ประเด็นร้อน

เสรีภาพสื่อไทย โจทย์ใหญ่ที่'คนข่าว' ต้องรวมพลัง

โดย ACT โพสเมื่อ May 03,2017

วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ถูกเรียกขานว่า เป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก"ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศรับรอง
          
ความสำคัญของ "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" คือ เพื่อให้ "สื่อมวลชน รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ทบทวนการทำหน้าที่ตลอดปีที่ผ่านมา และส่งผ่านความตระหนักและย้ำถึงความสำคัญของการมีเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน ไปยัง "รัฐบาล" เพื่อให้ผู้มีอำนาจรัฐ และเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อใช้อำนาจทั้งปวง ตระหนักถึงบทบาทของสื่อมวลชน ที่ต้องให้ความเคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก
          
ในปีนี้งานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกถูกจัดใหญ่ที่เมืองหลวงประเทศอินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม และมีคำขวัญของปีนี้ ว่า "Critical Minds for Critical Times" ซึ่งเป็นการย้ำและให้ความสำคัญถึงการมีวิจารณญาณในสถานการณ์หรือช่วงเวลาวิกฤติ
          
ขณะที่ในประเทศไทย "องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน"
          
เตรียมจัดกิจกรรม ภายใต้คำขวัญที่ว่า "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน"
ซึ่งมีที่มาจากสถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยในยุคปฏิรูปโดยรัฐบาลทหาร และเครือข่าย ได้เข้าสู่ก้าวแรกของการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าทำมาก่อน
          
แม้ชื่อร่างกฎหมายจะพยายามสร้างความ เชื่อว่า เพื่อคุ้มครองและยกระดับมาตรฐาน แห่งวิชาชีพ คือ "ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...."
          
แต่เนื้อหาแล้ว คือ การเปิดช่องให้ "ภาครัฐ" ที่ต้องถูกตรวจสอบจากสังคมมีอำนาจเหนือการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ผ่านกฎหมายและบทลงโทษ
          
ทำให้วันก่อนเสรีภาพสื่อฯ จะเกิดขึ้น  เกิดการขับเคลื่อนอย่างหนักจาก องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และเครือข่ายสื่อมวลชน
          
ทั้งรูปแบบ การเรียกร้อง ขยายความผลกระทบกับประชาชนยื่นหนังสือถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง-เปิดแคมเปญต่อต้าน และเรียกร้องให้ปรับแก้ไข จนกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ "คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ"
          
ยอมถอยในนาทีสุดท้ายก่อนที่จะพิจารณาเนื้อหา คือ "ตัดเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ออกจากเนื้อหา และปรับให้เป็นการออกใบรับรองการสังกัดผ่านองค์กรสื่อมวลชนแทน" รวมถึงตัดเรื่องโทษของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตออกจากร่างกฎหมาย แต่ยังคงสัดส่วน กรรมการสภาวิชาชีพฯ ที่เป็นตัวแทนภาครัฐ จำนวน 2 คนไว้"
          
หากจะมีคำถามว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ "เครือข่ายรัฐบาลทหาร" ถึงมีโจทย์ที่แน่วแน่ต่อการควบคุมสื่อมวลชน สามารถถอดรหัสได้จากเหตุผลของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ว่า "ที่ผ่านมาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน และองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ได้กำหนดมาตรการ กลไกกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กระบวนการกลไกกำกับดูแลสื่อมวลชน ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง"
          
ต่อประเด็นนี้ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.สื่อสารมวลชน เชื่อว่าการออกกฎหมายจะแก้ปัญหาของสื่อมวลชนที่ถูกสังคม ลดความเชื่อมั่นและความเชื่อถือต่อการทำ อาชีพได้ เพราะมีเครื่องมือและกลไกที่ทำให้การตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนมีประสิทธิภาพ  ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะทำหน้าที่เหมือนครูใหญ่ในโรงเรียนที่ถือไม้เรียวคอยดูแลเด็กที่เกเร
          
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปสื่อมวลชนเป็นโจทย์ในหลายเรื่องหลักของ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
          
เพราะก่อนหน้านั้น "สื่อมวลชน" ถูกตีตราว่า เป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกของสังคม รวมถึงนำเสนอข่าวสาร-ภาพข่าว อย่างไร้ความรับผิดชอบ และไม่ให้ความเคารพต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว จนหลายกรณีถูกสังคมตราหน้าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง รวมถึงกรณีที่ "องค์กรสื่อมวลชน" ไม่สามารถตรวจสอบ หรือลงโทษกันเองได้
          
ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในความตระหนักของตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนเช่นกัน ต่อประเด็นการตรวจสอบกันเองที่ได้ผล และตอบสนองความคาดหวัง ของสังคมได้รวดเร็ว ทันใจ โดย ปราเมศ  เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
          
เปิดเผยว่า เข้าใจต่อความคาดหวังของสังคม ที่ต้องการให้สื่อมีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ เมื่อเกิดประเด็นที่การทำหน้าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และต้องการให้มีการตรวจสอบหรือลงโทษ บางเรื่องที่อยู่ในการตรวจสอบแล้ว แต่ไม่สามารถรายงานผลให้สังคมรับรู้ได้ทันใจ จึงเป็นประเด็นที่จะใช้ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ปี 2560 ประกาศว่า องค์กรสื่อมวลชนของประเทศไทยทุกแขนงจะร่วมกำหนดมาตรการ และการตรวจสอบที่มีความรวดเร็วโดยให้สื่อมวลชนภาคสนาม และบุคลากรสำคัญขององค์กรสื่อ ร่วมประชุมหารือกำหนดกลไกขึ้นและบังคับใช้ร่วมกัน
          
ขณะที่ประเด็นการขับเคลื่อนต่อไปของ "องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน" ต่อการต่อรองขอพื้นที่อิสระในการทำหน้าที่โดยไม่มีองค์กรรัฐแทรกแซงนั้น นายกสมาคมนักข่าวฯ
          
เปิดเผยว่า จะร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ประมาณ 2-3 ฉบับ และนำมาปรับปรุงให้มีความทันสมัยต่อยุคปัจจุบัน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อใช้ยื่นต่อองค์กรใดก็ตามที่มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย
          
ส่วนความเคลื่อนไหวของเครือข่าย-องค์กรสื่อมวลชน ที่จะจัดกิจกรรม รวมพลังคนข่าว คัดค้านกฎหมายคุมสื่อ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น จะมีกิจกรรมสำคัญ ทั้งการกล่าวไว้อาลัยสื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งเน้นสาระสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ภาคสังคมมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบสื่อมวลชน และการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          
ต่อจากนั้นคือ การจัดเวทีเสวนา เรื่อง "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" โดยนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ปิดท้ายด้วยการมอบรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวดสโลแกนวันเสรีภาพสื่อมวลชน
          
"ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ปี 2560 องค์กรสื่อมวลชนของประเทศไทยทุกแขนงจะออกประกาศ ที่จะร่วมกันกำหนดมาตรการ และการตรวจสอบที่มีความรวดเร็ว โดยให้สื่อมวลชนภาคสนาม และบุคลากรสำคัญขององค์กรสื่อ ร่วมประชุมหารือกำหนดกลไกและบังคับใช้ร่วมกัน"

- - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 - -