ประเด็นร้อน

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ให้คะแนน 'ปราบคอร์รัปชัน' 3 ปี คสช.

โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2017

 หมายเหตุ : 3 ปีแห่งการรัฐประหาร โดย"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.เวียนมาครบรอบ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ได้รับความสนใจจากหลายต่อหลายฝ่ายด้วยกันในหลายบริบท ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตลอดจน "ผลงาน" ของ คสช.ว่าได้บรรลุเป้าประสงค์ หรือไม่ อย่างไร


"สยามรัฐ" ได้โฟกัสในมิติของการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งถูกยกให้เห็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทั้ง คสช.และรัฐบาลต่างใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ในมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ให้ลุกลาม กัดกินประเทศ ทั้งนี้ในวาระ 3 ปี คสช.ทั้งนี้ "สยามรัฐ" มีบทสัมภาษณ์พิเศษ "ดร.มานะ นิมิตรมงคล"เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)เพื่อให้สะท้อนมิติของการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีสาระที่น่าสนใจดังนี้

อยากให้สะท้อนภาพ ความรุนแรง ของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน กับการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ปัญหาได้ลดน้อยลงหรือไม่
          
ถ้าประเมินจากข้อมูลหลายๆ ทาง การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกระทำของรัฐบาลน้อยลงในช่วงนี้ โดยดูได้จากผลสำรวจจากหลายๆสถาบัน อาจจะเป็นเพราะนโยบายของตัวนายกฯที่ต้องการเอาจริงกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันซึ่งปัญหาจะมี 2 อย่างคือ 1.การคอร์รัปชันในระดับรัฐบาล อะไรที่เป็นข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวข้องกับคนใกล้ตัวของนายกฯ ยังมีข้อกังขาอยู่เพราะไม่ได้รับคำตอบหรือไม่ได้ถูกเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่าคอร์รัปชันในภาครัฐบาลไม่ถูกแก้ไข
          
และ 2.การคอร์รัปชันในระบบราชการยังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วประเทศทั้ง กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งสะท้อนได้ว่าดัชนีคอร์รัปชันที่เขาประเมินไทย จึงสอบตก ไม่ว่าหน่วยงานไหนมาประเมินไทยก็ยังสอบตก เพราะว่านักธุรกิจไทย หรือนักธุรกิจต่างชาติ หรือคนต่างชาติที่เข้ามาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างเข้ามาในเมืองไทยเขาจะสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้เพราะเกิดขึ้นจริง และคนไทยทั่วประเทศเวลาไปติดต่อหน่วยงานราชการจำนวนมากจะพบกับปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ ในภาครัฐก็ยังดี แต่ยังมีข้อกังขาอยู่ แต่ในระบบราชการทั้งกรุงเทพฯ ท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ว่าฯ สาธารณสุขจังหวัด ป่าไม้ จะเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน
          
หลายครั้งนักการเมืองเองตั้งคำถามว่าเมื่อไม่มีนักการเมืองอยู่ในอำนาจ แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังมีอยู่ ในฐานะที่อยู่ในองค์กรต่อต้านการทุจริตฯ จะอธิบายได้อย่างไรบ้าง
          
เป็นเรื่องจริง เพราะปัญหาคอร์รัปชันสะสมในบ้านเราจนฝังอยู่ในระบบราชการมานานเพราะฉะนั้นการที่ไม่มีนักการเมืองระดับประเทศแต่ยังมีนักการเมืองท้องถิ่นวงจรนี้ก็ยังเดินหน้าต่อไป แต่เรื่องที่พัวพันนักการเมืองระดับประเทศ อาจจะถูกตัดตอนการรับผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับชาติ แต่ประสบการณ์และช่องทางการทุจริตบรรดาข้าราชการได้เรียนรู้ และปฏิบัติอยู่
          
ดังนั้นแม้ไม่มีนักการเมือง ข้าราชการก็ยังคงทำในสิ่งเหล่านั้น และเก็บผลประโยชน์ไว้เป็นของตัวเองทั้งหมด แม้ไม่มีนักการเมือง แต่ข้าราชการกับนักธุรกิจก็ยังจับมือกันทำงานต่อไป และมีข้อมูลว่ายังมีคนที่มีสี มีอิทธิพล แอบอ้างว่ายังสามารถเชื่อมต่อกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้ ไปตีเมืองขึ้น เรียกรับผลประโยชน์แทนนักการเมือง
          
คสช.เคยใช้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มาเป็นหนึ่งในเหตุผลในการเข้ามายึดอำนาจจากฝ่ายการเมือง และเมื่อเข้ามาสังคมก็คาดหวังว่าคสช.จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ในความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาทุจริตฯของ คสช.บรรลุเป้าหมายหรือไม่
          
ในช่วง 3 ปีของ คสช.ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ก้าวหน้าเป็นระบบมาก เมื่อเทียบกับ20-30 ปี ไม่มีช่วงไหนก้าวหน้าถึงระดับนี้ แม้แต่การออกรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่ามีความก้าวหน้า แต่ครั้งนี้ก้าวหน้าเยอะกว่า ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558, พระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560, การตั้งศาลคอร์รัปชัน รวมทั้งวางกลไกต่างๆ เช่นให้การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้เห็นและเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย ถือเป็นสิ่งที่ดีและทันสมัยมาก
          
อะไรคือ "ข้อจำกัด" ของ คสช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
          
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและคนใกล้ตัวไม่มีความชัดเจน สิ่งที่ประชาชนพูดกันตลอดเวลาคือการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไมค์ทองคำ การไปดูงานต่างประเทศการแต่งตั้งโยกย้ายเครือญาติ หรือล่าสุดคือการซื้อดำน้ำ ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากของประชาชน ทำให้กองทัพเรือออกมาแถลงข้อมูลให้รายละเอียดมากขึ้น เรื่องถึงซาลงไปได้
          
ดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลและ คสช. มีเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบ และลงโทษผู้ที่กระทำทุจริตคอร์รัปชัน ค่อนข้างมาก รวมทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ ยังเน้นเรื่องการปราบโกง นี่คือจุดแข็งและความแตกต่างที่ คสช. มีใช่หรือไม่
          
ถูกต้อง... ตั้งแต่เริ่มรัฐบาลพยายามที่จะทุ่มเททรัพยากรในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เช่น มีการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือ ศอตช. โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่นายกฯ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้นำนักวิชาการ และภาคเอกชน เข้ามาร่วมคิดร่วมทำด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี
          
ผลงานที่น่าชื่นชมมากคือมีความพยายามในการบูรณาการการทำงานและการใช้งบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจำนวน 8 หน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. -อปท. -ปปง.อัยการ บูรณาการงบประมาณร่วมกันทำงาน ถ้าในอนาคตทำได้อย่างนี้ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล
          
ถ้าให้คะแนน คสช.และรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเต็ม 10 คะแนนจะให้เท่าไหร่
          
ถ้าในเรื่องของความตั้งใจของตัวนายกฯผมให้คะแนนเต็ม แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อดี ข้อด้อยหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของคนใกล้ตัวที่ทำให้ประชาชนและสังคมมองว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานโดยเอื้อประโยชน์กับพวกพ้อง ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารราชการ ดังนั้นผลงานที่เกิดขึ้นจึงมีข้อจำกัดอยู่ ถ้าถามว่าให้คะแนนอย่างไรผมให้ได้แค่ 8 คะแนนเต็มที่
          
มองมาที่ภาคประชาชน เห็นว่าหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เข้าสู่ปีที่ 3 ของ คสช.ประชาชน ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และมีการปรับตัว กันอย่างไร
         
อย่างที่เราเห็นการคอร์รัปชันฝังรากลึกมากในวิถีชีวิตของคนไทย การแก้ปัญหาในยุคที่เรียกว่ามีมาตรา 44 เป็นอำนาจเผด็จการมาก ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ แก้ไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเองเพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะสร้างกลไกไว้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ในระยะยาว และทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีความตื่นตัว และยึดมั่นในแนวทางเดียวกันว่าคนไทยต้องไม่โกง และพวกเราจะไม่ยอมให้ใครโกง ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ถึงจะแก้ได้ แต่ถ้าประชาชนยังยึดติดเหมือนในอดีตและปัจจุบันว่าไม่เป็นไร เล็กๆ น้อยๆ มีผลงานก็ปล่อยไป ถ้าคนเชื่ออย่างนี้ก็ไปไม่ได้
          
ถ้าจะให้คำนิยาม คำจำกัดความสำหรับคสช.ต่อการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน อะไรคือคำนิยามที่ชัดเจน และสะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด
          
องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจและมีผลงาน แต่การนำมาตรการและนโยบายไปปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก
          
มองว่า คสช.ได้วางกรอบ วางหลักเกณฑ์ในการแก้ปัญหาการทุจริตฯ เอาไว้ให้สังคมมากน้อยแค่ไหน เพราะหลังการเลือกตั้ง คสช.ก็ต้องหมดวาระไปแล้ว
          
จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นายมีชัยฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงได้กำหนดให้รัฐบาลต้องมีการปรับปรุง หรือเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยที่สุด 22 ฉบับที่จะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้ ที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา63 ที่กำหนดไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้กับประชาชนถึงปัญหาคอร์รัปชัน รัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยได้รับการปกป้องจากรัฐ
          
เพราะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นสำคัญที่สุดคือพลังประชาชน ไม่ใช่คนในทำเนียบรัฐบาลหรือการมีกฎหมายมาก แต่คือพลังประชาชน และยังมีมาตราอื่นๆ ที่พูดถึงสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล การรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ สิทธิของประชาชนที่จะฟ้องร้องหน่วยงานราชการที่ไม่ทำตามหน้าที่หรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้จะเป็นการทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบจากสาธารณะที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้อย่างจริงจัง ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญมีประโยชน์เยอะมาก
          
แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนข้องใจและขอตั้งคำถามกันมาก คือความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันระยะยาวรัฐบาลมองและตีความอย่างไร เพราะตอนตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ไม่มีคณะกรรมาธิการทางด้านต่อต้านคอร์รัปชันเลย รวมทั้งร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ อีก 10 ชุด ก็ไม่มีคณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชันอีกเหมือนกัน
          
ถ้าเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องระยะยาว ต้องการความต่อเนื่อง ทุ่มเท จริงจังแต่กลับไม่ตั้งคณะกรรมการทำงานในด้านนี้ แต่นำไปฝากทุกๆ คน ฝากคนนั้น คนนี้ หรือตั้งเป็นอนุกรรมการฯ หรือกรรมการพิเศษที่มีลักษณะชั่วคราวขึ้นมา แล้วอย่างนี้จะมีความเข้มแข็งได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายก็จะมีความมั่นคง มีสิทธิตามกฎหมายที่ดีกว่า ตรงนี้เป็นคำถาม ผมก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเขามองอย่างไร..?
          
"การแก้ปัญหาในยุคที่เรียกว่ามีมาตรา 44 เป็นอำนาจเผด็จการมาก ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้แก้ไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเองเพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะสร้างกลไกไว้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ในระยะยาวและทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีความตื่นตัวยึดมั่นในแนวทางเดียวกันว่าคนไทยต้องไม่โกงและพวกเราจะไม่ยอมให้ใครโกงถ้าเป็นอย่างนี้ได้ถึงจะแก้ได้"

- -สำนักข่าว สยามรัฐ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 - -