน ผมต้องขอคารวะ อนึ่ง ความจริงการอภิปรายของ สนช.บางท่าน ซุ่มเสียงออกมาอยากให้มี NOC ทันเวลาก่อนจะมีการเปิดสัมปทานรอบใหม่ รวมถึงแหล่ง "เอราวัณ" และแหล่ง "บงกช" แม้ให้ใส่ไว้ใน "ข้อสังเกต" ก็จะติดตามให้เกิด NOC ให้ได้ ส่วนทางการจะเปิดสัมปทานรอบใหม่สำหรับแหล่งใหญ่สุดของประเทศ คือ "เอราวัณ" และ "บงกช" ภายในปี 2560 นี้ให้จงได้
          
2.ความพิลึกประการถัดมา การนำเสนอ พ.ร.บ. 2 ฉบับของรัฐบาล ไม่ฟังเสียงทักท้วงขององค์กรอิสระระดับสูงของประเทศ คือ ประธาน คตง. (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) และประธาน กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
          
3.แถมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างเปิดเผย โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) แต่อย่างใด
         
4.มีการกีดกันปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวน การออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ รัฐบาลรับฟังข้อมูลด้านเดียวจากภาคราชการ ส่วนประชาชนได้รวมตัวช่วยกันร่างกฎหมายปิโตรเลียมขึ้นใหม่ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการประชาพิจารณ์แล้ว ถึงแม้ว่าประชาชนไทยครบทุกจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด รวมถึงคนไทยในต่างแดนอาศัยอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมแล้วกว่า 20,000 รายชื่อ ได้ลงชื่อเสนอต่อ สนช. ให้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับประชาชน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา รัฐบาลและหน่วยงานพลังงานของรัฐไม่เคยให้ความสำคัญร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของประชาชน ซึ่งได้พูดถึง NOC คืออะไร มีความจำเป็นอย่างไรต้องมี NOC NOC จะมีบทบาทและหน้าที่อย่างไรบ้าง เนื้อหาสาระหลักของ NOC ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยควรเป็นอย่างไร   แต่ทำไมจึงกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนมากอย่างนี้   หรือว่าการมี NOC จะสะเทือนอาณาจักร ปตท. มิใช่หรือ จึงลุกขึ้นมาต่อต้านกันเป็นขบวน
          
5.มีการจับกุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา (เมื่อ 20 มีนาคม 2560) ในบรรยากาศการชุมนุมที่สงบ สุภาพ รักสันติ ในวิถีอารยะ การจับกุมเท่ากับเป็นการเปิดทางโล่งสะดวกก่อน สนช. โหวตผ่านกฎหมาย 2 ฉบับอย่างฉลุย เสมือนมี "รัฐเป็น รปภ." คุ้มครองคุ้มกันหน้ารัฐสภา บทบาทรัฐเยี่ยงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ทั้งๆ ที่ภาคประชาชนมีข้อเรียกร้องเชิงสร้างสรรค์พร้อมข้อเสนอทางออกเป็นลายลักษณ์อักษร โปร่งใส สุจริต ตลอดมาอย่างชัดเจน
          
6.ก่อนวันโหวต (20 มี.ค.60) เพียงไม่กี่วัน เกิดความพิลึกพิลั่นอย่างผิดสังเกต มีการโหมโรง ดรามาไม่เอา NOC ไม่ให้บรรจุ NOC ไว้ในกฎหมาย สื่อหลายฉบับประโคมข่าวความล้มเหลวของ NOC ในเม็กซิโก หลังจากไปดูงานที่ประเทศนี้ โดยมี ปตท. บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยเป็นผู้พาไป ใครเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่ทราบ
          
การประโคมข่าวของสื่อหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง ประสานเสียงกับผู้บริหารระดับสูงใน ครม. ที่หล่นจากตำแหน่งกลายเป็นอดีต ดรามาว่าทหารวางแผนคุมปิโตรเลียมชาติผ่าน NOC เห็นเอกสารที่จะพาประเทศย้อนกลับไปยุคน้ำมัน 3 ทหารแล้วตกใจ เพราะล้มเหลวไม่เป็นท่า สังคมเกิดความสับสน องค์กรสื่อระดับชาติเชิญแถลงข่าว ณ ที่ทำการ ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน แต่ไม่เชิญตัวแทนภาคประชาชน ถือเป็นการลำเอียงในวิชาชีพสื่อหรือไม่ การประโคมข่าวหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เปิดโปงพฤติกรรม 6 นายทหาร สอดไส้เพิ่มมาตรา 10/1 เรื่องจัดตั้ง NOC ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โจมตีแกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ว่ากดดันรัฐจะจัดตั้ง NOC ให้ได้
          
การอภิปรายในรัฐสภา ทหาร 6 คน เปิดเผยตัวตน และขอให้ผู้กล่าวหาแสดงหลักฐานด้วย จึงทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าฝ่ายใดพูดความจริง ฝ่ายใดพูดเท็จ ทหารเจ็บตัวฟรีไป
          
โดยทั่วไปประชาชนไทยไม่ค่อยปลื้มพฤติกรรมของทหารในอดีตอยู่แล้ว พอเกิดข่าวทหารจะฮุบปิโตรเลียมชาติผ่าน NOC ก็เกิดอาการเชื่อตามกระแสโดยไม่กลั่นกรอง เพราะทหารเคยสร้างวีรกรรมไว้มาก ส่วนท่านผู้นำเหมือนถูกโยนระเบิดเข้าใส่ ออกอาการหูตาลาย โวยวายตามสไตล์ ออกมาแก้ข่าวอย่างรวดเร็ว เข้าทางสื่อไทยเพิ่งไปย่ำเม็กซิโก หนังสือพิมพ์ต่างรายงานว่าท่านผู้นำสั่งเบรก NOC ประกาศชัดไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง NOC เพราะซ้ำซ้อน ปตท. (ซึ่งไม่จริง เพราะ ปตท. เป็น NOC ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากมีต่างชาติและเอกชนถือหุ้นด้วย) และท่านผู้นำยังบอกอีกว่า ไม่มีแนวคิดให้กรมการพลังงานทหารเข้าบริหารกิจการพลังงานของชาติ ทหารไม่ยุ่งเกี่ยว การออกมาโวยวายของท่านผู้นำ อีกทั้งมีการสั่งจับแกนนำประชาชนกลุ่มคัดค้านกฎหมายของรัฐบาลที่ไม่ยอมให้มีการจัดตั้ง NOC เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้ สนช.รู้ว่ารัฐบาลนี้ไม่เอา NOC หรือไม่ ที่เขาบอกต่อๆ กันมาว่า "ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ" มิฉะนั้นอนาคตอาจจะอดเป็น 1 ใน 200 คน กินเงินเดือนเป็นแสน เป็นเรื่องพูดเล่นหรือพูดจริงกันแน่
          
การโหวตผ่านกฎหมายปิโตรเลียมของรัฐบาลทั้ง 2 ฉบับ สามารถมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          
ถึงออกกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ออกมาได้ แต่ดูเหมือนปัญหามิได้จบลงง่ายๆ กฎหมายสามารถกำจัดจุดอ่อนเชิงโครงสร้างทั้งหมดในกฎหมายปิโตรเลียมฉบับก่อนทุกฉบับ และสามารถส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดี ไม่มีช่องโหว่ เปิดทางให้ทุจริต คอร์รัปชัน ให้ดุลพินิจอย่างฉ้อฉล ได้จริงหรือไม่
          
7.กฎหมายปิโตรเลียมขัดต่อหลัก "การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" อย่างสิ้นเชิง คือหลัก "Sustainable Economic Development" 5 ข้อ ได้แก่ การขาดอธิปไตยพลังงาน, การขาดความเป็นธรรม, การขาดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ดินน้ำ-ป่าไม้-อากาศ จากธุรกิจพลังงานทั้งในทะเลและบนบก, การขาดความมั่นคงทางพลังงานเพื่อคนชั้นล่างผู้ด้อยโอกาส, การขาดสันติธรรมการขาดสันติภาพจากการรุกรานทางเศรษฐกิจปิโตรเลียมของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจพลังงานผูกขาดจากที่กฎหมายปิโตรเลียมเบิกทางให้
          
8.กลุ่มทุนข้ามชาติ ตั้งแต่ปี 2514 กอบโกยผลประโยชน์ปิโตรเลียมมหาศาลไปจากประชาชนไทย  การออกกฎหมายปิโตรเลียมนี้มีการบิดเบือนตัวบทกฎหมาย จะทำให้ปิโตรเลียมของชาติที่มีค่าสูงหลายแสนล้านบาทต่อปีหลั่งไหลไปสู่กลุ่มนายทุนและพรรคพวกหรือไม่ หลายปีที่แล้วผมเคยเขียนในไทยโพสต์ชี้ให้เห็นว่า "ใครครองปิโตรเลียม คนนั้นครองชาติ" ถึงวันนี้ปีนี้ (2560) ดูจะมีเค้าความจริงชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
          
9.กฎหมายปิโตรเลียมหละหลวมแบบขาดอธิปไตยทุกด้าน จะเป็นเงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานไปอีกยาวนาน 39 ปี รวดเดียวครั้งเดียว สบายไปสำหรับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งใหญ่สุดในประเทศไทย คือแหล่ง "เอราวัณ" และแหล่ง "บงกช"
          
การที่จะให้กรมเชื้อเพลิงธรมชาติ ทำหน้าที่เป็น NOC นั้นก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นหน่วยงานราชการอาจผิดกฎหมาย จะผิดระเบียบพัสดุ จะให้ ปตท. หรือบริษัทในเครือขายแทนก็ทำไม่ได้ เพราะผลประโยชน์จะถูกแบ่งให้เอกชนผู้ถือหุ้นรวมทั้งต่างชาติ ซึ่งจะกระทบต่อระบบจัดเก็บรายได้ของรัฐ คนอนุมัติอาจผิดกฎหมายตามมาตรา 157 (คำเตือนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอาจารย์ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีการคลัง ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี) ดังนั้น การไม่มี NOC ทันทีในกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่นั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการผิดพลาดครั้งสำคัญของรัฐบาล คสช. จะกระทบต่อรายได้ภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะขาดอธิปไตยทุกด้าน
          
ปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชจะหมดอายุในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งกฎหมายไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้แล้ว อุปกรณ์ตรวจแท่นขุดเจาะจะกลับมาเป็นของรัฐ แทนที่รัฐจะได้อธิปไตยคืนมา กลับยกอธิปไตยให้เขาต่อ ไม่ยอมแก้ไขกฎหมายไม่จัดตั้ง NOC   ที่ผ่านมาตามกฎหมาย อธิปไตยเหนือดินแดน (ไทย) ส่วนนี้เป็นของบริษัทผู้รับสัมปทาน ข้อมูลทางการในปี 2559 (เป็นปีที่ราคาปิโตรเลียมทั่วโลกลดต่ำลง) พบว่าผลผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยมีมูลค่า 3.40 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มาจาก
          
- แหล่งเอราวัณ จำนวน 1.62 หมื่นล้านบาท- แหล่งบงกช จำนวน 7.18 หมื่นล้านบาทรวมทั้ง 2 แหล่งมีมูลค่ารวมปีละ 8.80 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตในประเทศไทย (ประสาท มีแต้ม "ปิโตรธิปไตย : ประโยชน์ของกลุ่มทุนปิโตรเลียมเป็นใหญ่" Manager Online 2 เม.ย.60)...
          
ไม่ว่ารัฐบาลภายใต้เผด็จการประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลภายใต้เผด็จการทหารจากรัฐประหาร ที่สลับกันเข้ามาผูกขาดบริหารบ้านเมือง เนื้อหานโยบายพลังงานปิโตรเลียมล้วนเหมือนกัน ที่เปิดทางให้ "ทุนพลังงาน" ต่างชาติและธุรกิจพลังงานผูกขาดกวาดเรียบกินรวบหรือไม่ ออกอาการไม่ต่างจาก "สมบัติผลัดกันปล้น" ใช่หรือไม่ดังนั้น กฎหมายปิโตรเลียมนำมาซึ่ง "ความเหลื่อมล้ำ"  ซึ่งอาจนำสู่ความขัดแย้ง-ความรุนแรง ทำสังคมไทยถอยห่างจากสันติภาพ การปรองดองโดยไม่แก้กฎหมายในการเข้าถึงทรัพยากรปิโตรเลียมอย่างกระจายตัวสู่ประชาชนก่อนเป็นลำดับแรกนั้น "การปรองดอง" ก็คือ "ความว่างเปล่า" ก็แค่ต่อรองอำนาจใครจะเป็นรัฐบาลมันก็แค่ปาหี่ของเล่นสำหรับชนชั้นผู้ปกครองของบรรดานักการเมืองนักเลือกตั้ง มันก็แค่ "ลิเกลวงโลก" หรือไม่!?
          
ดังนั้น วิเคราะห์มาข้างต้น จะเป็นการผิดพลาดทางนโยบายครั้งสำคัญหรือไม่ จากการผลักดันกฎหมายปิโตรเลียมผ่าน สนช. โดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) อย่าง "ฟังความข้างเดียว" เอาแต่ฟังภาคราชการ   อาจเป็นเพราะขาดความรอบคอบ และการมีความรู้ไม่เพียงพอหรือไม่ การล้มเหลวทางนโยบายสาธารณะครั้งนี้ของ คสช. ถ้าปล่อยให้ผ่านไปอาจส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นและความเชื่อถือต่อรัฐบาล คสช. อย่างมีนัยสำคัญ  อาจ "เสียแนวร่วม" ครั้งสำคัญ ประชาชนกลุ่มนี้ที่คัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมของรัฐบาลเพราะอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับบ้านเมืองจริงๆ กฎหมายปิโตรเลียมอาจถึงกับเป็น "จุดเปลี่ยน" ในภาวะ คสช.ขาลงหรือไม่
          
นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยบอกว่าไม่ได้เข้ามาเพื่ออยู่นาน แต่ต้องการเข้ามาปฏิรูปประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คสช.ควรทบทวนอย่างพินิจพิเคราะห์ พิสูจน์ความสุจริตใจอย่างจริงจังและจริงใจต่อชาติและประชาชนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด

          
โดยให้มีการจัดตั้ง NOC (เป็นองค์การในเนื้อหาใหม่จริงๆ) ขึ้น ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใสเป็นธรรมใน 2 แปลงปิโตรเลียมใหญ่คือ "เอราวัณ" และ "บงกช" ซึ่งหน่วยงานรัฐกำลังเร่งจะเปิดจนอาจเกิดความหละหลวม ไม่รอบคอบพอหรือไม่ จนสังคมอาจเกิดความคลางแคลงใจว่ามี  "ธรรมาภิบาล" โปร่งใส ตรวจสอบได้จริงหรือ?!..... 

- - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 11 เมษายน 2560 - -