ประเด็นร้อน

เงินทอนกับรายได้วัด

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 14,2017

 - - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 14/06/60 - -


ความพยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมที่มีบางประเด็นไปเกี่ยวข้องกับวัด และคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ดูจะไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย เพียงแค่เสนอผลการศึกษาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรืออาจจะร่างกฎหมายเสนอต่อสนช.พิจารณาต่อไปเท่านั้น เพราะแทบทุกครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคนพูดถึงผลประโยชน์ของวัด ก็จะเกิดแรงต่อต้านขึ้นมาทันที หรือแม้แต่กรณีที่ตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. กำลังดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาผิดกรณี "เงินทอนวัด" ก็ทำท่าจะล่วงเลยบานปลายไปเป็นการสร้างกระแสต่อต้านในเรื่องอื่นๆ ไปด้วย
          
เรื่องเงินทอนวัดเกิดเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องกันมานานพอสมควรเพราะเจ้าหน้าที่ปปป.ต้องเข้าไปตรวจสอบวัดเป้าหมายหลายแห่ง พร้อมกับตรวจค้นบ้านพักข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)บางคน เป็นผลสืบเนื่องหลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้ข้อมูลทุจริตเงินอุดหนุนวัด ซึ่งได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลไปใช้ในกิจกรรมบูรณะซ่อมแซม เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อเผยแผ่และดำเนินกิจกรรมทางศาสนา แต่เจ้าหน้าที่พศ.บางคนสมคบกับบางวัดโอนเงินงบประมาณเกินจริงไปให้วัด เพื่อโอนกลับคืนมาให้เป็นผลประโยชน์ของตนเอง สร้างความเสียหายให้แก่รัฐหลายสิบล้านบาท นับเป็นข่าวฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สปท.กำลังจะเสนอกฎหมาย "จัดการ" รายได้ของวัด
          
ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยคณะกรรมาธิการด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม และจริยธรรม สปท. ให้ความเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัด โดยเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐานครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ โดยให้มหาเถรสมาคม(มส.) หรือ พศ. กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สิน การจัดทำบัญชีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ของวัดทั่วประเทศ 37,000 วัด พร้อมมาตรการตรวจสอบและรายงานผล ซึ่งมีข้อมูลว่า มี 92 วัด มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า  20-30 ล้านบาท
          
เรื่องนี้ถ้าจะมองว่าเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" ก็คงไม่ผิดนัก เพราะขณะนี้ กระแสข่าวเงินทอนวัด กำลังจะแปรเปลี่ยนเป็นการต่อต้านการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดการผลประโยชน์ของวัด ที่พูดกันมานานหลายปี และผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล อย่างเช่น ค่าเช่าที่ธรณีสงฆ์ ค่าจอดรถ กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นรายได้ร่วมระหว่างวัดกับชาวบ้านหรือชุมชน อย่างเช่น การทำมาค้าขายในขอบเขตวัด การจัดตลาดนัด ล้วนแต่เป็นแหล่งรายได้ที่ควรได้รับการบริหารจัดการให้ถูกหลักเกณฑ์ นี่คือโจทย์ที่ยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดการปัญหาทุจริตซึ่งหน้าอย่างเช่นเงินทอนวัด ที่ฝ่ายต่างๆ สามารถร่วมกันร่าง "กติกาใหม่" ขึ้นมาได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานปฏิบัติได้จริงกับทุกวัด และอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ทั้ง 37,000 วัดยอมรับ