ประเด็นร้อน

หอชมกรุงเทพฯ 4 พันล้าน

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 30,2017

 - - บางกอกทูเดย์ วันที่ 30/06/60 - -

      
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เวลา 13.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร
แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือ โครงการนี้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ทำให้โครงการนี้ถูกจับตามองเพียงแค่ชั่วข้ามคืน บนข้อสงสัยว่า ทำไมจึงยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษไม่ต้องมีการประมูล
          
เพราะในเมื่อโครงการนี้ เป็นโครงการร่วมทุน เนื่องจากที่ดินที่จะก่อสร้างโครงการเป็นที่ดินราชพัสดุ ในขณะที่โครงการนี้ก็มีมูลค่าการลงทุนเกินกว่าเกณฑ์ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ของการประมูล
          
เมื่อมาย้อนดูถึงที่มาที่ไปของโครงการตั้งแต่แรก จะพบว่า จุดเริ่มของโครงการนี้ เกิดขึ้นในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 โดย ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 7,621 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ดำเนินโครงการ โดยจะจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคด้วยการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0
          
ดังนั้นจะพบว่าจริงๆ แล้วโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล ถึงขนาดที่มีการเสนอเตรียมวงเงินงบประมาณเพื่อโครงการนี้ไว้ถึง 7,621 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 6 เดือนก็อนุมัติออกมาเป็นโครงการร่วมทุน ให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุแทน
          
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ ครม.อนุมัติออกมาว่า ให้คัดเลือกเอกชนได้เลย โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขัน จึงก่อให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมจึงไม่เปิดประมูล ในเมื่อกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ พ.ศ. 2545 ข้อ 26 กำหนดว่า
          
การเช่าที่ราชพัสดุ ต้องใช้วิธีการประมูลซึ่งคำตอบก็คือ "สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เนื่องจากจะทำให้มีความล่าช้าและอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการ และอาจจะไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีรูปแบบการดำเนินการเชิงสังคม แต่มีเงื่อนไขว่าเอกชนที่มาดำเนินการจะต้องจัดทำแผนบริหารการสัญจร การรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง และให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังพิจารณา รวมถึงให้นำรายได้ที่เหลือจากการดำเนินการทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายให้นำไปดำเนินการในเชิงสังคมไม่ให้นำมาแบ่งปันกัน นอกจากนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่าให้มีการเตรียมการ การวางแผนการจัดการจราจร บริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนี้มีโครงการใหญ่หลายโครงการซึ่งกำลังก่อสร้าง เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัด" พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวจึงเกิดข่าวตามว่า ผู้ที่ได้โครงการนี้ไป คือ มูลนิธิ หอชมเมือง ซึ่งมีการจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แค่ 3 เดือนเศษ
และมีการโยงว่า มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องโยงไปถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์โครงการหนึ่งที่อยู่ใกล้กับที่ราชพัสดุผืนนั้น
          
ทำให้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องมีการชี้แจงโครงการสร้างหอชมเมืองว่า ในเรื่องนี้ ครม. อนุมัติหลักการ ให้มูลนิธิหอชมเมือง กทม. เป็นผู้ดำเนินการสร้างหอชมเมืองในพื้นที่ดินราชพัสดุ 4 ไร่เศษ ที่ซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนครได้โดยใช้เงินลงทุน 4,621.47 ล้านบาท
          
ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คืองบก่อสร้างคือ 4,422.96 ล้านบาท และค่าเช่าที่ดิน 198.51 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี โดยหอชมเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้ โดยภายในอาคารจะไม่มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการค้าเลย แต่จะเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง
          
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดอีกว่า ค่าบัตรเข้าชมที่ได้นั้นจะไม่มีการแบ่งสรรปันส่วนให้กับเอกชนโดยเด็ดขาด แต่จะใช้เพื่องานกุศลทั้งสิ้น อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขว่า ระหว่างการก่อสร้าง ทางมูลนิธิหอชมเมือง กทม. จะต้องวางแผนการก่อสร้าง ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้น
          
"สำหรับงบที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นงบประมาณของมูลนิธิฯ และอีกส่วนก็เป็นการลงขันระหว่างนักธุรกิจภาคเอกชน ไม่มีงบของรัฐแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งได้ค่าเช่าที่ด้วย แต่เรื่องนี้ก็ต้องผ่านมติ ครม. เนื่องจากสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุ ดังนั้นก็ถือว่ารัฐมีส่วนร่วมด้วย"
          
พล.ท.สรรเสริญ ระบุว่า เรื่องนี้ได้ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ) แล้ว
          
สรุปจากคำชี้แจงของ พล.ท.สรรเสริญ นั่นก็คือ การที่โครงการนี้ไม่ต้องผ่านการประมูล เนื่องจากการสร้าง หอชมเมืองไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล อีกทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง และหวังผลเชิงสังคม ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าวหากใช้การเปิดประมูล ก็อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าได้
          
นับตามลำดับเวลา จากจุดเริ่มต้นที่ ครม.อนุมัติครั้งแรกสำหรับการเกิดโครงการนี้ ก็คือเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 มาถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ก็คือ 6 เดือนกับอีก 14 วัน นั่นเอง
แต่รัฐบาลนี้ถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมาก จึงได้อนุมัติให้เป็นโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชนที่ไม่ต้องเปิดประมูล และปรับเปลี่ยมูลค่าโครงการจาก 7,621 ล้านบาท หากรัฐต้องสร้างเอง มาเป็นเหลือแค่ 4,422.96 ล้านบาท เมื่อเอกชนต้องเป็นผู้สร้าง
          
มูลค่าโครงการต่างกันถึง 3,198.04 ล้านบาทและหากจะรวมค่าเช่าที่ดินผืนนี้เป็นระยะเวลายาว 30 ปี อีก 198.51 ล้านบาทเข้าไปเป็นต้นทุนของเอกชน ก็จะเท่ากับเอกชนมีต้นทุนเท่ากับ 4,621.47 ล้านบาทเท่านั้น ยังต่ำกว่าแผนลงทุนเดิมของรัฐบาลเกือบ 3,000 ล้านบาทอยู่ดี
          
ทำให้เกิดความสนใจพุ่งไปที่ มูลนิธิหอชมเมือง ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ก็พบว่า จดทะเบียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2557 มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500,000 บาทถ้วน มีนายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธานกรรมการ โดยที่มีการระบุวัตถุประสงค์หลักเอาไว้คือ ก่อสร้างและบริหารวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร
ซึ่งในช่วงปี 2558 และปี 2559 ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไรให้สังคมได้รับรู้ว่ามีมูลนิธินี้เกิดขึ้น และต้องการที่จะทำโครงการเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร
          
แต่พอ 13 ธันวาคม 2559 ครม. อนุมัติเห็นชอบที่ให้มี โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง ก็ปรากฏว่าในอีก 28 วัน ต่อมา คือในวันที่ 10 มกราคม 2560  มูลนิธิหอชมเมือง ได้มีการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ ข้อ 1 เป็น
          
"ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร"
          
เหมือนกับรู้โจทย์ล่วงหน้า และมีผลให้ในอีก 6 เดือนต่อมา มูลนิธิหอชมเมืองแห่งนี้ ก็ได้งานโครงการการก่อสร้างหอชมเมือง ไปแบบสบายๆ โดยไม่มีคู่แข่ง เพราะไม่ต้องมีการประมูล
          
ทำให้มูลนิธิแห่งนี้ กลายเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น และทำให้พบว่าประธานคณะกรรมการ มูลนิธิหอชมเมือง คือ นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ และเป็น CEO ของ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อันเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ซีพีกรรมการมูลนิธิฯคนที่สอง คือ นายสุทธิลักษณ์ วินทุ พราหมณกุล ก็เป็นกรรมการบริษัท ดีซี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพีกรรมการมูลนิธิฯคนที่สาม คือ นางสาวอารยา จิตตโรภาส เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเนียรนพ ซึ่งในปลายปีที่แล้วศาลล้มละลายได้ประกาศพิทักษ์ทรัพย์
          
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ คือ นายชลชาติ เมฆสุภะ เป็น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการ "ไอคอนสยาม" ที่อยู่ใกล้ที่ดินแปลงนี้บริษัท สยามพิวรรธน์ คือกลุ่ม เดอะ มอลล์จึงเป็นที่มาของ ก็อสซิบ และ รูมเมอร์ สนั่นแวดวงธุรกิจว่า งานนี้ กลุ่มซีพี กับ กลุ่มเดอะมอลล์ เป็นผู้หยิบชิ้นปลามันที่แท้จริงในครั้งนี้นั่นเอง
          
ทำให้บรรดานักวิชการ และภาคประชาสังคม ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นโครงการที่สุดแล้วว่าจะมี ผลให้โครงการธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมเพ่งเล็งไปที่โครงการไอคอนสยาม นั่นเอง
          
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงการไอคอนสยาม ซึ่งเป็น โครงการเชิงพาณิชย์ ที่มีทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม และคอนโดมีเนียมหรู และต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำเจ้าพระยาทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
          
เมื่อมามีหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะสร้างให้สูงที่สุดในประเทศไทย และให้สูงติดอันดับโลก มาเกิดขึ้นในบริเวณข้างเคียง นั่นย่อมหมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในย่านนั้นอย่างแน่นอน
แล้วแบบนี้เกณฑ์เรื่องภาษีลาภลอย จะเข้าข่ายด้วยหรือไม่... เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเช่นกัน
          
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดของการก่อสร้างโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน เพราะการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างพิเศษไม่ผ่านการประมูล ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้ที่ราชพัสดุเป็นสถานที่ก่อสร้าง ก็ไม่มีรายละเอียดเรื่องการเช่าที่ชัดเจน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนรายใดรายหนึ่งและทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณ ทั้ง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ ป.ป.ช. จึงควรเร่งตรวจสอบก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น
          
นายมานะ เห็นว่ารัฐบาลควรใช้วิธีอีบิดดิ้ง ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะแม้จะทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปเกือบครึ่งปี แต่ก็จะเกิดความโปร่งใส และลบ ข้อครหาเรื่องเอื้อประโยชน์ ให้กับกลุ่มทุนได้ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลหลายเรื่อง ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการทุจริต และอาจส่งผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาว ทั้งกรณีการขยายสัมปทานศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ 60 ปี โดยอ้างเหตุเรื่องการปฏิรูป การใช้มาตรา 44 ปลดล็อคโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินสปก.

"ครั้งนี้ก็มีการเชื่อมโยงของตัวบุคคลที่เป็นกรรมการ มูลนิธิ และก็เป็นผู้บริหารของบริษัทพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องด้วยเช่นกัน ว่า การมี หอชมเมืองเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีหรือไม่มี แต่กระบวนการนั้นตกลงว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมติ ครม. มีสาระสำคัญเป็นเรื่องของการไม่ประมูล จะบอกว่าไม่ใช่เงินของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งตนก็ยังไม่เห็นรายละเอียดโครงการก็ไม่กล้าจะไปกล่าวหาอะไรใครทั้งนั้น แต่เท่าที่ทราบคือ 1. ใช้ที่หลวง และ 2. มีลักษณะกึ่งสัมปทาน เพราะว่าโครงการนี้ต้องมีรายได้ จึงต้องถามว่าเหตุผลที่ไม่ประมูลเนื่องจากกลัวว่าไม่มีใครสนใจ หรือกลัวความล่าช้า เหตุผลนี้จะเพียงพอหรือไม่
          
"บอกว่าเป็นโครงการเพื่อจะเผยแพร่ศาสตร์ของ พระราชา ซึ่งโครงการอย่างนี้สิ่งสุดท้ายที่เราต้องการคือ สิ่งที่ไม่เป็นไปตามศาสตร์ของพระราชา โดยเฉพาะความไม่พอเพียง หรือถ้าหากว่ามีความไม่สุจริตเกิดขึ้น เพราะขณะนี้ที่ไม่ชัดเจนก็คือ คนไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลที่รัฐบอกว่าไม่สามารถประมูลได้ ดังนั้น จึงอยากให้มีความชัดเจนตรงนี้"
          
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง เป็นประธานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรีครบรอบปีที่ 85 ถึงกรณีโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่า ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้ใช้เงินของรัฐ เป็นโครงการที่เสนอเข้ามา โดยมีคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณา และมีการดำเนินการมานานแล้ว
          
เมื่อเสนอมารัฐบาลก็เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยเกี่ยวกับสถาบัน ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ รัฐบาลไม่ต้องออกเงิน และสถานที่ก่อสร้างนั้นก็พยายามหาพื้นที่ที่เหมาะสม จึงขอให้ดูรายละเอียดของโครงการด้วย
"ยืนยันว่า ไม่เอื้อประโยชน์ใคร และหากมองแต่เรื่องเอื้อประโยชน์ก็ไม่เกิดการพัฒนาอะไรทั้งสิ้น" พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ