บทความ

Open Data คืออะไร?

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 24,2017

ทุกวันนี้มีกระแสเรียกร้องให้มีการนำ “Open Data” มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทย  บางคนอาจมีคำถามมากมายว่า “Open Data” คืออะไร มีแล้วจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้จริงหรือ 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ขอรวบรวมความหมายและประโยชน์ของ “Open Data” จากบทความ นักวิชาการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ ณ ที่นี้

Open Data คืออะไร

นิยามอย่างรวบรัดของ Open Data (ข้อมูลเปิด) ก็คือ ข้อมูลที่เราสามารถนำไปใช้ได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) และแจกจ่ายต่อได้ ทั้งนี้ต้องระบุแหล่งที่มาและต้องใช้เงื่อนไขเดียวกันกับที่มาหรือตามที่เจ้าของงานกำหนด โดยข้อมูลดังกล่าวต้องอยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ (หรือเรียกได้ว่าอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้โดยคอมพิวเตอร์) ส่วนค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นก็ต้องไม่มากไปกว่าค่าใช้จ่ายในการทำสำเนา โดยเฉพาะการดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th นี้ เป็นข้อมูลเปิดของภาครัฐ (Open Government Data)

ข้อมูลเปิด โดยเฉพาะข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ “Open Government Data” มีส่วนช่วยสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ คงจะดีไม่ใช่น้อยถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าวันนี้รัฐบาลเบิกจ่ายซื้อเก้าอี้ประชุมตัวละเท่าไหร่ ภาษีของเราถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง เว็บไซต์อย่าง folketsting.dk ของประเทศเดนมาร์กทำให้ประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในรัฐสภาและกระบวนการผ่านร่างกฎหมายได้ การที่ประชาชนรู้ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาซึ่งรัฐที่รับผิดชอบต่อประชาชน และช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับประเทศไทย มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเปิดภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2540 จากพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทว่าทุกวันนี้การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้สะดวกยังมีน้อย และการเข้าถึงข้อมูลก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ข่าวดีก็คือ ในตอนนี้รัฐบาลได้สร้างเว็บท่า data.go.th ที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นศูนย์รวมข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศแล้ว ซึ่งนอกจากฝั่งภาครัฐ ประชาชน ก็มีบทบาทไม่แพ้กันในการช่วยกันผลักดันอุปสงค์ของข้อมูลเหล่านี้

หัวใจสำคัญของ Open Data
หัวใจของ Open Data นั้นแบ่งเป็น 3 ประการคือ 
1. Availability and Access คือ ข้อมูลที่เปิดเผยต้องสามารถใช้งานได้ทั้งหมดและกรณีที่มีค่าใช้จ่ายจะต้องไม่มากไปกว่าการทำสำเนา สำหรับการเผยแพร่จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถแก้ไขได้ สามารถดาวน์โหลดฟรีผ่านอินเตอร์เน็ต 
2. Re-use and Redistribution คือ ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องถูกจัดเตรียมภายใต้เงื่อนไข การอนุญาตให้นำมาใช้ใหม่และเผยแพร่ได้ รวมถึงการใช้ชุดข้อมูลร่วมกับชุดข้อมูลอื่น ๆ 
3. Universal Participation คือ ทุกคนสามารถที่จะใช้ข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ การใช้ซ้ำ การเผยแพร่ โดยไม่ติดเรื่องข้อจำกัดใดๆ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าข้อมูลนั้นๆ เช่น หากเป็นข้อมูลที่ไม่อนุญาตให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ (non-commercial) จะไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือข้อมูลนั้นอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างเช่น ใช้ในการศึกษาเท่านั้น ก็จะไม่สามารถนำไปใช้ได้ 

**ซึ่งหัวใจสำคัญทั้ง 3 ประการนี้เป็นความสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน (interoperability) อย่างเป็นรูปธรรม

ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ Open Data
- Transparency เป็นการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลและสามารถตรวจสอบการดำเนินของภาครัฐตามนโยบายที่ประกาศให้ไว้กับประชาชน 
- Releasing social and commercial value ในยุคดิจิตอลข้อมูลเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับสร้างนวัตกรรม การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ๆเผยแพร่สู่สังคมและเชิงพาณิชย์ 
- Participation and engagement ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ กับประชาชนมากขึ้น

ประเภทของ License ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th 
ในปัจจุบันข้อมูล ที่อยู่บนเว็บไซต์ data.go.th จัดอยู่ในประเภทของ Non-exclusive licence เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้สิทธิในงานนั้นเอง และอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในงานนั้นได้อีก

ใครสามารถนำ Open Data ไปใช้ได้บ้าง
ทุกคนในประเทศไทยสามารถนำข้อมูล Open Data ไปใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการวิจัยค้นคว้าเชิงข้อมูลก็สามารถทำได้ไม่ติดข้อจำกัดใดๆ

จะใช้งาน Open Data ต้องทำอย่างไร
ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดไฟล์ชุดข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ตามที่ต้องการในแต่ละหัวข้อที่ปรากฏบนเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง

การนำ Open License มาใช้ (การเปิดกว้างในทางกฎหมาย)
ในขอบเขตอำนาจศาลส่วนใหญ่ จะมีเรื่องของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในข้อมูลที่ป้องกันบุคคลที่สามจากการใช้งาน การนำกลับมาใช้ใหม่ และการแจกจ่ายข้อมูลโดยไม่ได้รับการอนุญาตที่ชัดเจน ดังนั้น การที่จะทำให้ข้อมูลของหน่วยงานสามารถให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ จะต้องใส่ license เข้าไปที่ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของชุดข้อมูล 
License ที่หน่วยงานสามารถใช้ได้นั้นสำหรับข้อมูลที่ “เปิดเผย” สามารถใช้ license ที่สอดคล้องกับ Open Definition และทำการระบุว่าเหมาะสมสำหรับข้อมูลรายการที่ว่านี้ (พร้อมกับวิธีการใช้งาน) สามารถหาได้ที่ http://opendefinition.org/licenses/ 
คำแนะนำวิธีการใช้งานสั้นๆ 1 หน้า สำหรับการใช้ open data license สามารถหาได้ที่เว็บของ Open Data Commons opendatacommons.org/guide/

การทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งาน (การเปิดกว้างในทางเทคนิค)
Open data จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างในทางเทคนิคเช่นเดียวกับในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลจะต้องมีความพร้อมในการใช้งานในรูปแบบที่เครื่องสามารถอ่านได้ โดยยังพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักคือ 
1. ความพร้อมใช้งาน - ข้อมูลควรจะมีราคาไม่มากกว่าค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาข้อมูล ซึ่งควรจะเป็นการให้ดาวน์โหลดฟรีจากอินเตอร์เน็ต ทำให้หน่วยงานไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆในการจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ใช้งาน 
2. กลุ่มข้อมูล - ข้อมูลควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เช่น ข้อมูลทะเบียนที่ถูกเก็บรวบรวมภายใต้กฎข้อบังคับทั้งหมดนั้นควรจะมีพร้อมสำหรับดาวน์โหลดได้ ส่วน web API หรือ service ที่คล้ายๆ กันนั้นอาจมีประโยชน์มาก แต่ไม่ใช่ตัวแทนของการเข้าถึงกลุ่มข้อมูล 
3. อยู่ในรูปแบบที่เปิดและเครื่องสามารถอ่านได้ - การนำข้อมูลที่ถือครองโดยภาครัฐมาใช้ไม่ควรจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านสิทธิบัตร และที่สำคัญต้องแน่ใจได้ว่าสามารถจัดเตรียมข้อมูลในรูปแบบที่เครื่องสามารถอ่านได้สำหรับการนำไปใช้งานในวงกว้าง เช่นรายงานทางสถิติที่ตีพิมพ์เป็นเอกสาร PDF (Portable Document Format) ซึ่งมีความยากมากสำหรับคอมพิวเตอร์ในการนำข้อมูลในรูปของ PDF ไปใช้งานต่อ

การกำหนดรูปแบบของข้อมูลเปิดภาครัฐมีผลต่อการนำชุดข้อมูลไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
 
หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
 
ปัจจุบัน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการได้ด้วยการเข้าใช้เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมักพบไฟล์ข้อมูลในรูปแบบ PDF, XLS และ DOC ที่สามารถดาวน์โหลดหรือเปิดอ่านได้ด้วยโปรแกรมที่ประชาชนใช้อยู่แล้วโดยทั่วไป
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในแนวทางเดียวกันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) รวมถึงชุดข้อมูล (Data set) ที่จะสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และความก้าวหน้าด้วยความสามารถของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้
 
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ อีจีเอ จึงบริหารจัดการโครงการศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data Center) ภายใต้ชื่อ Data.go.th โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาระบบศูนย์กลางสำหรับให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐ และเพื่อการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำ Open Data
 
 
แนวทางเบื้องต้นในการจัดทำ Open Data
 
1. ทำให้ง่ายเข้าไว้ เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เล็ก ง่าย และเร็ว ไม่จำเป็นว่าทุกๆ ชุดข้อมูลจะต้องถูกสร้างให้ open ในตอนนี้ เริ่มต้นด้วยการเปิดเพียงแค่ 1 ชุดข้อมูล หรือแม้แต่ 1 ส่วนของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้น 
 
2. มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกและบ่อยๆ การมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานจริงที่นำข้อมูลไปใช้ตั้งแต่ในระยะแรกและบ่อยเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือกลุ่มนักพัฒนา จะทำให้การพัฒนาบริการของหน่วยงานนั้น มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อมูลจำนวนมากจะไปไม่ถึงผู้ใช้งานโดยตรง แต่จะต้องผ่าน ‘info-mediaries’ ที่มีการดึงข้อมูลและแปลงหรือเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อนำมาเสนอ ตัวอย่างเช่น ส่วนใหญ่เราจะไม่ต้องการฐานข้อมูลพิกัด GPS ขนาดใหญ่ แต่เราจะต้องการแผนที่มากกว่า ดังนั้นจึงต้องทำในส่วนตัวกลางข้อมูลก่อน 
 
3. ขจัดความกลัวและความเข้าใจผิดโดยทั่วไป ซึ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของภาครัฐ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล อาจจะต้องเจอกับคำถามและความกลัวมากมาย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ (1) ระบุสิ่งที่สำคัญมากที่สุด และ (2) จัดการสิ่งเหล่านั้นในระยะแรกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ระดับการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ
Data.go.th กำหนดระดับการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้สามารถพิจารณาถึงการนำไปใช้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจัดระดับการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ ดังนี้

 



หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดทำชุดข้อมูล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานสัมมนาและกิจกรรมเกี่ยวกับข้อมูลเปิด ได้ที่ data.go.th   

Open Government Data เหมือนหรือแตกต่างจาก พรบ. ข้อมูลข่าวสารฯ อย่างไร

 

พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ  2540

Open Government Data

วัตถุประสงค์

เปิดเผยข้อมูลทั่วไป ตามมาตรา และมาตรา เป็นลักษณะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ

เปิดเผยข้อมูลที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ข้อมูลนั้นจะต้องสามารถนำไปใช้สร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ เช่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนารูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการใหม่ๆ ได้

ประโยชน์

สร้างความโปร่งใสให้กับหน่วยงาน
- ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานได้

- สร้างความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย
- เพิ่มประสิทธิภาพของบริการภาครัฐ
- สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
- พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการแบบใหม่ๆ ที่ดีขึ้น
- สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ตัวอย่างชุดข้อมูล

เปิดเผยตามมาตรา และ 9

- ตามกฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นต้น
- ตามภารกิจของหน่วยงาน เช่น ข้อมูลการเก็บสถิติต่างๆ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลการระบาดของโรค ข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
- เปิดเผยข้อมูลที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานในวงกว้าง เช่น ข้อมูลการจราจร (แบบ Real Time) ข้อมูลแผนที่ พิกัด ที่ตั้ง เป็นต้น

รูปแบบข้อมูล

เปิดเผยในรูปแบบใดๆ ก็ได้

รูปแบบของ Excel (XLS) เป็นอย่างน้อย หรือในรูปแบบ Comma-Separated Value (CSV) หรือ Open Document Spreadsheet (ODS)


ที่มา : เอกสารประกอบการบรรยายสัมมนา Open Government Data Conference 2015 
**ดูคำอธิบายชุดข้อมูลได้ที่ : data.go.th/Faq.aspx
เรียบเรียงโดย : ส่วนจัดการความรู้และสารสนเทศ แหล่งข้อมูล :
 Data.go.th
ขอขอบคุณ : thainetizen.org/2015/02/csdig-open-government-data/
สามารถดาวน์โหลดได้ที่ : 
old.ega.or.th/Files/20150527101019.pdf 
อ่านเพิ่มเติม สิ่งที่กฎหมายดิจิทัลควรทำ : ข้อมูลเปิด+รัฐเปิด (Open Data+Open Government) : thaipublica.org/2015/03/open-data-open-govt/