ประเด็นร้อน

ลงโทษหนักคนโกงภาษี

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 21,2017

- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21/07/60 - -

กรมสรรพากรประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่มีพฤติกรรมการเลี่ยงภาษี โดยจะเอาผิดทางอาญากับผู้ที่เสียภาษีและผู้ที่ส่งเสริมให้มีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งก็คือสำนักงานบัญชีและที่ปรึกษากฎหมาย หลังจากที่ได้ยืดหยุ่นให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมไม่เกิน 75% ของใบกำกับภาษีทั้งหมด และมาชำระภาษีให้ครบ จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
          
ทั้งนี้ หากพบว่าสำนักงานบัญชีให้ความร่วมมือในการกระทำผิด เช่น หาใบกำกับภาษีปลอมให้ ก็จะดำเนินคดีอาญาทันที โดยมีโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี ต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ หากใช้ใบกำกับภาษีปลอม 10 ใบ ก็รวมเป็น 70 ปี แต่กฎหมายให้จำคุกรวมแล้วไม่เกิน 20 ปี        

การเลี่ยงภาษีที่กรมสรรพากรจะเข้มงวดเป็นพิเศษ ก็คือ ผู้ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม โดยจะพบการปลอมใบกำกับภาษีอยู่เป็นระยะ ด้วยการใช้ใบกำกับภาษีปลอมเพื่อนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง หรือในบางกรณีหากเป็นผู้ส่งออกอาจจะมีการนำใบกำกับภาษีมาขอคืนภาษีซึ่งเคยมีคดีจับกุมเป็นขบวนการใหญ่โตที่มีข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
          
การประกาศล่วงหน้านี้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณเอาจริง จากกรมสรรพากร เพราะในกฎหมายมีการระบุโทษอาญาสำหรับผู้ที่ไม่เสียภาษีให้ถูกต้องอยู่แล้ว แต่กรมสรรพากรยังให้โอกาสผู้เสียภาษี ปรับตัวและทำให้ถูกต้อง ถือว่าให้เวลามานานแล้ว จำเป็นต้องดึงเข้าระบบเสียที โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการ เสียภาษีของผู้ประกอบการ โดยจะเชิญผู้สอบบัญชีมาร่วมชี้แจงด้วย การออกตรวจจะมีการแจ้งว่ากรมสรรพากรจะตรวจเรื่องไหนบ้างที่เห็นเป็นความเสี่ยงในการเสียภาษีของผู้ประกอบการรายนั้น เช่น ความเสี่ยงในการลงรายได้ไม่ครบ ความเสี่ยงด้านรายจ่ายที่มีมากเกินความเป็นจริง ความเสี่ยงในการใช้ใบกำกับภาษีปลอม และความเสี่ยงในการลงบัญชีใช้แต่เงินสดไม่มีเงินฝากธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการและสำนักงานบัญชีที่รับผิดชอบปิดความเสี่ยงดังกล่าว จะได้ไม่มีความผิดเสียค่าปรับเงินเพิ่มในภายหลัง
          
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องสนับสนุนกรมสรรพากร เพราะในแต่ละปีการเสียภาษีมีการรั่วไหลจากการเจตนาโกงภาษีและการไร้ประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีผสมกัน การมุ่งประเด็นไปลงโทษสำนักงานบัญชีด้วยเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการจัดการบัญชีเพื่อเสียภาษี จะเป็นแนวทางที่แก้ไขปัญหาตรงจุดมากที่สุด และในอนาคตจะมีนิติบุคคลเกิดขึ้นอีกหลายรายจากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทั้งหลายจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีเรื่องที่ควรระวัง เพราะหากเจ้าหน้าที่ ไม่สุจริต ก็อาจใช้เรื่องนี้เป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่นได้ ด้วยการเรียกร้องผลประโยชน์แลกกับการไม่เอาโทษผู้ที่กระทำผิด ที่ผ่านมากรมสรรพากรก็เจอปัญหาเจ้าหน้าที่ทุจริตอยู่บ้าง โดยการรู้เห็นกับผู้เสียภาษีช่วย ปกปิดจึงทำให้รัฐเสียหาย
          
สิ่งที่รัฐบาลกำลังจัดระเบียบผู้เสียภาษีให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเงินภาษีนี้รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ละปีรัฐบาลก็ต้องการเงินไปลงทุนและจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฐานภาษีที่จะได้รับก็จะลดลง การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบจึงต้องเร่งดำเนินการ