ประเด็นร้อน

เด้งรองดีดี'ทีจี'เหตุขัดใจบอร์ด

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 15,2017

 - - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 15/06/60 - -

          
บอร์ดบินไทยเด้ง "กนก ทองเผือก" รองดีดี หลังเจอร้องเรียนตั้งวีพี ในยุคจรัมพร เหตุไม่สนองคำสั่งผู้มีอำนาจ ไม่เกี่ยวสินบนฉาวโรลส์-รอยซ์ ล่าสุด ป.ป.ช. แจ้งบินไทยส่งเอกสารเพิ่ม
แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในกรณีที่คณะกรรมการบริษัทมีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 สั่งพักหน้าที่ เรืออากาศเอก กนก ทองเผือกรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจการองค์กร(DB) และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล(A9) และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกฎหมาย (WL)ให้พ้นจากหน้าที่ทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่เจรจา ทบทวนสัญญา และประสานหารือคณะกรรมการด้านกฎหมาย ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา

"การพักหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2554  ซึ่งสาเหตุเกิดปัญหาการแต่งตั้ง นายสิทธินัย จันทรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกฎหมายหรือระดับวีพี ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานของเรืออากาศเอกกนก ซึ่งวีพีคนดังกล่าวถูกร้องเรียนในเรื่องส่วนตัว ซึ่งการสอบข้อเท็จจริงก็พบว่าคดีมีมูล ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความไม่เหมาะสม และในทางปฏิบัติต้องตั้งกรรมการสอบวินัยต่อและฝ่ายบริหารไม่ได้มีการดำเนินการ"

นอกจากนี้ยังพบว่าก่อนหน้านั้นมีผู้ถือหุ้นของการบินไทยส่งใบปลิวถึงบอร์ดการบินไทยทุกคนร้องเรียนถึงการแต่งตั้งโดยเห็นว่าไม่มีความเหมาะสม ทำให้บอร์ดสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง ตามระเบียบบริษัท ดังนั้นเรืออากาศเอกกนก ในฐานะหัวหน้าสายงาน ซึ่งวีพีคนดังกล่าวสังกัดอยู่ จึงถูกสั่งให้ย้ายชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องของหลักธรรมาภิบาลบริษัท

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า อันที่จริงแล้วการแต่งตั้งระดับวีพี เป็นอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และการแต่งตั้งที่มีปัญหานี้เกิดในยุคนายจรัมพร โชติกเสถียร เป็นดีดีที่เลือกใช้วิธีสรรหา ให้คนมาสมัครสอบสัมภาษณ์ มีกรรมการ 3 คน และมีนายจรัมพรเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ขณะที่เรืออากาศเอกกนก เป็นคนชงเรื่องตามสายงาน และเซ็นแต่งตั้งรักษาการวีพีคนดังกล่าว ตามคำสั่งของอดีตดีดี

ดังนั้นเมื่อบอร์ดมีการสอบสวนการบริหารงานบุคคลในคำสั่งดังกล่าว ตามหลักการ ก็ควรจะกระทบกับอดีตดีดีด้วยแต่ปัจจุบันนายจรัมพร ไม่ได้เป็นพนักงานของการบินไทยแล้ว แต่บอร์ดดึงให้มานั่งเป็นกรรมการในบอร์ดปฏิรูปขององค์กรอยู่ จึงมีเรืออากาศเอกกนก เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งพักหน้าที่ชั่วคราว ระหว่างรอการตรวจสอบในเรื่องการแต่งตั้งที่เป็นปัญหานี้
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นปัญหาที่รับรู้มาพักใหญ่แล้ว  แต่การที่บอร์ดหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการสั่งพักหน้าที่เรืออากาศเอกกนก วงในเผยว่า
          
"น่าจะมาจากการที่เขาถูกสั่งจากคนที่มีอำนาจในการบินไทยในปัจจุบัน ที่อีกสีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลังตำแหน่งบอร์ดที่มาจากสายทหารหมดวาระไปหมดแล้วให้ดำเนินการในบางเรื่องที่เกี่ยวกับงานทรัพยากรบุคคล แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมากดดันการทำงาน แต่ไม่ใช่ประเด็นการสอบสวนเรื่องสินบนฉาวโรลส์-รอยซ์ อย่างที่มีกระแสข่าวมีการโยงในเรื่องนี้" แหล่งข่าวกล่าว
          
เนื่องจากกรรมการสอบสวนของการบินไทย 2 ชุดในเรื่องนี้ เรืออากาศเอกกนก ไม่ได้เป็นกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษที่สอบสวนในเรื่องนี้มีนายนิรุฒ มณีพันธ์ เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุง มีนายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข เป็นประธาน ส่วนการมอบหมายให้นายธีรพล โชติชนาภิบาล ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มาปฏิบัติหน้าที่แทนเรืออากาศเอกกนก ก็เป็นเพียงตัวประกอบ เพราะจะเกษียณในอีก 4 เดือนนี้
          
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในกรณีสินบนฉาวโรลส์-รอยซ์นั้น  ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ได้ขอเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติมจากการบินไทย ในส่วนของคำสั่งซื้อเครื่องยนต์ครั้งที่ 1 (ช่วงปี 2534-2535) และคำสั่งซื้อครั้งที่ 2 (ช่วงปี2535-2540) ซึ่งการบินไทยได้ส่งเพิ่มเติมไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติของป.ป.ช. ที่ให้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป