ประเด็นร้อน

ธุรกิจเร่งรัฐแก้สินบนใบอนุญาตเข้มในก.ม.

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 23,2017

 - - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23/06/60 - -


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกโรงต้านจ่ายสินบน ใบอนุญาตก่อสร้าง "เอกชน" หวังพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ.2558 "ยกระดับ"ประเทศให้มีความง่ายใน การดำเนินธุรกิจ ปิดจุดเสี่ยงรับสินบน ลดต้นทุน ภาคธุรกิจ ด้าน กพร.ตั้งเป้าหมาย 3 ปีเดินหน้านำระบบดิจิทัล มาใช้บริการอนุมัติการทำธุรกิจ ปลดล็อก ราชการใช้ดุลพินิจอนุมัติใบอนุญาต
          
ในการเสวนา "ใบอนุญาตก่อสร้าง : ความสะดวกที่ต้องจ่าย...จริงหรือ?" ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) วานนี้ (22 มิ.ย.) โดยมีวิทยากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนเข้าร่วม เพื่อระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหา การติดสินบน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวก ในการได้รับใบอนุญาต โดยเห็นว่าหากรัฐสามารถ "ยกระดับ"ประเทศให้มีความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)มากขึ้น พร้อมนำระบบ "ดิจิทัล" มาปิดจุดเสี่ยงในการออกใบอนุญาต ลดการใช้ดุลยพินิจของข้าราชการ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว ลงได้ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลงในที่สุด
          
นางอารีพันธ์ เจริญสุข ที่ปรึกษาพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ไปสู่ยุค 4.0 ต้องพัฒนาระบบข้าราชการให้พร้อมสู่ ยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจไทยเกิดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
          
โดยภาครัฐมีบทบาทเป็น"ผู้อำนวยความสะดวก" ทางการค้า ที่จะต้องยกระดับประเทศให้มีความง่าย ในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) มากขึ้น เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน จ่ายสินบนหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะ"ผู้ถือกฎหมาย"และใช้อำนาจในการอนุมัติการทำธุรกิจ เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น
          
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ.2558 เพื่อใช้ในการติดต่อกับข้าราชการ เชื่อมหน่วยงานทุกส่วนภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีส่วนปลดล็อกปัญหาการออกใบอนุญาตจากภาครัฐให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น  โดยภาคธุรกิจมีต้นทุนดำเนินการต่ำลง
          
นางอารีพันธ์ ยังกล่าวว่า จากการวัดมาตรฐานความง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก (World Bank) ในคู่มือก่อสร้าง ปรากฏว่า ไทยมีขั้นตอนการขอใบอนุญาตถึง 17 ขั้นตอน ใช้เวลามากถึง 103 วัน ถือเป็นกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน และมีการตรวจซ้ำจากภาครัฐ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติยังมีค่าใช้จ่ายในการต้อนรับเจ้าหน้าที่ผู้มาตรวจ ทางธนาคารโลกจึงเสนอให้ไทยปรับสู่มาตรฐานที่เป็นสากลพัฒนาสู่ระบบ"ดิจิทัล"นำหลักการบริหารความเสี่ยงโดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อ "ปิดจุดเสี่ยง"การติดสินบนในการยื่นขอ ใบอนุญาต กับผู้อนุมัติโครงการที่ใช้ดุลยพินิจของบุคคลในการอนุมัติ
          
สำหรับเป้าหมายในการยกระดับกระบวนการดังกล่าว กพร.ตั้งเป้าหมายที่จะลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เหลือ 30-50% ของกระบวนการเดิมที่มีอยู่ และพัฒนาระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้น ภายใน 3 ปี โดยใน 3 เดือนแรก จะต้องทำระบบกรอกข้อมูลพื้นฐานทุกหน่วยงานเป็นแบบฟอร์มเดียวกัน (Single Form) เพื่อนำไปใช้และส่งต่อในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
          
"เป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นในวงราชการที่ได้นำเสนอให้รัฐบาลไปแล้ว โดยมีพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ มาใช้เพื่อวางระบบจัดการยื่นเอกสารให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยวางกรอบกระบวนการชัดเจน หากไม่เสร็จตามขั้นตอนที่ระบุ ภาคเอกชนมีสิทธิทวงถาม จนถึงฟ้องร้องหากพบว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นมาจากความประมาท เลินเล่อถือเป็นโทษร้ายแรงสำหรับข้าราชการที่อาจจะต้องออกจากราชการ จนถึงไม่ได้รับเงินบำนาญ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนกลัว"
          
นายสรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ทัศนะถึงการเหตุผลที่ภาพธุรกิจอาจต้องการจ่ายสินบนว่าเกิดจาก 2 สาเหตุ  คือ บริษัทนั้นๆ ทำผิดกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจต่อรองในการเรียกรับเงิน ซึ่งในปัจจุบันเรียกคำเหล่านี้ว่า "การแบ่งปันรายได้" และอีกเหตุผลหนึ่ง จ่ายเพื่อต้องการซื้อเวลาหรือร่นเวลาการออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจยอมรับว่า แม้จะทำถูกต้องตามหลักการและกฎหมาย แต่ก็ต้องจ่ายเพื่อทำให้ออกใบอนุญาตรวดเร็ว ธุรกิจเดินหน้าไปได้แบบไม่ต้องรอเวลานาน
          
ด้านนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกเป็นความจริงของแวดวงสถาปนิก วิศวกร รวมถึงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายมีประสบการณ์ตรงที่ถูกกดขี่มานาน จึงต้องเริ่มต้นจากการลุกขึ้นมาตกลงกันว่าจะไม่จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนไม่ควรหมดหวัง และต้องหาทางพัฒนาจุดนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม
          
ทั้งนี้พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกหากเกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้จริงถือเป็นความหวังในมิติใหม่ของประเทศชาติที่รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญ ควรต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
          
นายต่อตระกูล ยังกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกจ่ายเงินต้องยอมรับว่าเป็นเพราะค่าตอบแทนในการทำงานน้อย ดังนั้นสิ่งที่จะสนับสนุนให้ข้าราชการหลุดจากการกระทำเช่นนี้จะต้องจัดทำระบบดึงเงินใต้โต๊ะให้เป็นบนโต๊ะที่เป็นค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน ซึ่งภาคธุรกิจยินยอมที่จะจ่ายหากอำนวยความสะดวกและมีการกำหนดชัดเจน
          
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การทำงานต้องทำร่วมกันอย่างบูรณาการทุกหน่วยงาน พัฒนาเป็นการบริการจุดเดียว(One Stop Service) ที่ไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการเจอกับเจ้าหน้าที่ แต่จะส่งต่อกระบวนการทำงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ขออนุญาตที่หนึ่ง แล้วต้องไปขออีกที่หนึ่งต่อ เป็นต้น