ประเด็นร้อน

ทำไมต้องปฏิรูปตำรวจ?

โดย ACT โพสเมื่อ May 26,2017

ไทยรัฐ: ทำไมต้องปฏิรูปตำรวจ? 

- - สำนักข่าว ไทยรัฐ วันที่ 26/05/60 - -

ต้องถือว่านับเป็นครั้งแรก ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ โดยเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้คณะอนุกรรมาธิการของ สนช. และ สปท. ไปพิจารณาใหม่จะมีอีกทางหรือไม่ที่จะให้ตำรวจเป็นตำรวจพื้นที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด และอยู่ในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและบางส่วนไปอยู่กับ กอ.รมน.

เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการให้โอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้นักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจเพื่อป้องกันการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบ และรักษาอำนาจและทำให้ตำรวจกับนักการเมืองสมคบกัน หากินในธุรกิจสีเทาต่างๆ

แม้รัฐบาลจะต้องการปฏิรูปตำรวจหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญบังคับไว้อยู่แล้วให้รัฐบาลแต่งตั้ง "คณะกรรมการคณะหนึ่ง" ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆมีอำนาจหน้าที่แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจรวมทั้งกฎหมายการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพให้ตำรวจ ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

รัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า การแต่งตั้งและโยกย้ายต้องยึดหลักคุณธรรมที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันส่วนการปฏิรูปอีกด้านหนึ่ง ให้ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสมแต่ไม่ได้พูดถึงการโอนอำนาจการสอบสวนจากองค์กรตำรวจ

การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นปัญหาใหญ่หัวหน้า คสช. จึงออกคำสั่งที่ 7/2560 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2560 เพื่อปรับปรุงการแต่งตั้งตำรวจระบุชัดเจนว่า "เพื่อให้มีขั้นตอนชัดเจนโปร่งใสปราศจากการวิ่งเต้นการเรียกรับหรือให้สัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนกับการแต่งตั้ง "รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเชื่อว่าคำสั่งนี้จะแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง

หากมีการซื้อขายตำแหน่งจริงจะต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเนื่องจากตำรวจเป็นต้นธารกระบวนการยุติธรรมมีอำนาจให้คุณให้โทษประชาชนในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาและในการปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่นๆ การซื้อขายตำแหน่งบีบบังคับให้ตำรวจใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อหาเงินไว้ซื้อตำแหน่ง

เรื่องนี้ไม่ใช่จินตนาการแต่คนไทยส่วนใหญ่เชื่ออย่างนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของกรุงเทพโพล มีถึง 76.8% ไม่เชื่อว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันนั่นคือ เชื่อว่ามีการเลือกปฏิบัติขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน".