ประเด็นร้อน

ศุลกากรเชือดรถยนต์หรู

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 08,2017

 - - สำนักข่าว ไทยรัฐ วันที่ 08/06/60 - -

          
กรมศุลกากรเร่งสรุป 3 คดี รถยนต์หรูภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ หลังดีเอสไอสืบคดีแล้วเงียบหายไปนาน ตั้งแต่ปี 56 จากคดีรถยนต์หรู 4 คัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ที่เกิดไฟไหม้ที่จังหวัดนครราชสีมา คดีรถยนต์หรูป้ายแดงจากตลาดเกรย์ มาร์เก็ต สำแดงราคาต่ำ และรถยนต์หรูที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ
          
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งข้อมูลคดีนำรถหรูที่ถูกโจรกรรมจากต่างประเทศโดยมีทั้งสำแดงเท็จ และเสียภาษีนำเข้าจากต่างประเทศไม่ถูกต้อง จำนวน 30 คัน มาให้กรมศุลกากรตรวจสอบนั้น ล่าสุด ตนได้แต่งตั้งรองอธิบดีกรมศุลกากรฝ่ายปราบปรามเป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วโดยจะใช้เอกสาร หลักฐานและประเมินราคารถที่ดีเอสไอส่งมาให้มาประกอบเป็นข้อมูลในการคิดคำนวณภาษีนำเข้าเพื่อเรียกเก็บจากผู้ประกอบการนำเข้ารถหรูที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง รวมทั้งค่าปรับเงินเพิ่ม โดยรถแต่ละคันจะมีฐานความผิดที่แตกต่างกันไป เช่น ความผิดฐานลักลอบนำเข้า ความผิดฐานสำแดงเท็จ โดยจะคำนวณภาษีและค่าปรับย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่นำเข้ารถมา นอกจากนี้ ในวันที่ 8-9 มิ.ย.นี้ ตนจะเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานเพื่อเร่งสรุปข้อมูลและตรวจสอบ ข้อเท็จจริงทั้งหมดให้เสร็จ โดยในวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อแจ้งกลับไปยังดีเอสไอ
          
สำหรับคดีรถยนต์ของกรมศุลกากรที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา มีจำนวนมากและหลายคดีที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ตนจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสรุปคดีทั้งหมดและรายงานความคืบหน้า โดยตั้งเป้าหมายไปที่ 3 คดีใหญ่ ประกอบด้วย 1.การสำแดงเท็จที่เกิดจากการนำเข้ารถหรูที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ 2.การตรวจสอบความผิดของข้าราชการกรมศุลกากร 9 คน ที่เกี่ยวข้องกับคดีการนำเข้ารถหรูในปี 2553 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบแล้ว เนื่องจากมีข้าราชการระดับสูงหรือซี 9 จำนวน 2 คนเข้ามาเกี่ยวข้อง และ 3.คดีที่เกี่ยวข้องกับรถจดประกอบที่เป็นรถยนต์หรูถูกไฟไหม้เมื่อปี 2556 ซึ่งกรมศุลกากรได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ไปบางส่วน และบางรายได้เกษียณอายุไปแล้ว โดยทั้ง 3 คดีถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์หรูทั้งหมด กรมศุลกากรจะเร่งสรุปและรายงานต่อกระทรวงการคลังให้เร็วที่สุด
          
นอกจากนี้ กรมศุลกากรกำลังอยู่ระหว่างรื้อระบบการประเมินราคากลาง ในการตรวจนำเข้ารถหรูผ่านด่านศุลกากรทั้งหมด โดยจะประสานกับดีเอสไอที่มีสนธิสัญญาข้อตกลงร่วมกันทางคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมเพื่อประสานขอข้อมูลราคารถที่แท้จริงจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมากรมศุลกากรตรวจสอบราคารถยนต์หรูจากเว็บไซต์และแหล่งอื่นๆที่สามารถอ้างอิงได้ ทำให้ราคารถยนต์หรูของดีเอสไอกับกรมศุลกากรมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำราคากลาง ราคามาตรฐานรถหรูให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
          
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่าขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมศุลกากรกำลังเร่งสะสางคดีรถยนต์หรูทั้งหมด ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน นอกเหนือจากข้าราชการกรมศุลกากรทั้ง 9 คน เช่น นางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล อดีตรองอธิบดี กรมศุลกากร นายธีระ สุวรรณพงษ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ซึ่งกรณีดังกล่าวยังส่งผลให้รัฐบาลขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์หรูอีกหลายพันล้านบาท
          
ทั้งนี้ การตรวจสอบรถยนต์หรูที่นำเข้าจากต่างประเทศ สืบเนื่องมาจากกรณีเมื่อวันที่ 29  พ.ค.2556 เกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์สปอร์ตหรูราคาแพง 4 คันที่บรรทุกมาบนรถเทรเลอร์ บนถนนมิตรภาพ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยรถเทรเลอร์ฮีโน่ สีขาว ได้บรรทุกรถยนต์หรูเกิดไฟลุกไหม้ ประกอบด้วย รถเบนท์ลีย์ ป้ายแดง 1 คัน และรถบีเอ็มดับเบิลยู ป้ายแดง 1 คัน รถลัมโบร์กินี สีขาว ป้ายแดง 1 คัน และรถเฟอร์รารี ป้ายแดง 1 คัน รวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยว่า รถยนต์หรูทั้งหมดเป็นของใครและกำลังจะเคลื่อนย้ายรถไปไหนและที่สำคัญรถยนต์เหล่านี้มีการนำเข้ามาในประเทศอย่างถูกต้องหรือไม่
          
โดยดีเอสไอได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีในพื้นที่และพบว่า รถยนต์ทั้งหมดเป็นรถยนต์จดประกอบที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบกและตำรวจหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และยังพบว่ามีรถยนต์หรูอีก 300-400 คัน ที่รถจดประกอบและนำเข้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรในสมัยนั้น ได้ติดตามรถยนต์หรูที่เสียภาษีไม่ถูกมาเสียภาษีให้ถูกต้องได้ประมาณ 40-50 คัน หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าอีกเลย โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรระบุว่า คดีรถยนต์จดประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้องประมาณ 400 คัน ได้โอนคดีไปให้ดีเอสไอสอบสวนแล้ว รวมถึงรถยนต์หรูใหม่ป้ายแดงที่สำแดงราคาต่ำจากตลาดเกรย์ มาร์เก็ต Grey Market ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาสอบสวนของดีเอสไอ ต่างก็หายเงียบไม่มีรายงานความคืบหน้าแต่อย่างใด.