ประเด็นร้อน

ปปช.ฟัน'วินัย-อาญา'20 บอร์ดบริหารสกสค.

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 15,2017

 - - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15/06/60 - -


ป.ป.ช.ฟันวินัย-อาญา 20 บอร์ดบริหาร กองทุน ช.พ.ค. เอื้อประโยชน์เอกชน ซื้อตั๋วสัญญา 2,500 ล้านบาทมิชอบ

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) กับพวก รวม 20 ราย ประกอบด้วย

1.นายเกษม กลั่นยิ่ง 2. นายสมศักดิ์ ตาไชย 3.นายสุรเดช พรหมโชติ 4.นายประวิทย์ บึงไสย์ 5.นายนเรศ แสนมูล 6.นายสมศักดิ์ ทองแก้ว 7.นายอุดม รูปดี 8.ว่าที่ร้อยตรี เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ 9.นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง 10.นายนิเทศน์ บัวตูม 11.นายเพทาย ทองมหา 12.นางปิยาภรณ์ เยาวาจา 13.นายพรเทพ มุสิกวัตร 14.นางมยุรี ตัณฑวัล 15.นายสุเทพ ริยาพันธ์ 16.นางสาวกัญญาณัฐ แจ่มมี 17.บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด
18.นายสิทธินันท์ หลอมทอง 19.นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ 20.นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา

ทั้ง 3 คนนี้ในฐานะกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยนฯ และในฐานะส่วนตัว กรณีอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท โดยมิชอบและเป็น การเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ

เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการ นายปรีชา เลิศกมลมาศ และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการ
          
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2556 สำนักงาน คณะกรรมการ สกสค. ได้รับหนังสือเชิญชวนให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท จากบริษัท บิลเลี่ยนฯ จากนั้นมีมติอนุมัติให้นำเงินของ กองทุนฯ ไปซื้อตั๋วสัญญา 2,100 ล้านบาท โดยพิจารณาจากเอกสารเชิญชวน เพียงฉบับเดียว และไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่ามีความจำเป็นต้องเร่งรีบ พิจารณาโดยปราศจากการตรวจสอบ ทั้งภายหลังจากวันที่อนุมัติเพียง 2 วัน กลับเร่งรีบโอนเงิน 2,100 ล้านบาท ให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ ซึ่งภายหลังบริษัทฯ ก็ไม่มีการขอให้ธนาคารพาณิชย์ใดๆ ทำการอาวัลรับรอง ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว แม้ต่อมาระหว่างรอการอาวัลโดยธนาคาร บริษัท บิลเลี่ยนฯ จะได้ นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน เช็คธนาคาร และดร๊าฟของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ คอร์เปอเรชั่น จำกัด มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท ให้ถือไว้เป็นประกัน แต่พบว่าราคาประเมินที่ดินประมาณ 37 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนเช็คก็ไม่สามารถเรียกเก็บ เงินได้ และดร๊าฟก็เป็นของปลอม และระหว่างนั้นยังอนุมัติเงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยนฯ  การกระทำของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงมีมูลเป็นความผิด ตามกฎหมายอาญาและความผิดวินัย