ประเด็นร้อน

ชงครม.อนุมัติรถไฟไทย-จีนลุยสอบวิศวกร

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 11,2017

 - - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11/06/60 - -


"คมนาคม" ชงรถไฟไทย-จีน เข้า ครม.วันนี้ เล็งสอบวิศวกร-สถาปนิกจีนตั้งแต่ เดือน ส.ค. คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.นี้ ขณะ ร.ฟ.ท.ลุยเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง 2 แสนล้านบาท พ.ย.นี้ ควัก 100 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสม รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ
          
การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3-5 ปีจากนี้  มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะ การลงทุนรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน มูลค่าลงทุนกว่าแสนล้านบาท ที่ล่าสุดกระทรวงคมนาคมจะเสนอภาพรวมเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้าโครงการ วันนี้ (11 ก.ค.)
          
ก่อนหน้านี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯนครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร มาแล้ว แต่ก็เกิดการตั้ง คำถามเกี่ยวกับรถไฟไทย-จีน และความจำเป็นในการใช้มาตรา 44 เป็นวงกว้างในหลายแง่มุม ทั้งประเด็นเรื่องความโปร่งใส ความคุ้มค่า

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,412 ล้านบาท ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนครั้งที่ 19 ที่กรุงปักกิ่งประเทศจีน ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยดีได้ข้อสรุปในบางประเด็นแล้ว ดังนั้น คาดจะเสนอภาพรวมโครงการรถไฟไทย-จีน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติวันนี้
          
สำหรับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้มาตรา44 เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านกฎหมายนั้น เบื้องต้นฝ่ายจีนยอมรับเงื่อนไขการอบรมและทดสอบความชำนาญแล้ว โดยไม่คัดค้านแต่อย่างใด
ดังนั้น คาดว่าฝ่ายไทยจะเริ่มทยอยจัดอบรม และทดสอบข้อเขียน ให้กับบุคลากรจีนได้ในเดือนส.ค.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนของโครงการที่จะต้องเริ่มก่อสร้างในเดือนก.ย.นี้
          
"การจัดทดสอบจะแบ่งเป็นชุดๆแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะแบ่งเป็นกี่ชุดและมีจำนวนบุคลากรที่ต้องสอบทั้งหมดเท่าไหร่ จึงยังระบุไม่ได้ว่าจะสามารถดำเนินการทดสอบทั้งหมดให้แล้วเสร็จทันปีนี้หรือไม่"
ขณะนี้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรอบรม แบ่งเป็นการอบรมบุคลากรวิศวกร  3วันและการอบรมบุคลากร สถาปัตย์  2 วัน ก่อนเข้าสู่การทดสอบข้อเขียน
          
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวถึง การดำเนินโครงการภายใต้มติของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินวงเงิน 215,100 ล้านบาท ใกล้แล้วเสร็จคาดว่าจะจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา(TOR)ในเดือน ก.ย.นี้และจะเปิดประมูลได้ ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.โดยใช้รูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP)
          
ส่วนการบริหารการเดินรถจะต้องบริหารงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ ร.ฟ.ท. บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ซึ่งดูแลโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิและพญาไท-ดอนเมือง และเอกชน ผู้ได้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากมีเส้นทางเชื่อมต่อกัน
          
ด้านโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมต่อ 3 ท่าเรือคือท่าเรือแหลมฉบังท่าเรือสัตหีบและท่าเรือมาบตาพุดวงเงิน 64,300 ล้านบาทนั้น ร.ฟ.ท.เตรียมจัดหางบ 100 ล้านบาท เพื่อจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและแนวทางการดำเนินโครงการโดยมีกรอบเวลาการศึกษา 9-12 เดือนซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการจัดทำ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นคาดว่า จะใช้เวลาไม่นานเนื่องจากมีเขตทาง ในเส้นทางรถไฟเดิมอยู่แล้ว อาทิเส้นทางศรีราชา-มาบตาพุดและศรีราชา-แหลมฉบัง เช่นเดียวกับ ท่าเรือจุกเสม็ดที่มีรางรถไฟวิ่ง เชื่อมต่อกับตัวจังหวัดอยู่แล้ว
          
การก่อสร้างจะเป็นเพียงเชื่อมต่อ รางเดิมเข้าไปยังท่าเรือควบคู่ไปกับการก่อสร้างเส้นทางใหม่ให้เชื่อมต่อกันโดยส่วนนี้จะเน้นการขนส่งสินค้าตั้งเป้าหมายส่งเสริมการขนส่ง สินค้าทางรางให้มากขึ้นเพื่อทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศลดลงจาก 14% เป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วย ประเทศประหยัดลงต้นทุนค่าขนส่งได้ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี