ประเด็นร้อน

ถึงเวลา'ทรัพย์สินวัด'ต้องเปิดเผย-ตรวจสอบ

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 07,2017

 - - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7/07/60 - -

          
ต้องยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ สังคมยังคงตื่นตัวในเรื่องของการตรวจสอบทรัพย์สินและรายได้วัดต่างๆ ทั่วประเทศ ล่าสุดคือกรณีของวัดย่านตลิ่งชัน ซึ่งชาวบ้านสงสัย ในเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่อาจมีการตกแต่งบัญชีและ ไม่ตรงกับจำนวนที่เสนอ ขอเงินงบประมาณอุดหนุน  ปัญหาที่เกิดขึ้นนำมาสู่ข้อเรียกร้องในแก้ไขปัญหานี้แบบยั่งยืน
          
ก่อนหน้านี้ บวรเวท รุ่งรุจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬาศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า การที่สถานะของแต่ละวัดไม่เท่ากันก็จะส่งผลให้การทำ รายละเอียดบัญชีในแต่ละวัดก็จะไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุกมธ.จึงเห็นว่า ควรที่จะมีการกำหนดนิยามในเรื่องต่างๆครอบคลุมขึ้นอาทิ นิยามของคำว่า "ทรัพย์สิน" ซึ่งจะหมายรวมไปถึงโบราณสถานและศาสนวัตถุเช่นของมีค่าภายในวัดซึ่งจะต้องมีการลงบัญชีภายในวัด นอกเหนือจากเงินทอง เพื่อแสดงหลักฐานความเป็นเจ้าของ
          
ขณะเดียวเรื่องนี้ต้องมีผู้ที่ จะมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ซึ่งควรจะต้องมีหลายฝ่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายวัด อย่างเดียว แต่อย่างน้อยจะต้องมี 3 ส่วนคือฝ่ายวัด ซีกของราชการคือสำนักพระพุทธศาสนา(พศ.) และอีกส่วนหนึ่งคือคนกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ เข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่าย โดยเฉพาะวัดที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาทต่อปีซึ่ง ขณะนี้ มีอยู่ประมาณ 812 วัดทั่วประเทศ ขณะที่วัดที่มีรายได้ระหว่าง 2-5 ล้านบาท นั้นมีอยู่ประมาณ 1,700 วัด และ ต่ำกว่า 2 ล้านบาทมีอยู่ประมาณ 35,000 วัด ยังไม่นับรวมวัดที่มีรายได้วัดหลัก 10-20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นตัวเลขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างพศ.จะต้องนำไปพิจารณาว่าการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมาต้องอยู่ในมาตรฐานที่สามารถปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้เรายังได้มีข้อเสนอว่าให้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าให้พศ. มีหน้าที่เข้าไปกำหนดวิธีการบริหารจัดการและตรวจสอบ แทนที่จะรอมติมหาเถรสมาคม(มส.) เหมือนดังเช่นปัจจุบัน ขณะเดียวกันเรายังเสนอให้มีการแก้ กฎกระทรวง โดยให้พศ.มีอำนาจใน การกำหนดวิธีการในการเข้าไปกำกับดูแล หรือตรวจสอบ แนวทางดังกล่าวเราอยากให้เป็นช่องทางในการแก้ปัญหาการทุจริตโดยมีการลงบัญชีชัดเจนเพื่อให้ทราบว่า เรานำเงิน ไปใช้ในเรื่องที่ถูกที่ควรหรือไม่ ทั้งนี้ต้อง ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้วัดทั่วประเทศที่มีจำนวนมากถึง 4 หมื่นแห่งจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ แต่อย่างน้อยควรที่จะต้องมีวัดตัวอย่างหรือวัดนำร่องในเรื่องการเปิดเผยบัญชีวัด โดยมีการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีการเปิดเผยในที่สาธารณะก็จะมีผู้ร่วมตรวจสอบเป็นจำนวนมาก
          
ขณะเดียวกันข้อมูลจากรายงานการประชุมซึ่งกมธ.ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ทุกวัดจัดทำบัญชีรับ-จ่าย พร้อม ทำรายละเอียดที่จำเป็นไว้เป็นหลักฐาน และให้มีการสรุปรายงานบัญชีรับ-จ่าย ส่งถึงคณะสงฆ์จังหวัดและ พศ.ตามมติมส. ทุกสิ้นปี รวมทั้งให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 40 เพื่อกำหนดให้พศ.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัด และที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยสอดคล้องกับ สภาพสังคมปัจจุบัน และสามารถบังคับใช้ได้จริง นอกจากนี้หากย้อนกลับไปดูในรายงาน "การปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา" โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)จะพบว่า มีการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ เพื่อกำหนดกลไกในการจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินวัด รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการดำเนินการ ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา หาใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ใด
ขณะเดียวกัน การปกครองคณะสงฆ์ควรมีการกระจายอำนาจ แทนที่จะใช้วิธีการปกครอง แบบเดิมคือสั่งการจากบนลงล่าง โดยให้มีการปกครองที่เป็นอิสระมากขึ้น เป็นต้น

"เราอยากให้เป็นช่อง ในการแก้ปัญหา การทุจริต มีการ ลงบัญชีชัดเจน ว่านำเงินไปใช้ในเรื่องที่ถูก ที่ควรหรือไม่"