ประเด็นร้อน

กฎหมายป.ป.ช.ปฏิรูปปราบทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 06,2017

 - - สำนักข่าว ข่าวสด วันที่ 6/07/60 - -

          
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง "ร่างกฎหมายป.ป.ช. : ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต"

โดยมีประธานสนช. ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองอัยการสูงสุด และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมอภิปราย ดังนี้
พรเพชร วิชิตชลชัย

ประธาน สนช.
รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้รับการขนานนามว่าเป็นฉบับปราบโกง ซึ่งภารกิจดังกล่าวคงหนีไม่พ้นป.ป.ช.

เป็นที่ทราบกันดีว่าป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีความสำคัญมายาวนาน ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารกี่ครั้ง ป.ป.ช.ก็ยังอยู่ยืนยงเพื่อดูแลปัญหาที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

แต่ต้องคิดกันว่าทำอย่างไรกระบวน การไต่สวนพิจารณาข้อร้องเรียนจึงจะมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าไม่ถือว่าเป็นความยุติธรรมที่แท้จริง
          
ส่วนตัวมองว่าป.ป.ช. ต้องมีกระบวน การที่ให้ความเป็นธรรมต่อคนที่ถูกกลั่นแกล้ง เรื่องร้องเรียนที่ไม่มีสาระ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ต้องรีบดำเนินการให้รวดเร็ว หากจ้องแต่จะฟ้องอย่างเดียวคนสุจริตเขาก็เดือดร้อน เพราะเวลาฟ้อง เป็นข่าว แต่เวลาระงับไปไม่เป็นข่าวก็เกิดความเสียหาย
วินัย ดารงค์มงคลกุล
รองอัยการสูงสุด

ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านมา คือ ความล่าช้าในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ร่วมกันระหว่างอัยการสูงสุดกับคณะกรรมการป.ป.ช.

ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น อัยการขอให้เพิ่มเติมหลักฐานในบางส่วนแต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะอีกฝ่ายมองว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว จึงคิดว่าในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ควรดำเนินการแก้ไข

โดยกำหนดลงไปว่าในกรณีที่ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ จะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่อัยการสูงสุดแจ้งไป ส่วนจะรวบรวมมาได้หรือไม่นั้นค่อยมาพิจารณาในขั้นตอนการปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะดีกว่าการให้อีกฝ่ายปฏิเสธเสียตั้งแต่แรก
          
ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่มีการให้สิทธิแก่ป.ป.ช.สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งโดยหลักแล้วการอุทธรณ์คดีหรือฎีกาคดีโดยหลักแล้วจะเป็นหน้าที่ของคู่ความ คือ โจทก์หรือจำเลย
          
ทั้งนี้ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ทางคณะกรรมการป.ป.ช.จะไม่ได้เป็นโจทก์ตั้งแต่แรก ดังนั้น การให้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาแก่ป.ป.ช.เป็นกรณีที่อยู่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ดำเนินการพิจารณาโดยใช้สำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักอยู่แล้ว มีการพิสูจน์ความจริงกันมาในศาลและอัยการสูงสุดชั้นหนึ่งแล้ว และอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นคนชี้ขาดในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และฎีกาในคดีอาญาทั่วไป จึงสมควรให้อำนาจสูงสุดแก่อัยการสูงสุด
          
อย่างไรก็ตาม หากจะตรวจสอบว่าการสั่งไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็สามารถดำเนินการได้         
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.

ปัญหาที่สำคัญของการทำงานในเวลานี้ คือ ความล่าช้า สืบเนื่องมาจากการที่มีคดีเข้าสู่ระบบการทำงานของป.ป.ช.จำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรของป.ป.ช.มีอย่างจำกัด
          
อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ที่ได้มีการเสนอไปยังกรธ. ทางป.ป.ช.ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ในร่างกฎหมายด้วย คือ
          ถ้าเป็นขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน แต่สามารถขยายเวลาครั้งละ 3 เดือน หากเป็นขั้นตอนการไต่สวนจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่สามารถขยายเวลาได้ เพราะต้องยอมรับว่าบางคดีมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบด้าน
          
สำหรับขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล ทางป.ป.ช.มีนโยบายจะพยายามให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดในการฟ้องคดีต่อศาล เพราะอัยการเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินคดีในชั้นศาล
เว้นเสียแต่หากอัยการสูงสุดและป.ป.ช.ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้จริงๆ ป.ป.ช.ถึงจะนำสำนวนมาฟ้องคดีต่อศาลด้วยตัวเองตามกฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูง ตามกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดให้ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบทุกบัญชี ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องระยะเวลาในการทำงาน

จึงมีความคิดว่าในกรณีของการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินข้าราชการระดับสูงนั้นอาจตรวจสอบเป็นกลุ่มในบางตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำทุจริต

แต่ในกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ยังต้องคงหลักการเดิมไว้ คือ การเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสต่อป.ป.ช.

ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีงบประมาณการแก้ไขปัญหาการทุจริตประมาณ 3 พันล้านบาทจากงบประมาณทั้งหมดประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด คือ งบประมาณแผ่นดิน 100 บาท ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตประมาณ 10 สตางค์ ซึ่งน้อยมาก เงิน 3 พันล้านบาทเท่ากับงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่มีงบประมาณบูรณะ 3-4 พันล้านบาทต่อปี เราเป็นองค์กรอิสระจริง แต่เป็นอิสระในเรื่องการวินิจฉัย แต่ในเรื่องอย่างอื่นเราไม่อิสระ เพราะต้องขอเงินและคนจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในคดีทุจริตการให้สินบนตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบการให้สินบนระหว่างประเทศ ซึ่งการจะทำให้การดำเนินคดีเหล่านี้ประสบความสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ
          
ข้อจำกัดของเราในเรื่องที่มีโทษประหารชีวิต เลยทำให้ประเทศในยุโรปไม่ให้ความร่วมมือกับประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีโทษประหารชีวิต
หากเราไม่ได้รับความร่วมมือ พยานหลักฐานที่จะใช้สำหรับการดำเนินคดีและพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาจะทำได้ยาก
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ กรธ.
          
กรธ.ในฐานะผู้จัดทำร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะนำความคิดเห็นของป.ป.ช.และอัยการสูงสุดไปพิจารณาไว้ในร่างกฎหมายที่จะเสนอให้กับสนช.ต่อไป
          
เวลานี้กรธ.มีแนวความคิดว่าอาจจะกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าในการวินิจฉัยของป.ป.ช. แต่ละคดี กรรมการป.ป.ช.แต่ละคนจะต้องจัดทำคำวินิจฉัยส่วนบุคคล หรือกำหนดมาตรฐานการทำคำวินิจฉัยของป.ป.ช. ด้วย เพื่อสาธารณะทราบว่าป.ป.ช.มีวิธีการในการวินิจฉัยคดีอย่างไร

การปราบปรามการทุจริตที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้เพราะปัญหาการทุจริตในปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นกระบวนการ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย