ประเด็นร้อน

สถานการณ์คอร์รัปชันไทยจะดีขึ้น จริงหรือ?

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 19,2017

 - - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 19/07/60 - -


รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

ต่อภัสสร์: พ่อครับ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นี้ องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI)ผู้พัฒนาดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของแต่ละประเทศอันโด่งดัง คือ Corruption Perception Index (CPI) ได้ประกาศรายงานผลการสำรวจที่น่าสนใจอีก อันหนึ่ง นั่นคือ Global Corruption Barometer (GCB) หรือ ตัวชี้วัดการคอร์รัปชันทั่วโลก สำหรับปี 2015 และ 2016

ต่อตระกูล: ประกาศดัชนีอีกแล้วเหรอ ก่อนจะเล่าการรายงานผลการชี้วัด อธิบายหน่อยสิว่ามันต่างกับดัชนีตัวอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายอย่างไรบ้าง
          
พยายามที่จะพัฒนาดัชนีขึ้นมาหลายๆตัว เพื่อวัดอัตราการคอร์รัปชันในแง่มุมต่างๆ เพราะคอร์รัปชันนั้นเป็นปัญหาที่กว้าง ไม่ได้มีรูปแบบและผลกระทบเพียงมิติเดียว
ดัชนีอันโด่งดังอย่าง CPI หรือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ก็ชี้วัดชัดเจนตามชื่อของมันคือ ภาพลักษณ์ที่คนมีต่ออัตราการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ ซึ่ง ก็มีข้อด้อยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เช่น ภาพลักษณ์มันไม่ใช่สถานการณ์จริงสักหน่อยหรือ ต่อให้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว แต่คนยังติดภาพลักษณ์เดิมๆ ยังไงคะแนนก็ไม่เปลี่ยน หรือเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนที่ดัชนีนี้สำรวจมีความเข้าใจสถานการณ์ของแต่ละประเทศนั้นจริงๆ ไม่ได้มั่ว นอกจากนี้ CPI ยังเป็นดัชนีที่ไปเอาดัชนีอื่นๆ มามัดรวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยด้วย ไม่ได้ลงมือ เก็บข้อมูลเอง จึงเกิดคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ ของดัชนีอื่นๆที่ CPI ไปหยิบมาคำนวณ ด้วย

GCB จึงถูกออกแบบมาแก้ไขข้อด้อยเหล่านี้ โดยการใช้เจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลเอง และมีการแทรกคำถามเชิงประจักษ์ ที่ไม่ใช่เพียงมุมมองภาพลักษณ์เข้าไปด้วย คำถามเหล่านี้ได้แก่ 1.ไปถามว่าเขาเคยต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 2.ถามว่าเขาคิดว่าสถานการณ์คอร์รัปชันมีการเปลี่ยนแปลงไปทางไหน 3.ถามว่ารัฐบาลจัดการปัญหานี้อย่างไรบ้าง 4.ถามถึงองค์กรรักษากฎหมายอย่างตำรวจว่า มีภาพลักษณ์อย่างไร และสุดท้าย ถามว่าคนทั่วไปสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศนั้นๆได้หรือไม่
          
ด้วยการเก็บข้อมูลเอง จึงทำให้ดัชนีนี้ ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น และคำถาม เหล่านี้ ก็ทำให้ดัชนี GCB วัดอัตราการคอร์รัปชันได้ในอีกมิติหนึ่งด้วย แต่ก็ยังมี ข้อด้อยอยู่บ้างเช่นกัน นั่นคือ การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเอง ต้องใช้กำลังทรัพยากรมหาศาล จึงทำให้ GCB ไม่สามารถประกาศผลได้ทุกปี และคำถามก็มีมากไม่ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะใช้เวลานานกว่านี้อีก

ต่อตระกูล: พอจะเข้าใจข้อดี และ ข้อด้อยของดัชนีเหล่านี้โดยกว้างๆแล้ว อย่างนั้นรายงานผลหน่อยสิ ว่า GCB ในปี 2015 และ 2016 ของไทยเป็นอย่างไรบ้าง
          
ต่อภัสสร์: ขอเริ่มต้นจากผลใหญ่ๆก่อนเลยนะครับ ซึ่งอาจทำให้เศร้าใจอยู่บ้าง นั่นคือการต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าในแผนที่ที่เขาทำแสดง ประเทศไทยแดงแจ๋เลย ซึ่งหมายความว่ามีอัตราการต้องจ่ายสินบนค่อนข้างสูงถึง 41% อาจตีความอย่างง่ายๆได้ว่า ในปีที่ผ่านมาถ้าใครไปติดต่องานราชการ 10 ครั้ง อาจต้องจ่ายสินบนถึง 4 ครั้งเลย ทีเดียว ซึ่งนับว่าเยอะมากหากเทียบกับประเทศ ที่มีความโปร่งใสสูงอย่างออสเตรเลีย ที่โอกาสต้องจ่ายสินบนมีเพียง 4%
          
แล้วประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง เชื่อไหมครับว่าประเทศที่เรามองว่าน่าจะมีอัตราการคอร์รัปชันสูงกว่าไทยอย่าง เมียนมาและกัมพูชา โอกาสต้องจ่ายสินบนยังน้อยกว่าไทยเสียอีก โดยอัตราทั้งสองประเทศนี้อยู่ที่ 40% แม้จะต่างกันไม่มาก แต่ก็น่าตกใจเมื่อเทียบกับความรู้สึกเรานะครับ ส่วนอินโดนีเซียที่ตอนนี้ทั่วโลกยกย่องให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดีมาก ลงไปอยู่ที่ 32% และมาเลเซียยิ่งน้อยลงไปอีกแค่ 23%
          
ต่อตระกูล: เห็นตัวเลขแบบนี้แล้วท้อใจเหมือนกันนะ นี่ไม่ใช่ภาพลักษณ์ด้วย แต่เป็นประสบการณ์จริงของคนในประเทศเลยที่ต้องจ่ายสินบนกันเยอะขนาดนี้ นี่ขนาดว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมไทยก็ได้ร่วมมือกันผลักดันนโยบาย กฎหมาย และโครงการต่างๆออกมามากมายแล้ว ยังลดการต้องจ่ายสินบนไม่ได้เลยหรือนี่
          
ต่อภัสสร์: อย่าเพิ่งท้อใจไปครับ นี่แค่คำถามแรกเท่านั้น ผลต่อๆ มานี่น่าสนใจมาก ต้องนำมาวิเคราะห์เทียบกันด้วย เพราะพอไปถามว่า คิดว่าในช่วงปีที่ผ่านมาคิดว่าคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่เชื่อไหมครับว่าคนไทยมีมุมมองที่ดีต่อสถานการณ์นี้อย่างเหลือเชื่อ มีแค่ 14% เท่านั้นที่บอกว่าคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นประเทศที่มีมุมมองเรื่องนี้ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเลยทีเดียว ขนาดฮ่องกงที่ได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศที่โปร่งใสอันดับต้นๆของโลก ยังมีคนถึง 45% ที่มองว่าสถานการณ์เขาแย่ลง ที่หนักสุดคือจีน ที่มีคนถึง 73% บอกว่าคอร์รัปชันในประเทศเพิ่มขึ้น
          
ต่อตระกูล: ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับที่ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ที่วัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยปรับตัวดีขึ้น จนผ่านไปสู่ระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางแล้ว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และที่ตรงกันอีกจุดคือ ดัชนีนี้บอกว่าคนไทยเห็นว่า รูปแบบการคอร์รัปชันที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือ การให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่างๆ
          
ต่อภัสสร์: ทีนี้เพื่อให้พ่อยิ้มขึ้นได้อีกนิด ในฐานะที่พ่ออยู่ในคณะกรรมการ ต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการ หนึ่งของรัฐที่ทำงานแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง คือผลต่อมาที่รายงานว่า คนไทยถึง 72% มีความเห็นว่ารัฐบาลทำงานต่อต้านการคอร์รัปชันได้ดี ตัวเลขนี้สูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเลยนะครับ ประเทศที่เขาไม่ค่อยพอใจกับการทำงานด้านนี้ของรัฐบาลเท่าไหร่คือ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยมีคนที่พอใจเพียง 14% และ 34% ตามลำดับ
          
ต่อตระกูล: เห็นแบบนี้แล้วค่อยมีกำลังใจทำงานต่อขึ้นหน่อย อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมานี้มันขัดกันพอสมควรเลยนะ กลับกลายเป็นว่าประเทศที่มีอัตราการจ่ายสินบนสูง กลับมีมุมมองต่ออนาคตที่ดี และเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง ในขณะที่ประเทศที่มีการจ่ายสินบนน้อย มองว่าคอร์รัปชันกำลังเพิ่มขึ้น และไม่ค่อยพอใจกับการทำงานของรัฐบาล ถ้าวิเคราะห์ดีๆแล้ว อาจตีความได้สอง ทางนะ 1.คือ ประเทศไทยกำลังจะโปร่งใส ลดคอร์รัปชันได้จริง แล้ว และสิ่งที่เรามุ่งต่อสู้กันมาเป็นเวลานานกำลังจะปรากฏผล หรือ 2.คนไทยเราก็ลังหลอกตัวเองกันอยู่ฝันไปว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น หรือปลงกับการทำงานของรัฐบาลแล้ว ดังนั้นแม้รัฐบาลจะทำดีนิดเดียวก็ยอมรับได้แล้ว
          
ต่อภัสสร์: จริงครับ แต่ก็หวังว่าจะเป็นข้อแรกแล้วกันนะครับ ข้อสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงในรายงานผลสำรวจนี้คือ เขาสำรวจว่าปัญหาการจ่ายสินบนที่เยอะๆในประเทศไทยนี่ คนไทยไปจ่ายให้กับ หน่วยงานไหนกันมากที่สุด ผลคือ ตำรวจ และภาคการศึกษาครับ ต่อตระกูล: สองภาคส่วนนี้ล่ะที่เป็นห่วงที่สุดเลย หน่วยงานหนึ่งก็เป็น ผู้รักษากฎหมาย หากทุจริตเสียเองแล้วจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร อีกภาคส่วนหนึ่งก็เป็นฝ่ายกำหนดชะตาประเทศในอนาคตเลย เป็นฝ่ายให้ความรู้ อบรมเยาวชน ที่จะเติบโตมาเป็นพลเมืองไทยในยุคต่อไป ถ้าโกงกันตั้งแต่ในโรงเรียน เราจะพัฒนาประเทศกันได้อย่างไร
          
สองภาคส่วนนี้เป็นเป้าหมายที่บทความเราพูดถึงกันมาหลายครั้งแล้ว และจะให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อไปครับ